ทีวี ไดเร็ค แปลงร่างสปริงนิวส์เป็นสถานีฟิวชั่น
 ข่าวผนวกโฮม ช้อปปิ้ง มุ่งหารายได้หลักจาก B2C แทนค่าโฆษณาที่เข็นไม่ขึ้น

สปริงนิวส์ (ช่อง19) ฝ่ามรสุมทีวีดิจิทัล ขายหุ้น 90.1% ในบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ให้กับทีวีไดเร็ค ที่หวังใช้ช่องทางนี้ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายกลุ่มลูกค้าคนเมืองและหวังเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยลง โดยไม่หวังพึ่งรายได้จากโฆษณานาทีละ  10,000-20,000 บาทเพียงอย่างเดียว แต่จะหันมามุ่งเน้นรายได้จาก B2C หรือรายได้จากคนดูโดยตรงภายในการบริหารของทีวี ไดเร็ค ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโฮม ช้อปปิ้ง ขณะเดียวกันก็ใช้ฐานคนดูรายการข่าว ที่ชื่นชอบความรู้และสาระต่างๆ อยู่แล้ว มานำเสนอรายการโฮม ช้อปปิ้ง แบบผสานทั้ง Funtional และ Emotional ด้วยการให้คำแนะนำต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อจูงใจเกิดการซื้อสินค้า ก่อเกิดเป็นสถานีสายพันธุ์ใหม่…ข่าวก็ดี ช้อปปิ้งก็ได้ แถมไม่ง้อเรตติ้งอีกต่างหาก

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทีวี ไดเร็ค ได้ซื้อเวลาและเช่าเวลาสปริงนิวส์มา 4 ปี แล้ว แต่ธุรกิจทีวีดิจิทัลไม่เหมือนเดิม ถึงคนดูจะไม่ได้ทีวีน้อยลงก็ตาม แต่จากจำนวนช่องที่มีอยู่มากเกินไป ทำให้มีการแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน อีกทั้งค่าโฆษณาต่อนาทีก็ลดลงจากยุคทีวีอะ

นาล็อกกว่าสิบเท่า  แต่ในขณะที่ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง ,ทีวี ช้อปปิ้ง และออนไลน์ช้อปปิ้ง หรือเรียกรวมๆ กันว่า Virtual Shopping กำลังเติบโตดี เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ตัดสินใจซื้อสินค้าแม้ไม่ได้จับต้องก่อนได้ง่ายขึ้น การเข้าซื้อหุ้นสปริงนิวส์ซึ่งเป็นช่องข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ นับเป็นการปูพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทีวีไดเร็ค ท่ามกลางผู้เล่นหลายรายที่ล้วนแข็งแกร่ง”

“สำหรับภาพรวมธุรกิจ Virtual Shopping มีมูลค่า 13,500 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 20% ติดต่อกันมา 4 ปีแล้ว และคาดว่าในปี 2561 นี้จะเติบโต 40% โดยทีวี ไดเร็ค เป็นผู้นำด้วยยอดขายในปี 2560 ราว 3,000 กว่าล้านบาท ผู้เล่นอีกสองรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดรองลงมา คือ โอ ช้อปปิ้ง ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่ร่วมทุนกับซีจี โอ ช้อปปิ้ง เกาหลีใต้  และช้อป 1781 ของอาร์เอส”

“ทุกวันนี้ใครๆ ต่างก็มุ่งมาที่ B2C ผู้เล่นหลักๆ มีทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 4,000 ล้านบาท  ปัจจุบันยอดขาย  B2C แบบออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมดที่มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท แต่ทีวี ช้อปปิ้งมีสัดส่วนไม่ถึง 1% (ข้อมูล ณ เมษายน 2561) แสดงให้เห็นว่ายังมีช่องทางเติบโตอีกมากอย่างน้อย 5-10 เท่า ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นตามประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียที่มีสัดส่วนของไดเร็ค ช้อปปิ้ง สูง เช่น ญี่ปุ่น 30% ,เกาหลีใต้ 17% และจีน 15-16%”

สำหรับทิศทางการนำเสนอรายการโฮม ช้อปปิ้ง และทีวี ช้อปปิ้ง ผ่านสปริงนิวส์จะเน้นการสื่อสารแบบ Storytelling เน้นทั้งการบอกเล่าและสาธิตถึงคุณสมบัติและการใช้งานของสินค้า รวมถึงคำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เพราะข้อมูลมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคคนเมืองเพื่อเสริมสร้าง Customer Experience ให้ดียิ่งขึ้น  ส่วนการเช่าเวลาในช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ นั้น ทีวี ไดเร็ค จะยังคงเทเม็ดเงินเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

นับจากนี้ไปสปริงนิวส์ในร่างใหม่จะเหลือระยะเวลาสัมปทานอีก 124 เดือน หรือราว 10 ปีเศษ โดยจะทำธุรกิจในโมเดลนี้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน ซึ่งสปริงนิวส์ไม่ได้ขายใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เพียงแต่เปลี่ยน

แปลงโครงสร้างเบื้องหลังเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้ของทีวีไดเร็คถือเป็นการพลิกโฉมหน้าการแข่งขันของโฮมช้อปปิ้งให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ทั้งนี้ทีีวี ไดเร็คตั้งเป้าคืนทุนภายใน 6-7 ปี โดยตั้งเป้าทำรายได้จากการขายสินค้าผ่านสปริงนิวส์ คิดเป็นสัดส่วน 5% ขอเป้ายอดขายรวมในปี 2561นี้ 3,990 ล้านบาท

พงษ์ชัย ชัญมาตรกิจ หน้าหน้าสายงานสถานีโทรทัศน์ ทีวี ไดเร็ค ให้ข้อมูลว่า สำหรับแนวทางในการเจาะผู้บริโภคของทีวี ไดเร็ค คือ จะเน้นการสื่อสารที่แตกต่างกันในแต่ละช่องทาง เช่น รายการที่ออกอากาศทางทีวีดาวเทียม จะเน้นจับกลุ่มผู้บริโภคต่างจังหวัด ส่วนที่ออกอากาศทางสปริงนิวส์จะเน้นจับกลุ่มคนเมือง โดยสปริงนิวส์จะทำให้เกิด “Massive Awareness”  และ “Direct Respond” มากขึ้นในผู้บริโภคกลุ่มนี้

“ผู้บริโภคยุคนี้เป็น Fragmented consumer ทำให้แนวทางในการนำสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งแบบ Fragment  และแบบ Tailored made เราจะขายสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น จะทำ Segmentation อย่างจริงจัง  ไม่ใช่ขายแต่สินค้าราคาถูก แต่สินค้าราคาแพงเราก็จะขาย มากขึ้น ถึงจะขายได้ไม่เยอะ แต่ได้กำไรมากกว่า โดยปัจจุบันสินค้าราคาแพงสุด คือ เครื่องออกกำลังกายราคาราว 40,000 บาท ส่วนสินค้าที่ขายดีคือ สินค้าราคา 2,000-3,500 บาท”

จากการที่ปัจจุบันทีวีดิจิทัลเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 95% ทั่วประเทศ เพราะสามารถรับชมได้ในหลากหลายแพลตฟอร์ม การกินรวบสปริงส์นิว จึงช่วยเติมเต็มช่องว่างผู้บริโภคที่ขาดหาไปของทีวี ไดเร็ค ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมือง รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีอายุน้อยลงกว่าเดิม หรือกลุ่มที่มีอายุราว 35 ปี  จากฐานลูกค้าหลักที่ส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านวัย 45 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 50ปีขึ้นไป  และผู้สูงอายุวัยเกษียณ  โดยคาดว่าสัดส่วนผู้บริโภคคนเมืองจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ราว 35-38% เป็น 42%

ที่น่าสนใจคือลูกค้าผู้ชายของทีวี ไดเร็ค มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 30% เพิ่มขึ้นเป็น 45% ซึ่งสินค้าที่ขับเคลื่อนให้นักช้อปชายสนใจโฮมช้อปปิ้งมากขึ้นก็คือ กล้องติดรถยนต์และชุดชั้นในชาย ขณะที่สินค้า 5 อันดับแรกที่ขายดี ได้แก่ 1.เครื่องออกกำลังกาย (คิดเป็นสัดส่วน 20% ที่เหลือกระจายไปแต่ละประเภท) 2.สินค้าสุขภาพและความงาม 3.เครื่องครัว 4.เครื่องใช้ภายในครัวเรือน

“ขณะเดียวกันนอกเหนือจากการเดินหน้าก็เปิดทีวีไดเร็ค โชว์เคส ซึ่งเป็นPhysical Storeเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ 70 สาขา เป็น 80 สาขาภายในกลางปี 2019 เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นจุดรับสินค้า รวมถึงให้บริการหลังการขาย ตลอดจนให้บริการช้อปปิ้งออนไลน์ภายในร้านแล้ว ยังมีแผนทำกิจกรรมการตลาดและส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชี่ยล มีเดีย อื่นๆ อย่าง ช้อปปี้,เจดี,เฟซบุ๊ก, กูเกิ้ล และไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในช่องทางออนไลน์ด้วย ตามกลยุทธ์ Omnichannel Marketing นอกจากนี้เราเตรียมนำคาแรกเตอร์ซาร่าและจอร์จ ซึ่งผู้บริโภครู้จักและจดจำกันได้ดี มาปัดฝุ่นใช้งานเป็นมาสค็อต จากที่ก่อนหน้านี้เคยออกสติ๊กเกอร์ไลน์มาแล้ว”

ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท สปริง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นี่ถือเป็นข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ตามที่ตัวเองต้องการ โดยเฉพาะสปริงนิวซ์จะมีรายได้ที่ชัดเจนไปตลอด 124 เดือน ขณะเดียวกันก็จะลดภาระค่าใช้จ่ายและสรรพกำลังในการบริหารจัดการสถานี คงเหลือไว้แค่การผลิตรายการข่าวซึ่งเป็นสิ่งที่สปริงนิวซ์ถนัด สปริงนิวซ์จะกลับไปยืนจุดเดิม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว นั่นคือการเป็น News Content Provider หรือผู้ผลิตรายการข่าว โดยในอนาคตมองถึงการพัฒนาคอนเทนท์ข่าวร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ นอกเหนือจาก NOW โดยหลักๆ คือสนใจในแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะทีวิีดิจิทัลเท่านั้น โดยเรายังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อพัฒนาคอนเทนท์ข่าวและเทคนิคการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เดินทางไปซื้ออุปกรณ์จัดทำกราฟิกและรายงานสดที่งาน International Broadcasting Convention 2018 (IBC 2018) , อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เรามั่นใจว่าจากการโมเดลธุรกิจนี้จะทำให้สปริงนิวส์ซึ่งเป็นช่องแรก ๆ ที่มีเรตติ้งท้ายตาราง โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้”

ส่วนคำถามที่ว่าสปริงนิวส์จะสูญเสีย Positioning ของการเป็นสถานีข่าวหรือไม่ คำตอบ คือ จากเดิมสัดส่วนของข่าวและรายการสาระอยู่ที่ 70% ของเวลาออกอากาศทั้งหมด แต่หลังจากการเปลี่ยนผ่านมาอยู่ภายใต้ร่มของทีวี ไดเร็ค สัดส่วนดังกล่าวจะลดเหลือ 50% แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนตามที่ กสทช. กำหนดไว้ โดยสัดส่วนรายการที่ออกอากาศในโครงสร้างใหม่นี้ จะแบ่งออกเป็น 4 เนื้อหาหลักๆ ประเภทละ   6 ชั่วโมงต่อวัน เท่าๆ กัน  และหากแบ่งเป็นสัดส่วนของกลุ่มข่าวและรายการสาระ คิดเป็น 50% ในขณะที่กลุ่มโฮม ช้อปปิ้งและทีวี ช้อปปิ้ง คิดเป็น50%

สิ่งที่น่าจับตาคือภายในต้นปี 2562 สปริงนิวส์เตรียมเปลี่ยนชื่อหรือรีแบรนด์ใหม่เพื่อสะท้อนถึงโมเดลธุรกิจใหม่ให้ชัดเจน แต่ในขณะนี้ยังไม่สรุปว่าจะใช้ชื่ออะไร ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงสโลแกนจากปัจจุบันที่ใช้ว่า “ข่าวจริง สปริงนิวส์” ด้วย