ไอคอนสยาม’ เตรียมพร้อมเปิดประตูอภิมหาโครงการเมืองแห่งการใช้ชีวิตสู่โลกอนาคต สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ เช่นเดียวกับ ‘สุขสยาม’ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของไอคอนสยาม ก็พร้อมแล้วที่จะเปิดประตูเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและคนไทยจากทั่วประเทศ โดยสุขสยามคือเมืองมหัศจรรย์รูปแบบใหม่ ที่จะเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นจากชุมชนต่างๆ และช่างฝีมือตัวจริงจากทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ใช้นำเสนอมรดกภูมิปัญญาไทยและสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทยอวดสู่สายตาชาวไทยและชาวโลก ให้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายใหญ่ในการช่วยสืบสานและส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นไทยจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ล่าสุด สุขสยามได้เดินหน้าความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งสอดคล้องตามคอนเซ็ปต์สำคัญของการพัฒนาโครงการเมืองไอคอนสยามคือ Co-Creation อย่างเต็มรูปแบบ โดยสุขสยามได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนความร่วมมือกับ 77 จังหวัดในประเทศไทย และผู้ประกอบการชุมชนทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการต่อยอดด้านการคัดสรร การสนับสนุน ยกระดับมาตรฐาน ส่งเสริมการตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทั้งศักยภาพของผู้ประกอบการและคุณภาพผลิตภัณฑ์ ให้พร้อมเข้าสู่กลไกตลาดและการค้าสมัยใหม่ได้ ในปัจจุบัน กรมพัฒนาชุมชนมีเครือข่ายผู้ประกอบการท้องถิ่นจากชุมชนทั่วประเทศที่ลงทะเบียนและได้รับการคัดสรรจัดกลุ่มแล้วจำนวนกว่า 60,000 ราย มีสินค้าคุณภาพกว่า 100,000 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งความร่วมมือระหว่างสุขสยามและกรมพัฒนาชุมชน ในช่วงปีแรกนี้ ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการจัดแสดงและจำหน่ายสุดยอดผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 2,000 ผลิตภัณฑ์หรือร้านค้า ในลักษณะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันจัดแสดงบนพื้นที่ของสุขสยาม และจัดมีกิจกรรมอบรมและสัมมนามากมายตลอดทั้งปี เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไปสู่ความยั่งยืน
เมื่อบวกกับผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการท้องถิ่นและช่างฝีมือตัวจริงจากทั่วประเทศซึ่งไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของกรมพัฒนาชุมชน สุขสยามซึ่งมีพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 10 ไร่ บนชั้นล่างสุด (หรือชั้น G) ของไอคอนสยาม นำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการจำนวนกว่า 3,000 ราย โดยจัดโซนนิ่งผลิตภัณฑ์ตามภูมิภาค ในบรรยากาศและการตกแต่งสถานที่ที่จำลองและสะท้อนวิถีชีวิตจริงของแต่ละภูมิภาค พร้อมด้วยมุม Workshop ซึ่งทั้งหมดนี้จะเปิดโอกาสให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เป็นการเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้เข้าถึงใจคนอย่างแท้จริง
สุขสยาม จะกลายเป็นปรากฏการณ์ของการ Co-Creation ที่เป็นรูปธรรมเต็มรูปแบบ ในสเกลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็น Creating Shared Value คือการสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย กระจายประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไปในวงกว้างทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งที่มากกว่าประโยชน์ในเชิงของการค้าขาย และเศรษฐกิจชุมชน ก็คือการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยได้ภูมิใจในศักยภาพและพลังของความเป็นไทย ร่วมกันสืบสานมรดกทางภูมิปัญญา ชีวิตวิถีไทยให้คงอยู่ และส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง ส่งเสริมให้ผู้ผลิตจากท้องถิ่นต่างๆ มีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเองและมีแรงบันดาลใจที่จะรักษาสืบทอดอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ความภาคภูมิใจของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เข้าร่วมกับสุขสยาม อาทิ คุณกรรณิการ์ เหมะทัพพะ ผู้สืบทอดกิจการ ‘ขนมไทยบ้านข้าวเม่า’ จากบรรพบุรุษมาเป็นรุ่นที่ 4 เตรียมมาจำหน่ายในสุขสยามเพื่อประกาศความภาคภูมิใจว่าขนมไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คุณดวงจันทร์ ตั้งชวลิตกุล เจ้าของกิจการ ‘กาละแมศีขรภูมิ (ตราปราสาทเดียว)’ จากจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 โดยเมื่อกิจการขยายตัวขึ้น ก็ได้ส่งต่อธุรกิจไปสู่ชาวบ้านและชุมชนอื่นๆ เช่น การให้ชาวบ้านรีดใบตองมาส่ง เป็นการกระจายรายได้ต่อไปเป็นทอดๆ คุณเมตตา เสลานนท์ ผู้จัดการทั่วไป ‘โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา’ จังหวัดกรุงเทพฯ งานฝีมือแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นงานยากและไม่ค่อยมีคนสืบทอด แต่เมื่อเกิดพื้นที่สุขสยาม ทำให้เกิดความหวังว่าจะสามารถต่อยอดและสืบทอดงานนี้ต่อไปได้ คุณยุพา วงศ์ศิริ เจ้าของ ‘ร้านอาหารบ้านหนุน’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สืบทอดผัดหมี่เมืองคอนสูตรโบราณซึ่งหารับประทานได้ยากมาแล้วถึง 5 รุ่น มีความภาคภูมิใจมากที่จะได้นำเสนออาหารพื้นถิ่น ณ สุขสยาม เป็นต้น
ภายในสุขสยามยังเต็มไปด้วยผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินและช่างฝีมือตัวจริงจากทั่วประเทศไทย ที่ล้วนนำเอาทักษะความรู้ความสามารถอย่างเต็มศักยภาพของตน มาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมากกว่าการแสดงถึงมรดกจากภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าที่มีมาแต่ดั้งเดิม แต่ยังมีการประยุกต์เข้ากับแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดเป็นผลงานที่คนไทยทุกคนจะรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทยที่นำเสนอออกมา และจะเป็นที่น่าประทับใจสำหรับคนต่างชาติที่มาชม เช่น เสาจิตรกรรมจากสี่ภาคของไทย โดยศิลปินตัวจริงผู้มีความรู้ความสามารถจาก 4 ภาค ออกแบบลวดลายที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาคอย่างวิจิตรบรรจง แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะ วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นอันควรค่าแก่การบันทึกไว้ให้คงอยู่ตลอดไป ธงราวสุขสยาม ผลงานของคุณกฤษ สถาพรนานนท์ ที่ Co-Create วัฒนธรรม 4 ภาค ออกมาเป็นธงราวที่ทำจากผ้าพื้นถิ่นจากสี่ภาคของไทย เช่น ผ้าย้อมคราม ผ้าชาวเขา ผ้าไหม ผ้าบาติก ผ้าฝ้าย สร้างบรรยากาศสนุกสนานและหลากหลายผ่านลายเส้นบนผืนผ้า รูปปั้นผีตาโขน โดยคุณจิระ จิระประวัติ ณ อยุธยา ศิลปินและนักออกแบบชื่อดัง ที่ออกแบบมาให้สะท้อนเอกลักษณ์ของศิลปะภาคอีสานที่สนุกสนาน สร้างสรรค์ จัดจ้านทางอารมณ์ สีสันและลวดลาย การจัดแสดงกระด้งรังไหม ผลงานโดยคุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศ และคุณเรืองยศ หนานพิวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ.2554 ด้านงานจักสานที่นำเสนองานศิลปะที่เล่าเรื่องราวการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของคนอีสาน โดยมีการประยุกต์วัสดุและสีสันจัดจ้านของวัฒนธรรมอีสาน ร่มบ่อสร้าง โดยคุณภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้ง Trimode และเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่มากฝีมือที่น่าจับตามอง ร่วมกับกลุ่มหัตถกรรม ร่มบ่อสร้าง จากเชียงใหม่ นำเสนอชิ้นงานร่มบ่อสร้างที่คงกลิ่นอายดั้งเดิมของวัฒนธรรมภาคเหนือ และนำมาจัดองค์ประกอบใหม่แบบที่มองเห็นได้จาก 360 องศา ซึ่งพลิกมิติในการชมผลงานและได้มุมมองที่แตกต่างออกไป ประทีปต้นผึ้ง โดยคุณกฤตพงศ์ แจ่มจันทร์ เจ้าของรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตฯ การประกวดแจกันประดิษฐ์จากดอกไม้สด ซึ่งประทีปนั้นถือเป็นเครื่องสักการะตามประเพณีแสดงถึงความเคารพอย่างสูงสุดของชาวล้านนา เสาประดับกรงนก โดยคุณศุภชัย แกล้วทนงค์ นักออกแบบที่สร้างสรรค์ผลงานระดับรางวัลจากภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของภาคใต้ นำเสนอวิถีชีวิตของคนใต้ที่มักจะรวมตัวกันแข่งนกกรงหัวจุกในยามเช้า และ หนังตะลุง โดยคุณวาที ทรัพย์สิน ทายาทครูหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งนำเสนอตัวตะลุงที่มีเอกลักษณ์มาแต่ดั้งเดิมออกมาในรูปแบบแปลกใหม่ที่มีการตีความอย่างน่าสนใจ เป็นต้น