“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” จับมือ “ไบโอเชีย” สตาร์ทอัพจากอเมริกา นำร่องใช้ AI ตรวจหาจุลชีพก่อโรค-ดื้อยา

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 35 ปีข้างหน้า (..2050) คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ และคิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท องค์การอนามัยโลกระบุ ว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ (Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (Collapse of modern medicine) เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการ ทางการแพทย์เหล่านี้ล้วนแต่ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และได้กำหนดให้ประเด็นเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญเร่งด่วนทางสาธารณสุข (แหล่งที่มา: รายงาน “ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย”)

สำหรับประเทศไทย การประมาณการณ์เบื้องต้นคาดว่ามีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 ราย (ร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยา) อยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท สูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ปัจจุบัน การดื้อยาของจุลชีพกำลังเป็นปัญหาคุกคามทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้เร่งรณรงค์ให้มีการคิดค้นนวัตกรรมการวินิจฉัยโรค พร้อมหาแนวทางใหม่ๆ ในการระบุชนิดของจุลชีพและการดื้อยาให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถรักษาการติดเชื้อตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น รวมทั้งในรายที่เป็นมากแล้ว ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยเฉพาะการให้การรักษาในระยะเริ่มต้นที่ถูกต้อง จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้วิธีการเพาะเชื้อเพื่อหาชนิดของจุลชีพก่อโรคและการดื้อยาปฏิชีวนะแบบดั้งเดิม ได้ใช้มาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวิธีที่มีประโยชน์ แต่มักใช้เวลาเนิ่นนาน ด้วยต้องอาศัยกระบวนการและแรงงานของบุคลากรอย่างมาก และจากวิธีปฏิบัติดังกล่าว ทำให้การวินิจฉัยล่าช้า หรือ อาจไม่ได้ผลการวินิจฉัยเลย ซึ่งพบได้ในบ่อยครั้ง

ล่าสุด ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการหาลำดับเบสในสารพันธุกรรมของจุลชีพก่อโรค [next-generation sequencing (NGS)] ร่วมกับการสร้างนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้สามารถระบุชนิด และลักษณะของจุลชีพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ การประเมินผลลัพธ์ ตลอดจนการคัดกรองจุลชีพก่อโรคเพื่อเฝ้าระวัง และลดอัตราการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นกับผู้ป่วยถึง 1 ใน 25 รายในปัจจุบัน (ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC) และ Healthcare Associated Infection (HAI) สหรัฐอเมริกา)

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่าจากอุบัติการณ์โรคติดเชื้อดังกล่าว และความรุดหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับโลกที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ บริษัทไบโอเชีย ซึ่งเติบโตมาจากสตาร์ทอัพ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเชี่ยวชาญและคิดค้นเทคโนโลยี AI หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ด้านสุขภาพให้แก่โรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการวิเคราะห์ ตรวจหาเชื้อต่างๆ รวมถึงวินิจฉัยและประมวลผลอย่างแม่นยำและรวดเร็ว นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการร่วมเป็นพันธมิตรและดำเนินงานร่วมกัน โดยมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ป่วยและเพื่อนมนุษย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่แห่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการตรวจหาจุลชีพก่อโรค โดยการหาลำดับเบสในสารพันธุกรรมที่รวดเร็ว จากการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย 1,000 ราย มาวิเคราะห์ และสร้างฐานเทคโนโลยีนี้ไว้ที่ศูนย์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมเปิดตัวแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (12 ตุลาคม 2561)

สำหรับความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กับไบโอเชียในครั้งนี้ นับเป็นอีกมิติในการพลิกโฉมทางการแพทย์ ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญในการนำ AI เข้ามาร่วมวิจัยค้นคว้าและพัฒนาเพื่อยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของวิธีการตรวจหาชนิดจุลชีพ ด้วยเทคโนโลยีชนิดพกพาที่รายงานผลแบบทันทีทันใด (เรียลไทม์) โดยใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI: Artificial Intelligence) ของไบโอเชีย เพื่อระบุชนิดจุลชีพก่อโรค โดยเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว มีความก้าวล้ำ และมีจุดเด่น คือ หนึ่ง ช่วยลดเวลาในการตรวจหาเชื้อก่อโรค ตัวบ่งชี้การดื้อยา และปัจจัยแสดงความรุนแรงของโรค ให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากในอดีตผู้ปฏิบัติการต้องใช้เวลาดำเนินการหลายวัน หรือ หลายสัปดาห์ และสอง ช่วยให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้น ทำให้สามารถควบคุม และจัดการการติดเชื้อ ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีการหาลำดับเบสฯ มาใช้ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อ โดยบำรุงราษฎร์ ถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ในการพัฒนาโครงการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้

“เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นผู้นำในด้านการดูแลรักษาที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผู้ป่วยของเราจะได้รับการดูแลรักษาที่ดีและเหมาะสมขั้นสูงสุด สอดรับกับนโยบายการแพทย์ยุค 4.0 ซึ่งความร่วมมือกับไบโอเชียในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ที่บำรุงราษฎร์ จะสามารถช่วยให้การรักษาโรคติดเชื้อใดๆ ที่ตรวจพบได้อย่างมั่นใจ ช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดการดื้อยาได้” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว

ดร.นีม โอฮารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบโอเชีย เปิดเผยว่า ไบโอเชียได้คิดค้นชุดวิธีการตรวจหาจุลชีพก่อโรค ตัวบ่งชี้การดื้อยา และปัจจัยที่แสดงความรุนแรงของเชื้อก่อโรค ที่แม่นยำและรวดเร็วกว่าวิธีการโดยทั่วไปที่ใช้กันอยู่ โดยโครงการความร่วมมือระหว่างไบโอเชีย และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นับเป็นโครงการในระยะยาว ซึ่งทางไบโอเชียจะได้ใช้วิธีการต่างๆ ประกอบด้วย ด้านที่หนึ่ง วิธีการตรวจหาจุลชีพก่อโรคของไบโอเชีย เทคนิคทางห้องปฏิบัติการและการหาลำดับเบสฯ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Oxford Nanopore, ร่วมกับการใช้ซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์เชลซีของไบโอเชีย (Biotia AI software, ChelseaTM) และ ด้านที่สอง ฐานข้อมูลต่างๆ โดยจะมีการพิสูจน์ความถูกต้องด้วยการเพาะเชื้อตัวอย่างจุลชีพชุดย่อย ประกอบกับการใช้เทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction) และ Illumina sequencing

“ไบโอเชียมีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์งานวิจัยด้านจุลชีพก่อโรคให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงทางคลินิกสำหรับโรงพยาบาล เราดีใจที่จะได้ทำงานกับโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล อย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้ทางการแพทย์ในวงกว้าง” ดร.นีม โอฮารา กล่าว

เกี่ยวกับไบโอเชีย

ไบโอเชีย เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ มีจุดเริ่มต้นจากวิทยาลัยแพทย์ไวล์คอร์แนล ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ค รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ดำเนินการโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการหาลำดับเบสดีเอ็นเอ (DNA sequencing) และซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่พัฒนาขึ้นโดยไบโอเชีย ให้สามารถตรวจหาจุลชีพหรือ จุลชีพ และการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างรวดเร็วและแม่นยำ พันธกิจของบริษัท คือ การกำจัดการติดเชื้อในโรงพยาบาล และใช้ฐานข้อมูลจุลชีพสำหรับอ้างอิงขั้นสูงให้เป็นประโยชน์ไปทั่วโลก โดยทีมงานผู้ก่อตั้ง ประกอบด้วย ดร. นีม โอฮารา (ซีอีโอ) ดร. คริสโตเฟอร์ อี. เมสัน (ผู้อำนวยการทั่วไป และรองศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยแพทย์ไวล์คอร์แนล) ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับไบโอเชีย และดร. ราชิด อูนิท (ซีทีโอ) ทั้งสามท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบุกเบิกเทคโนโลยีด้านการตรวจหา ระบุ และการทำแผนที่ข้อมูลจุลชีพและการดื้อยาต้านจุลชีพ

เกี่ยวกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิในใจกลางกรุงเทพมหานครที่ได้รับความเชื่อถือระดับนานาชาติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาด 580 เตียงและมีศูนย์แพทย์เฉพาะทางอีกกว่า 30 ศูนย์ บำรุงราษฎร์ เป็นศูนย์การแพทย์ที่ให้การรักษาพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกทันสมัยครบครัน ทั้งในการวินิจฉัยโรค การบำบัดรักษา และการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต บำรุงราษฎร์ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี โดยเป็นผู้ป่วยชาวต่างประเทศกว่า 520,000 ราย ซึ่งรวมถึงชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในกรุงเทพ ประเทศใกล้เคียง และผู้ที่เดินทางมาจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลกเพื่อมารับการดูแลรักษาที่บำรุงราษฎร์