ในยุคที่ธุรกิจธนาคารต้องเดินหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัล รับมือการถูกดิสรัปด้วยบริการออนไลน์ใหม่ๆ ขณะเดียวกันต้องมองหา “โอกาส” ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต
เหมือนอย่างที่ ธนาคารกสิกรไทย ได้ตัดสินใจควักเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 ล้านบาท ในบริษัทแกร็บ (Grab) แพลตฟอร์มออนไลน-ทู-ออฟไลน์ (O2O)
นับเป็น Strategic move ที่สำคัญของธนาคารกสิกรไทยในการต่อยอดธุรกิจโมบายแบงกิ้ง ผ่านการร่วมกับ Grab ซึ่งมีเครือข่ายให้บริการ การเดินทาง รับส่งอาหาร และพัสดุสินค้า รวมถึงการชำระเงินผ่านมือถือ 8 ประเทศ สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของธนาคารที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน +3 ผ่านช่องทางดิจิทัลและบริการต่างๆ บนสมาร์ทโฟน
การลงทุนใน Grab ครั้งนี้ ทั้งคู่จะนำจุดแข็งร่วมกันนำเสนอบริการ Digital Lifestyle Ecosystem ให้กับสมาชิก ผู้ร่วมธุรกิจ ร้านค้า และลูกค้า ของ KBank และ Grab
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า
ธนาคารจะใช้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเงินใน e-Wallet มาพัฒนา e-Wallet สำหรับ Grab และดึงศักยภาพของทั้งธนาคารกสิกรไทย และ Grab มาส่งเสริมซึ่งกันและกัน
บริการภายใต้ความร่วมมือครอบคลุมการพัฒนาแอปพลิเคชั่นการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน และบริการทางการเงินต่างๆ ร่วมกัน ดังนี้
- แกร็บเพย์ บาย เคแบงก์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟน (Mobile Wallet) ให้ลูกค้าแกร็บชำระเงินค่าเดินทางและค่าบริการรับส่งของ รวมถึงยังสามารถโอนเงินให้กับเพื่อนหรือครอบครัวใช้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ รวมทั้งใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดในร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทำให้ร้านค้าสามารถใช้บริการ “แกร็บเพย์ บาย เคแบงก์” ได้ทันทีที่เปิดให้บริการ
- พัฒนาให้แอปพลิเคชั่น เคพลัสและแกร็บให้ใช้งานร่วมกันได้
- ธนาคารกสิกรไทยและแกร็บ ร่วมกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าของตนเอง
- สินเชื่อกสิกรไทยให้ผู้ขับรถแกร็บสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
- บริการ “แกร็บ ฟอร์ บิสซิเนส” ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทย เพื่อช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการเดินทางของบริษัท ตลอดจนการสื่อสารสร้างการรับรู้แบรนด์และเข้าถึงลูกค้าผ่านบริการโฆษณาของแกร็บ
การลงทุนใน Grab ของธนาคารกสิกรไทยในครั้งนี้ ทำผ่านบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ถือเป็นการลงทุนในเวนเจอร์ แคปิทัล ในรอบสูงที่สุด และเป็นครั้งแรกของธนาคารกสิกรไทยในการลงทุนในบริษัทต่างชาติซึ่งมีธุรกิจหลักอยู่นอกประเทศไทย
ที่ผ่านมา บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ในบริษัท ฟินเทค เช่น Flow Account, Dymon Asia, Vertex Ventures, Event Pop, Ookbee
ทางด้าน แกร็บ นั้นให้บริการด้านการเดินทาง รับส่งอาหาร และพัสดุสินค้า รวมถึงการชำระเงินผ่านมือถือและบริการทางการเงินต่างๆ ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม พม่า และกัมพูชา
โดย แกร็บ ไฟแนนเชียล ถือเป็นหนึ่งในเจ้าของแพลตฟอร์มฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ทำให้แกร็บ ไฟแนนเชียลเป็นแพลตฟอร์มแรกบนสมาร์ทโฟนที่ได้รับใบอนุญาตในการเปิดให้บริการระบบชำระเงินใน 6 ประเทศอาเซียนทันที.