“AECS” ชู พลังงาน – แบงก์ – ค้าปลีก – รับเหมา น่าจับตา ให้กรอบการลงทุน 1,706 – 1,745 จุด แนะจับตาตัวแปร ตลาดต่างประเทศ

บล.เออีซี (AECS) ประเมินหุ้นไทย แกว่งตัวในกรอบ 1,706-1,745 จุด แนะกลยุทธ์การลงทุน ชูPTTEP, TOP, BCPG, TMB, KBANK, ROBINS, STEC, UNIQ น่าจับตา พร้อมระบุ จับตาตัวแปรหลักจากตลาดต่างประเทศ อาจเข้ามาเป็นแรงกดตลาดหุ้นไทย

บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS  เปิดเผยว่า  ทิศทางการลงทุนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ Technical View คาด SET Index มีแนวโน้ม Zigzag ขึ้นต่อ โดยมองมีโอกาสสูงที่จะทะลุแนวต้าน 1,730 จุด ซึ่งหากทะลุได้จริงจะมีแนวต้านถัดไปที่ 1,745 จุด  ฝ่ายวิจัย แนะกลยุทธ์ลงทุน โดยให้มุมมองเชิงเทคนิคมี Sector ที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน อาทิ PTTEP, TOP, BCPG  กลุ่มธนาคาร  อาทิ TMB , KBANK กลุ่มค้าปลีก อาทิ ROBINS และ กลุ่มรับเหมา เช่น STEC, UNIQ

“เทคนิคสำหรับนักเก็งกำไรและนักลงทุนลุ้นขยับขึ้นต่อ โดย Sector ที่คาด Outperform ตลาด สัปดาห์นี้เลือกกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) Top Pick ที่เลือก ได้แก่  PTTEP , BCPG ,TOPและ กลุ่มธนาคาร (BANK) Top Pick ได้แก่ KABNK , TMB”

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ทางฝ่ายวิจัย แนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังต่อความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศ โดยมี 2 ประเด็นหลัก ที่ควรติดตามคือ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่กลับสู่ภาวะไม่แน่นอน หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันที่จะเดินหน้าแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวมกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ตามเดิม สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น โดยช่วงแรกจะเริ่มเก็บภาษีที่อัตรา 10% และคาดว่าจะยกระดับความรุนแรงขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราภาษีเป็น 25% พร้อมเตรียมแผนเก็บภาษีสินค้าครั้งใหม่มูลค่ารวม 2.67 แสนล้านดอลลาร์ ปี 2560 จีนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ 6.6 แสนล้านดอลลาร์ ในกรณีที่การเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงกับจีนไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ จากการเจรจาครั้งก่อนสหรัฐฯร้องขอให้จีนเพิ่มสัดส่วนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ และยกเลิกนโยบายสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีในจีน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเข้มงวดมาก ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลจีนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจีนจะยกเลิกการเจรจาร่วมกับสหรัฐฯ หากมีการเก็บภาษีนำเข้าดังกล่าวจริง ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมากดดัน Sentiment ในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ ยังต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้แก่ ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต และดัชนี PMI ที่เป็น 2 ตัวเลขสุดท้ายก่อนเข้าสู่การประชุมของเฟดในวันที่ 25-26 ก.ย. เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับเปลี่ยนแผนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันตลาดให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ราว 80% และติดตามประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจชุดใหม่ของเฟด ซึ่งคาดจะสะท้อนมุมมองด้านผลกระทบของสงครามการค้าต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด