ดีแทคให้คำมั่น คุ้มครองลูกค้า บรรเทาผลกระทบหลังหมดสัมปทาน

  • ดีแทคยื่นฟ้องเพิกถอนมติ กสทช. และขอคุ้มครองลูกค้าชั่วคราวต่อศาลปกครอง ป้องกันผลกระทบหลังหมดสัมปทาน
  • พร้อมเร่งขยายโครงข่าย 2100 MHz และ 2300 MHz ของทีโอที ให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง

แนะลูกค้าเปลี่ยนซิมจากดีแทคเป็น DTN มอบข้อเสนอให้ลูกค้าที่ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งานบางพื้นที่

ดีแทคให้คำมั่นที่จะต่อสู้เพื่อลูกค้า ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดสัญญาในระบบสัมปทานกับ CAT ในวันที่ 15 ก.ย. 2561 ซึ่งในเช้าวันนี้ดีแทคได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและ/หรือกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (“ประกาศมาตรการเยียวยาฯ”) ในระหว่างนี้ดีแทคได้ทุ่มเทอย่างเต็มความสามารถในการขยายโครงข่ายการให้บริการให้เข้าถึงลูกค้า เพื่อชดเชยปัญหาการใช้งานที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “นับเป็นความรับผิดชอบของดีแทคในการต่อสู้เพื่อลูกค้า โดยในปี 2559 ดีแทคได้เรียกร้องให้มีการจัดประมูลคลื่นล่วงหน้า (Early auction) ตลอดจนแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum roadmap) ซึ่ง กสทช.ได้จัดการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานล่วงหน้าเพียง 2 เดือน นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างทางเทคนิคระหว่างคลื่น 900 MHz และ 850 MHz ซึ่งในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาประมาณ 24เดือนเพื่อเปลี่ยนถ่ายอุปกรณ์ใหม่จำนวนมากกว่าหมื่นแห่ง”

“นอกจากนี้ เพื่อปฏิบัติตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ของ กสทช. เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดีแทค และCAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ต่อ กสทช. ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของดีแทคเป็นระยะเวลา 9 เดือน และ 26 เดือน อย่างไรก็ตาม กรณีของดีแทคที่กำลังจะหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz ลงในวันที่ 15 กันยายนนี้  กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไขในการได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ หากดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ตามมติ กสทช. วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประกาศมาตรการเยียวยาของ กสทช.”

“ในขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งยังไม่ได้นำส่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ซึ่งดีแทคพูดเสมอว่าเรายินดีที่จะชำระค่าใช้คลื่นในช่วงที่เข้าสู่มาตรการเยียวยาฯ”

“ขณะที่เหลืออีกเพียง 9 วันก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ดีแทคจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามประกาศมาตรการเยียวยาฯยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ดังกล่าว เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าดีแทคในการใช้งานคลื่น 850 MHz โดยปัจจุบัน ดีแทคมีลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT จำนวน 90,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าดีแทคไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ(Domestic Roaming) บนคลื่น 850 MHz ทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการใช้งานของลูกค้า กสทช. ดีแทค และ CAT จำต้องร่วมรับผิดชอบในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ของ กสทช.”

อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิการใช้งานของลูกค้าดีแทคบนคลื่น 850 MHz รายได้จากการให้บริการที่เกิดขึ้นในช่วงการคุ้มครองจะถูกนำส่งให้รัฐหลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้รัฐไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ ในทางกลับกัน หากไม่มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความ 850 MHz จะนำความเสียหายมาสู่ทั้งรัฐและผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การคุ้มครองการใช้งานชั่วคราวจึงเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

ในระหว่างที่รอการพิจารณาของศาล ดีแทคได้วางมาตรการในการคุ้มครองลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยดีแทคจะดำเนินการแจ้งลูกค้าในรายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองคลื่นความถี่จาก กสทช.

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงข่าย  ดีแทคได้เร่งขยายเสาสัญญาณ คลื่นดีแทคเทอร์โบ 2300 MHz ของทีโอทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคลื่นดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการดาวน์โหลดสูงสุดในประเทศไทยด้วยความกว้างแบนด์วิดท์ถึง 60 MHz และปัจจุบันสามารถให้บริการครอบคลุม 40% ของประชากรทั้งประเทศแล้ว เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 1800 MHz

ขณะเดียวกัน ดีแทคยังได้เร่งขยายโครงข่าย 2100 MHz อย่างเต็มความสามารถ เพื่อทดแทนประสิทธิภาพของคลื่น 850 MHz และยังได้ย้ายลูกค้าจำนวน 340,000 ราย ที่ยังใช้ซิมดีแทคเดิมให้เปลี่ยนมาใช้ซิม DTN ภายใต้ระบบใบอนุญาต นอกจากนี้ดีแทคยังได้แบ่งประเภทของลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบ โดยจัดตั้งทีมทำงานขึ้นมาดูแลลูกค้าเป็นพิเศษในช่องทางศูนย์บริการ และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจะได้รับข้อเสนอ ฟรีดาต้าและโทรฟรีโดยขึ้นอยู่กับการได้รับผลกระทบในการใช้งานของแต่ละคน

กลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

ลูกค้า ผลกระทบ มาตรการคุ้มครอง
กรณีที่ 1 ลูกค้าที่ใช้ซิมจดทะเบียนกับดีแทค ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานในนามบริษัทดีแทค ใช้งานไม่ได้ ต้องมาเป็นเปลี่ยนซิม DTN ลูกค้าสามารถเช็คสถานะซิมที่ใช้งานอยู่โดยกด *444# โทรออก ลูกค้าจะได้เปลี่ยนซิมใหม่ฟรี พร้อมข้อเสนอมือถือราคาพิเศษ
กรณีที่ 2 ลูกค้าที่ใช้มือถือปุ่มกดหรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับคลื่น1800 MHz ที่จดทะเบียนซิมDTN สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องตามปกติ ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอมือถือราคาพิเศษที่รองรับการใช้งาน คลื่นดีแทคเทอร์โบ
กรณีที่ 3 ลูกค้าที่อยู่บางพื้นที่ จะไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งาน ได้รับผลกระทบจากการใช้งาน สามารถเช็คได้ที่ *777 โทรออก(เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 13ก.ย. 2561) ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอดาต้าและโทรฟรี ให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้งาน ทั้งลูกค้าพรีเพดและโพสต์เพด

 

อย่างไรก็ตาม ดีแทค ขอแนะนำให้ลูกค้ามาใช้บริการบนคลื่น 2300 MHz ดีแทคเทอร์โบ ซึ่งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ลื่นขึ้น โดยดีแทคกำลังเร่งขยายโครงข่าย 2300 MHzให้ครบทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานบนคลื่น 2300 MHz ได้อย่างมีประสิทธิภาพในกลางปี 2562 ลูกค้าที่สนใจและอยู่ในพื้นที่ให้บริการสังเกต dtac-T เช็คความพร้อมที่โทร. *2300# และ www.dtac.co.th/network สามารถติดตามความคืบหน้าได้ที่ www.dtac.co.th/network