“มิชลิน ไกด์ กรุงเทพ” ประจำปี 2019 ได้เปิดตัวตัวอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (14 พฤศจิกายน 2018) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ของ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพ” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ ททท. และ “มิชลิน”
มิชลิน ได้ชื่อว่าเป็นคัมภีร์การท่องเที่ยว ที่รวบรวมเอาร้านอาหารและโรงแรมที่ดีที่สุดมาไว้ด้วยกัน โดย ททท. เซ็นสัญญาทั้งหมด 5 ปี และได้ขออนุมัติงบสนันสนุนจากคณะรัฐมนตรี ปีละประมาณ 8 แสนเหรียญสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นคำถามที่ตามมาทันที คือ คุ้มไหมกับเงินที่จ่ายไป และเมืองไทยได้ประโยชน์อะไรจากการมี
ยก “อาหาร” เป็นจุดเด่นหนี “แมส ทัวริสซึ่ม”
ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกว่า ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่ต้องบอกให้ชัดถึงตัวตนที่แท้จริงได้แล้ว ททท. จึงพยายามดึงให้เมืองไทยออกจากการเป็น “แมส ทัวริสซึ่ม” ที่แม้มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งทะเล ภูเขา วัฒนธรรม แต่เมื่อถามถึงข้อเด่นๆ ยังไม่เห็นชัดมากนัก จึงถึงเวลาที่ต้องออกมาพูดแล้วด้วยแหล่งท่องเที่ยวกลางๆ ที่ไหนก็มีเหมือนกัน
ททท. จึงมอง “อาหาร” เป็นตัวตนของการท่องเที่ยวของไทย เพราะอาหารมีส่วนผสมทั้งศิลป วัฒนธรรม ทุกอย่างเข้ามาไว้ด้วยกัน ซึ่ง ททท.กำลังพยายามผลักดันอยู่ อีกทั้งยอดใช้ของนักท่องเที่ยว 30% หมดไปกับค่าอาหารการกิน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพ”
เดือนธันวาคม ปี 2017 “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพ” ประจำปี 2018 ฉบับปฐมฤกษ์ของเมืองไทย ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีจำนวนร้านที่ได้ “มิชลินสตาร์” มาการันตีทั้งสิ้น 17 ร้าน ซึ่งร้านของ “เจ้ไฝ” ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นร้านที่เข้าข่ายร้าน “สตรีทฟู้ด” เพียงร้านเดียวที่ได้ติดดาว
ธเนศวร์ บอกว่า สิ่งที่ ททท. ยังรออยู่คือ การทำงานกับ มิชลิน ไม่ใช่แค่การคัดเลือกร้านเท่านั้น แต่จะต้องวิเคราะห์อิมแพคที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการนี้ ซึ่งตอนนี้กำลังรอผลสำรวจที่จะออกช่วงปลายปี จะบอกได้เลยว่าการร่วมมือกับมิชลินในระยะเวลา 5 ปี ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยโตขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์
เท่าที่รู้ ร้านที่ได้ดาวบางร้านยอดขายโตถึง 50% แต่เฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ 30% เนื่องจากร้านอาหารที่ได้ “มิชลินสตาร์” เป็นร้านที่ไม่ได้ใหญ่อยู่แล้ว จะเป็นร้านเล็กๆ บางร้านมีไม่กี่โต๊ะ จึงต้องมีคิวจองที่ยาวนานมาก รายได้ตัวหัวจึงเพิ่มขึ้น
“มิชลินสตาร์ ไม่ได้อิมแพคทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีด้านอื่นๆ เช่น สังคมไทยที่ยังคงรักษาสูตรอาหารดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น ร้าน 1 ดาวมีร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้นมาหลายร้าน ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการนี้ เมื่อนำทั้งเศรษฐกิจและสังคมมารวมกัน ถือว่ามีพลังเป็นอย่างมาก”
ส่วนการมีสตรีทฟู้ดเพียงร้านเดียวคือ เจ้ไฝ ที่ได้รับมิชลินสตาร์ ธเนศวร์ อธิบายว่า สตรีทฟู้ดในมุมมองของมิชลินกับคนไทยไม่เหมือนกัน ในมุมคือร้านที่ตั้งอยู่โดดๆ ไม่ได้ไปรวมอยู่ในตลาดนัดเหมือนที่คนไทยชอบไปกินกัน
ปี 2019 เพิ่ม “ภูเก็ต-พังงา”
สำหรับฉบับปี 2019 นั้น ได้เพิ่มจังหวัด “ภูเก็ตและพังงา” เข้ามา เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวนิยมไปเป็นจำนวนมาก อย่าง ภูเก็ตปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวไปเยือนถึง 10 ล้านคน
ส่งผลให้จำนวนร้านอาหารที่ได้รับคัดเลือกและจัดอันดับในคู่มือ “มิชลิน ไกด์ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และพังงา” จากทั้งหมด 217 ร้าน เพิ่มขึ้น 81 ร้าน ประกอบด้วย
ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน หมายถึงร้านอาหารยอดเยี่ยมที่ควรค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม จำนวน 4 ร้าน (เป็นร้านอาหารใหม่ 1 ร้าน) ได้แก่ 1. Gaggan ,2. Le Normandie, 3. Mezzaluna และ 4. Sühring กรุงเทพฯ (ปีที่แล้วได้ 1 ดาวมิชลิน) ทุกร้านอยู่ในกรุงเทพฯ หมด
ร้านอาหาร 1 ดาวมิชลิน หมายถึงร้านอาหารคุณภาพสูงที่ควรค่าแก่การแวะชิม จำนวน 23 ร้าน (เป็นร้านอาหารใหม่ 10 ร้าน) ได้แก่ 1. Bo.Lan, 2. Chim by Siam Wisdom, 3. Elements, 4. Ginza Sushi Ichi, 5. J’AIME by Jean-Michel Lorain,6. เจ๊ไฝ, 7. L’Atelier de Joël Robuchon, 8. Nahm, 9. Paste, 10. Saneh Jaan (เสน่ห์จันทน์), 11. Savelberg, 12. Sra Bua by Kiin Kiin และ 13. Upstairs at Mikkeller ทุกร้านอยู่ในกรุงเทพฯ
ส่วนร้านใหม่ 1. Canvas, 2. GAA, 3. Le Du ,4. เมธาวลัย ศรแดง, 5. R.HAAN, 6. เรือนปั้นหยา, 7.Saawaan และ 8.Sorn ทั้หมดอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วน 9.สวนทิพย์ อยู่นนทบุรี สุดท้าย 10.PRU เป็นร้านเดียวที่ติดโผจากภูเก็ต
ร้านอาหารรางวัล ’บิบ กูร์มองด์’ คือ ร้านอาหารคุณภาพดีที่เสริฟ์ในราคาไม่เกิน 1,000 บาท (ราคานี้เป็นราคาอาหาร 3 คอร์ส ไม่รวมเครื่องดื่ม) จำนวน 72 ร้าน (เป็นร้านอาหารใหม่ 42 ร้าน) เช็กรายชื่อได้จาก https://guide.michelin.com/th/bangkok หรือ ซื้อหนังสือที่วางจำหน่ายในราคา 650 บาท
“เชียงใหม่และเชียงราย” เพิ่มปี 2020
ธเนศวร์ บอกว่า จุดเด่นที่ทำให้ภูเก็ตและพังงา ได้รับเลือกคือ อาหารถิ่นหรืออาหารใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดี “อาหารไทย” เข้าขั้นอาหารระดับโลกแล้ว “มิชลิน ไกด์” มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างภาพจำใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้ เชื่อว่าการท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะคึกคักมาก
สำหรับฉบับปี 2020 จะเพิ่มภาคเหนือเข้ามา คือ จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยทาง ททท. จะร่วมกับ มิชลิน ในการคัดเลือกร้านก่อนส่งรายชื่อให้กับผู้ตรวจสอบ โดยมีเกณฑ์ให้คะแนนหลักๆ 5 ข้อได้แก่ 1.ใช้วัตถุดิบที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น 2.ครีเอทีฟในการนำเสนอของเซฟ 3.ความสะอาดที่ดูไปถึงหลังครัว 4.ราคาที่สมเหตุสมผล 5.ความสม่ำเสมอของรสชาติและบริการ
“ข้อตกลงเรื่องการไปต่างจังหวัด เป็นข้อตกลงที่ทาง ททท. คุยตั้งแต่ต้นอยู่แล้วกับ มิชลิน ธเนศวร์ บอกว่า หลายคนบอกว่าการขึ้นตำแหน่งแชมป์ถือเป็นเรื่องยาก แต่การรักษาดาวไว้เป็นเรื่องที่ยากกว่า บางร้านถึงกับขอไม่ร่วมเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากมองว่าหากรักษาดาวไม่ได้จะเสียภาพลักษณ์ครั้งใหญ่กับร้าน
เตรียมผลักดันกีฬาและการแต่งงาน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ จุดที่จะดึงออกมา เช่น กีฬา เพราะเมืองไทยมีแหล่งกีฬาทั้งทางบกและทางน้ำมากมาย นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ ททท. กำลังจะผลักกัน เช่น การแข่งขันโมโตจีพีที่ จ.บุรีรัมย์
“การดึงแข่งขันกีฬาเข้ามาจะช่วยสร้างนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาด้วย เพราะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่จะเดินทางด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน เทรนด์เรื่องสุขภาพก็กำลังมาแรง ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ส่วนตัวมองว่าไทยแข็งแรงมาก”
นักท่องเที่ยวทั่วไปจ่ายเงินวันละประมาณ 5,000 บาท แต่นักท่องเที่ยวประเภทกีฬาใช้จ่ายมากกว่า 1.5 เท่าขึ้นไป เช่น กีฬากอล์ฟที่ชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ชอบเล่นเป็นอย่างมาก แค่ค่าสนามก็มากกว่า 5,000 บาทแล้ว เฉพาะฉะนั้นวันๆ ต้องจ่ายมากกว่า 10,000 บาทแน่นอน
อีกกลุ่มหนึ่งที่ ททท. ต้องการผลักดันคือ ด้านแต่งงานและฮันนีมูน ซึ่งมีประเทศที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น อินเดีย เป็นกลุ่มที่เดินทางมาเมืองไทยเพื่อแต่งงานเยอะมาก การจัดงานไม่ใช่ 1 วันเหมือนคนไทย แต่จัดถึง 5-7 วัน ใช้เงินจัดงานทั้งหมดมากกว่า 10 ล้านบาท
นับเป็นตัวอย่างที่ชี้เห็นถึงการขยับตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย ไปหาเซ็กเมนต์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหนีออกจากความเป็น “แมส ทัวริสซึ่ม” ปีหน้า ททท. คาดหวังว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะเติบโต 10% จากตัวเลข 3 ล้านล้านบาท.