“ธนจิรากรุ๊ป” ใส่เงินพันล้าน เทคโอเวอร์ “HARNN” ต่อจิ๊กซอว์เข้าตลาดหุ้น

Thanatkit

หลังจากปิดดีล เทคโอเวอร์ “แคท คิดสตัน ประเทศไทย” แบรนด์แฟชั่นวินเทจ ด้วยเม็ดเงินราว 300 ล้านบาท มาได้ไม่นานนัก (ปลายปี 2517)

ล่าสุด ธนจิรากรุ๊ป”เจ้าของแบรนด์แฟชั่น ได้ทุ่มเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 100% ใน “HARNN” แบรนด์เครื่องหอมชั้นนำของไทย

ดีลนี้ครอบคลุมถึงการได้มาสินทรัพย์ทางปัญญาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Branding and IP Assets) และเครือข่ายเชิงธุรกิจทั้งหมดของกิจการ รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ HARNN ได้แก่ HARNN (หาญ), Vuudh (วุฒิ), Tichaa by HARNN (ธิชา บาย หาญ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ Asian Holistic Academy (เอเชี่ยน โฮลิสติก อะคาเดมี)

โดยปัจจุบันจำนวนสาขาของแบรนด์ในเครือ HARNN และสปา มีจุดขายและบริการประมาณ 30 สาขาในประเทศไทย พร้อมทั้งยังมีการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในอีก 16 ประเทศ โดยส่วนมากเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ปีที่ผ่านมามีรายได้ 300 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 400 ล้านบาท

ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจก. ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น บอกว่า การซื้อ HARNN จะเข้ามาต่อจิ๊กซอว์ “Regional Lifestyle Company” อย่างเต็มตัว จากเดิมกลุ่มสินค้าที่ทำการตลาดอยู่แล้ว มีตั้งแต่สินค้าประเภทแฟชั่น, ไลฟ์สไตล์, จิวเวลรี, แอคเซสเซอรี่, โฮมแวร์

“การขยายสู่พอร์ตสินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม (Health and Beauty) อาทิ เครื่องหอม, สปาโปรดักต์, บอดี้แคร์ และสกินแคร์ ที่สำคัญยังทำให้ธนจิรากรุ๊ป ลดความเสี่ยงในการพึ่งพิงรายได้จากแบรนด์นำเข้าเพียงอย่างเดียว”

หลังจากเข้าซื้อหาญแล้ว “ธนจิรากรุ๊ป” ได้วางแผนออกเป็น 2 เฟสเพื่อต่อยอดธุรกิจ ได้แก่

เฟส 1 : ภายในระยะเวลา 9 – 12 เดือนแรก เน้นสร้าง “Brand Awareness” แบรนด์ HARNN ให้กับกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย โดยเน้นนโยบายเชิงรุกด้านการตลาด 360 องศา ด้วย Digital Marketing และการบริการหน้าร้าน

รวมทั้งการขยายสาขาเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายและปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ด้วยการตกแต่งร้าน (Brand Revamp) ให้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนและร่วมสมัยมากยิ่ง เพื่อให้เข้าได้ทั้งกับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายใหม่ “Affluent Young Women” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มสุภาพสตรีรุ่นใหม่ และการให้แบรนด์เป็นของขวัญในทุกโอกาส

เฟส 2 : ภายในระยะเวลา 12 – 24 เดือน บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสร้างพันธมิตรใหม่ทั้งตลาดต่างประเทศ ทั้งที่มีตัวแทนจำหน่ายเดิมและในประเทศ โดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชีย วางแนวทางให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งโลก

“ในระยะแรกเจ้าของแบรนด์หาญเดิมจะยังอยู่ช่วยดูภาพลักษณ์ของแบรนด์อยู่ แต่ในระยะที่ 2 ต้องดูอีกทีว่าจะมีการต่อสัญญาใหม่หรือไม่” โดยจะเพิ่มมูลค่าการส่งออก จากเดิม 20% ในปัจจุบันเป็น 40% ภายใน 2 ปี

ในการซื้อกิจการของ “ธนจิรากรุ๊ป” จะมองหาธุรกิจที่มีตราสินค้าเป็นของตัวเอง มีอายุ 10 ปีขึ้นไป และธุรกิจต้องการความหลากหลาย ขนาดใหญ่ ทั้งยอดขาย สาขา ทีมงาน มีความยั่งยืนของการเจริญเติบโต ที่สำคัญผลตอบแทนการลงทุนต้องได้อย่างน้อย 15%

“การซื้อหาญกรุ๊ป ซึ่งตอบโจทย์ทุกอย่างตั้งแต่เป็นแบรนด์อายุ 18 ปี ให้ผลตอบแทนทันที สร้างความหลากหลายมีแบรนด์เพิ่มเป็น 7 แบรนด์ และยังเข้ามาต่อตลาดพรีเมียม อีกทั้งมีตลาดส่งออกอยู่แล้ว ท้ายที่สุดคือสร้างความชัดเจนในการนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์”

ส่วนแผนการซื้อกิจการในอนาคต ธนพงษ์ มองไว้ 3 กลุ่มหลัก 8nv ไลฟ์สไตล์​​, อาหาร & เครื่องดื่ม และ ธุรกิจบริการโรงแรม รวมไปถึงการนำแบรนด์ใหม่ๆ ที่เป็นแฟรนไชส์เข้ามา

ปัจจุบัน “ธนจิรากรุ๊ป” นำเข้าแบรนด์ไลฟ์สไตล์ในมือ คือ “แพนดอร่า” (PANDORA) เครื่องประดับแบรนด์ดังจากเดนมาร์ก, “มารีเมกโกะ” (MARIMEKKO) แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นจากฟินแลนด์ และ “แคท คิดสตัน” (CATH KIDSTON) แบรนด์ไลฟ์สไตล์โมเดิร์นวินเทจจากอังกฤษ และป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรีเพชรแท้ “ทิลด้า” (TILDA) ล่าสุด คือ HARNN แบรนด์สปาของคนไทย ที่ไปดังในต่างประเทศ

โดยแบรนด์ที่เลิกขายคือ “โจนาธาน แอดเลอร์” (JONATHAN ADLER) แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ลักซัวรีจากนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นสินค้าราคาแพง ทำให้กลุ่มลูกค้าแคบ ไม่สามารถขยายสาขาเพิ่มได้

เปิด  5 กลยุทธ์ ธนจิรา”

“ธนจิรากรุ๊ป” บอกว่า ตัวเองคือหนึ่งในบริษัทที่เติบโตแบบอย่างรวดเร็ว ด้วยอายุเพียง 8 ปี ก็มีรายได้หลักพันล้านบาท ซึ่งมาจากการวางกลยุทธ์หลัก 5 ข้อได้แก่

1.อยู่ในเซ็กเมนต์ที่เติบโตเร็วและมีศัพยภาพ อย่างพรีเมียมและลักชัวรี แต่ตอนนี้ได้ลงไปถึงพรีเมียมแมส ด้วยแบรนด์แคท คิดสตัน

2.นำเข้าแต่แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักและทำได้จริงในตลาด เพราะสามารถนำจุดแข็งมาสื่อสารได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคา ทำกำไรได้สูงขึ้น

3.ต้องอยู่ในชัยภูมิที่ดี เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย โดยจะไม่ไปเปิดในพื้นที่หรือศูนย์การค้าที่ไม่เข้าใจ นอกจากนี้ก็ยังมองหาพื้นที่ใหม่ๆ เข้ามาเสริมด้วย เช่น เอาท์เล็ทที่เซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์ โดยจะนำแบรนด์แพนดอร่าเข้าไป ตอนนี้ได้เริ่มทดลองทำตลาดกับโมเดลนี้แล้ว

4.ไม่มีการลงทุนในสิททรัพย์ขนาดใหญ่ ทำให้เคลื่อนไหวได้ง่าย

5.จับกลุ่มลูกค้ากลาง และบน ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยต่อเศรษฐกิจ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่ในช่วง 4-5 ปีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาจะหายไปบ้างก็ตาม โดยในส่วนของ CRM ปีนี้เตรียมยกเครื่องใหญ่ และปีหน้าจะทำให้ทุกแบรนด์ที่มีเชื่อมต่อฐานลูกค้าหากันหมด