ดีแทค เอไอเอส ทรู กสท. และบีโอแอล ตอบรับเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับ ธพว. ร่วมโปรโมทแอปพลิเคชัน SME D Bank ที่มียอดดาวน์โหลดแล้ว 15,000 ครั้งในช่วงเริ่มเปิดให้บริการ 1 เดือน คาดปลายปีนี้ยอดดาวน์โหลดเพิ่มเป็น 1 แสนครั้งบนจุดเด่นศูนย์กลางบริการครบวงจรเพื่อเอสเอ็มอีไทย จัดเต็ม 2,000 คลังข้อมูลความรู้พร้อมช่องทางสู่ 140 แอปพลิเคชันพันธมิตร ตั้งเป้าหนุนเอสเอ็มอีกู้ง่าย 2 หมื่นล้านบาทครึ่งหลังปีนี้
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) ประเมินว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในขณะนี้ ทำให้ ธพว. เกิดแนวคิดนำเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อให้เอสเอ็มไทยสามารถเข้าถึงได้ด้วยปลายนิ้ว ทั้งหมดนี้ดำเนินการบนหลักการ “เติมทุนคู่ความรู้” เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถอยู่รอด โดยจะเสริมด้วยบริการเคลื่อนที่ของ ธพว. คู่กันไป
“แอปพลิเคชัน SME D Bank ทำให้เราทำงานได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลา เรายินดีมากที่มีเอสเอ็มอีบางรายขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันเราตอนตี 2 และตี 4” มงคลกล่าว “ตั้งแต่แอปพลิเคชันพร้อมให้บริการบนระบบแอนดรอยด์และไอโอเอสเมื่อ 15 สิงหาคม ยอดการดาวน์โหลดล่าสุดเกิน 15,000 ครั้งแล้ว มีการยื่นคำขอสินเชื่อเกิน 1,200 ล้านบาทบนแพลตฟอร์มนี้อย่างเดียว”
การเซ็น MOU ครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการนี้ที่เริ่มจุดพลุไปแล้วเมื่อกลางปี 2561 เนื้อหา MOU ที่เกิดขึ้นคือการร่วมมือระหว่าง 5 ค่ายโอเปอเรเตอร์และผู้ให้บริการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เอสเอ็มอีรู้จักแอปพลิเคชัน SME D Bank มากขึ้น คาดว่าความร่วมมือนี้จะได้ผลเป็นรูปธรรม เพราะเอสเอ็มอีทุกระดับที่คาดว่ามีจำนวนรวมเกิน 5 ล้านราย ล้วนเป็นลูกค้าของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 รายนี้ซึ่งมีฐานลูกค้ารวมมากกว่า 90 ล้านเลขหมาย
นอกจาก 5 ค่ายใหญ่ ยังมีสตาร์ทอัปผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเพื่อเอสเอ็มอียุคใหม่อีกกว่า 140 รายที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ ส่งให้ SME D Bank ถูกเรียกว่าเป็นแพลตฟอร์มเพราะเป็นประตูสู่ 140 บริการ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของบริการ “เครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ” หรือ Tools Box ในแอปพลิเคชัน
แอปพลิเคชัน SME D Bank ยังอาสาเป็นศูนย์กลางรวมทุกข้อมูลที่เอสเอ็มอีไทยควรรู้ โดยเพิ่มส่วน “คลังข้อมูลความรู้” ไว้ภายในเพื่อรวมข่าวสาร ข้อมูลสถิติ บทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิกกว่า 2,000 องค์ความรู้ จุดนี้มงคลมั่นใจว่าจะสามารถสร้างสังคมผู้ประกอบการให้เกิดขึ้นบนแอป SME D Bank ได้
“ในอนาคต แพลตฟอร์ม SME D Bank จะเติมเต็ม 4 เรื่องใหญ่ 1 คือเราจะเพิ่มระบบจองสัมนา งานสัมนาอีกหลายร้อยงานในเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแหล่งความรู้ให้เอสเอ็มอีไทยได้ดี 2 คือระบบที่ปรึกษา เราจะรวมผู้เชี่ยวชาญ 1,000 คนมาร่วมตอบคำถามเอสเอ็มอีให้แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป 3 คือระบบเชิญเป็นกลุ่ม ผ่านสมาคมหรือสมาพันธ์อาชีพต่างๆ จุดนี้จะเป็นบันไดให้เราขยายฐานผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็น 1 แสนรายได้ในปีนี้ 4 คือเราจะสร้างสังคมผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายระหว่างกัน ถือเป็นเป้าหมายที่จะต่อยอดเอสเอ็มอีไทยได้อย่างยั่งยืน” มงคลระบุว่าเฟส 2 ของโครงการจะเริ่มต้นในตุลาคมนี้
***ความรู้ต้องคู่เงินทุน
ไม่เพียงความรู้ แอปพลิเคชัน SME D Bank ยังมีเป้าหมายให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของ ธพว. ได้ โดยเอสเอ็มอีสามารถขอสินเชื่อผ่านแอป SME D Bank ให้หน่วยบริการเคลื่อนที่ของ ธพว. เข้าตรวจสอบพิจารณาสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและรู้ผลได้ใน 7 วัน
บริการเคลื่อนที่ของ ธพว. มีชื่อย่อว่า “รถม้าเติมทุนฯ” จุดนี้ ธพว. ย้ำว่าเมื่อผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ข้อมูลจะส่งมายังฐานข้อมูลทันที และภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ เดินทางเข้าไปพบที่หน้าร้าน จุดนี้มงคลย้ำว่าขั้นตอนการขอสินเชื่อแบบไม่ต้องมีหลักประกันเช่นนี้ไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ธนาคารได้พบผู้ประกอบการตัวจริง ทำให้ความเสี่ยงลดลง
มงคลย้ำอีกว่าหน่วยบริการเคลื่อนที่นี้เป็นผลจากการปรับรูปแบบการทำงานของธนาคารเป็นรหัส 887 คือตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มตลอด 7 วัน ซึ่งเมื่อรวมกับแพลตฟอร์ม SME D Bank เชื่อว่าจะสามารถให้บริการสินเชื่อกับเอสเอ็มอีได้มากกว่า 20,000 ล้านบาทในช่วง 4 เดือนปลายปี 2561
“ครึ่งปีแรกที่ผ่านมามียอดสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท เป็นการยื่นคำขอที่สาขา อีก 4 เดือนคาดว่าจะมี 20,000 ล้านบาทที่เป็นการขอสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์ม SME D Bank ทั้งหมด รวมทั้งปีสินเชื่อเอสเอ็มอีปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 37,000 ล้านบาท”
อีกจุดที่น่าสนใจคือแพลตฟอร์ม SME D Bank จะกลายเป็นระบบหลักสำหรับการขอสินเชื่อของ ธพว. เนื่องจากกระบวนการขอสินเชื่อของธนาคารตั้งแต่ก.ค. 61 ที่ผ่านมาล้วนย้ายไปดำเนินบนแพลตฟอร์ม SME D Bank ทั้งหมด ซึ่งหากมีเอสเอ็มอีเดินทางมาที่สาขาของธนาคาร เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการผ่านแพลตฟอร์ม ดังนั้นสัดส่วนการขอสินเชื่อของ ธพว. ผ่านแอปพลิเคชันจะขยับเป็น 100% ทันทีในปลายปีนี้
เบื้องต้น มงคลย้ำว่าการปรับรูปแบบดำเนินงานมาเป็นแพลตฟอร์ม SME D Bank จะไม่มีผลกับการพิจารณาปิดสาขา โดยระบุว่าจำนวนสาขาในปัจจุบันคือ 95 สาขานั้นเหมาะสมต่อการทำงานแล้ว
สำหรับแพลตฟอร์ม SME D Bank มงคลให้ข้อมูลว่างบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของระบบคิดเป็นเงินราว 200 ล้านบาท ขณะที่หน่วยบริการเคลื่อนที่ใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นค่าเช่ารถที่ให้บริการขณะนี้กว่า 600 คัน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 1,000 คันในอนาคต
“ความท้าทายของโครงการคือทำอย่างไรให้คนตัวเล็ก (เอสเอ็มอีรายเล็ก) เข้าสู่ระบบและได้ประโยชน์ เราอยากจะก้าวข้ามให้เอสเอ็มอีได้รับความสะดวกและประหยัดต้นทุน เราจะเน้นสอนใช้แอป และร่วมมือผ่านสมาคมหรือชุมชนให้มากขึ้น”
ชื่อแพลตฟอร์ม SME D Bank ถูกระบุว่าซ่อนความหมายสำคัญ 3 ความหมาย ได้แก่ Development ที่เน้นการพัฒนาธุรกิจ Delivery ที่เด่นเรื่องบริการถึงถิ่นอย่างรวดเร็ว และ Digital ซึ่งหมายถึงบริการผ่านเทคโนโลยีทันสมัย.