“4 องค์กรจับมือตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล” เน้นสร้างเสถียรภาพโครงข่ายให้แข็งแกร่ง

“4 หน่วยงานใหญ่” สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยและ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ผสานความร่วมมือจัดตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล” เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และความร่วมมือด้านเทคนิคในการพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตั้งแต่ปี 2557 ได้มีการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อกมาสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิตอลนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ที่ต้องหันหลังให้กับระบบที่ใช้มาอย่างยาวนานเพื่อก้าวสู่ระบบที่ทันสมัย ที่เรียกกันว่าระบบดิจิตอล ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ความคมชัดทั้งภาพและเสียง รวมถึงความแรงของสัญญาณที่มีเสถียรภาพ ผ่านผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล 4องค์กร ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก,กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ทั้ง 4 หน่วยงานจึงเห็นพ้องกันให้จัดตั้ง “ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ชคท.)”หรือDigital Television Network Provider Society(DNPS)เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ

จากสภาพอุตสาหกรรมธุรกิจดิจิตอลในปัจจุบันทำให้เกิดสภาวะโครงข่ายฯ เกินความต้องการ(Over Supply) เนื่องจาก กสทช. ออกใบอนุญาตไม่เป็นไปตามแผน โดยออกใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่ายจำนวน5 โครงข่าย (5MUX) ซึ่งมีจำนวน 38 ช่องสัญญาณ แต่ออกใบอนุญาตฯ ผู้ให้บริการช่องรายการจำนวน 26ช่องรายการ ทำให้จำนวนช่องสัญญาณมีเกินกว่าช่องรายการจำนวน 12 ช่องสัญญาณ ทำให้เกิดอำนาจต่อรองจากผู้เช่า เช่น ผู้ให้บริการช่องรายการขอลดอัตราค่าเช่า การชำระค่าเช่าล่าช้า มีแนวโน้มการไม่จ่ายค่าเช่าและย้ายไปเช่าโครงข่ายอื่น ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการโครงข่ายเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและภาระหนี้สิน

ทั้งนี้เรื่องเร่งด่วนที่สมาคมจะเร่งดำเนินการคือการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคและพัฒนาคุณภาพการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

1)        แนวทางในระยะสั้น

ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จะร่วมกันพิจารณาและหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว  เช่น แนวทางการบริหารต้นทุนร่วมกัน ,การกำหนดมาตรฐานของราคาค่าบริการ , การกำกับดูแลกันเอง การเจรจาและให้คำปรึกษากับผู้เช่าใช้บริการโครงข่ายฯ

2)        แนวทางในระยะกลาง

เป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน3 ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายฯ , กสทช, และรัฐบาล เพื่อการแก้ปัญหาผลกระทบของทรัพย์สินรัฐ

ที่รับภาระแทน กสทช ฯ เช่น โครงการแก้ปัญหาและเยียวยาจำนวนช่องรายการที่ว่างอยู่ในโครงข่าย ซึ่งเกิดขึ้นตามแผนแม่บทและข้อบังคับของ กสทช

3)        แนวทางในระยะยาว

เป็นการเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อผู้ให้บริการโครงข่ายฯ จากสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันต่อรัฐบาล หรือ กสทช.และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสนอให้ กสทช.ดำเนินการ National Mux service center  ในการรวมโครงข่ายฯ ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่บริหารจัดการหรือจัดตั้งเป็นโครงข่ายฯ การให้บริการแห่งชาติเพิ่อให้ได้ มาตรฐานระดับสากลต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายฯ นั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาต่อสู้กับผู้ให้บริการช่องรายการ แต่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง แข็งแรงของการบริการให้บริการโครงข่ายฯและเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพเกิดความผิดพลาดในการออกอากาศน้อยที่สุด ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วประโยชน์ก็จะครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการช่องรายการ ผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ทั้ง 4 หน่วยงาน และประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและเสียงอย่างไร้ขีดจำกัด