หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUTIP:ซียูทิพ) นำทีม คณาจารย์ และนิสิตปริญญาเอก กวาด 7 รางวัล จาก 5 ผลงานนวัตกรรม ในงาน Seoul International Invention Fair 2018 (SIIF2018) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2561 สานภารกิจของหลักสูตรฯ ผลักดันนวัตกรรมจากห้องแลปออกสู่เชิงพาณิชย์และทำตลาดบนเวทีนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUTIP (ซียูทิพ) เปิดเผยว่า หลักสูตรฯซียูทิพ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการหลักสูตรฯ ได้นำนวัตกรรมที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นจากทีมคณาจารย์ และนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้กระบวนการจัดการเรียนรู้และบูรณาการร่วมกันในหลักสูตรฯ เพื่อนำนวัตกรรมต้นแบบ สิ่งประดิษฐ์และสินค้านวัตกรรม ร่วมออกบูธแสดงผลงานและเข้าร่วมประกวดในงาน Seoul International Invention Fair 2018 (SIIF2018) ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2561 ณ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นตลาดนวัตกรรม ตลอดจนเวทีการประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์จากนานาประเทศกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และมีผลงานจากประเทศไทยและนานาชาติร่วมจัดแสดงกว่า 600 กว่าผลงานด้วยกัน ตลอดจนยังเป็นศูนย์รวมของนักนวัตกร และนักลงทุน จากภาคธุรกิจที่มาจากทั่วโลกอีกด้วย
ในเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ SIIF2018 หลักสูตรซียูทิพ สามารถกวาดรางวัลจากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 7 รางวัลได้แก่ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง และ 1 Special Prize on stage from Association of Polish inventors and rationalizes และ 1 Special Prize from Taiwan Invention Association จาก 5 ผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ดังต่อไปนี้
เหรียญทอง และ Special Prize on stage from Association of Polish inventors and rationalizes จากผลงานนวัตกรรม “Hello Lab: Smartphone Mobile Laboratory” ของ ศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการหลักสูตร CUTIP และ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เป็นนวัตกรรมห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่กล้องจุลทรรศน์สมาร์ตโฟน เป็นการนำเสนอชุดอุปกรณ์เพื่อการบันทึกบันทึกภาพไมโครสโคปความละเอียดสูงโดยการติดตั้งเลนส์และอุปกรณ์เสริมเข้ากับกล้องของสมาร์ทโฟน ทำให้สมาร์ตโฟนสามารถบันทึกภาพระดับไมโครสโคปที่มีกำลังขยาย 20 – 500 เท่า สามารถใช้งานได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพลังงาน
เหรียญทอง และ Special Prize from Taiwan Invention Association จากผลงาน นวัตกรรม “Grand Gold Plus”ของ ศาสตราจารย์ ดร. นงนุช เหมืองสิน ผู้อำนวยการหลักสูตร และ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เป็นนวัตกรรมนำส่งสารออกฤทธิ์ผ่านผิวหนังด้วยอนุภาคนาโนทองคำที่มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็น universal nanocarriers และไม่เป็นพิษ ด้วยนวัตกรรมนี้จะทำให้สารสำคัญต่างๆ ซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างล้ำลึกและง่ายขึ้น เห็นผลเร็ว ช่วยให้ผิวกระจ่างใส นอกจากนี้ยังอ่อนโยนต่อทุกสภาพผิว โดยภายในงานหลักสูตรฯ ได้นำ 2 ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมนำส่งสารทองคำนาโนนี้ไปแสดงและจัดจำหน่ายด้วยคือ GrandGold Advanced Whitening & Firming
Cream ครีมขาวใสและยกกระชับ (ใบรับจดแจ้งเลขที่ 10-1-6100061084) และ GrandGold Extra Anti-Acne Gel เจลทาสิว (ใบรับจดแจ้งเลขที่ 10-1-6100061788)
เหรียญเงิน จากผลงานนวัตกรรม “Innovative Eco Biofilter” ของ รองศาสตราจารย์ ดร. ชวลิต รัตนธรรมสกุล กรรมการบริหารหลักสูตรและ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนิสิตปริญญาเอก คุณสะคราน แต่โสภาพงษ์ เป็นการวิจัยพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบใหม่สำหรับอาคารสูงและชุมชนให้มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยการทำงานของระบบถังปฏิกรณ์ชีวภาพเมมเบรนหรือระบบเอ็มบีอาร์ ร่วมกับตัวกลางชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบอีโคไบโอฟิลเตอร์ ซึ่งทำมาจากดินเผาแบบมีรูพรุนและน้ำหนักเบา เพื่อลดการใช้ตัวกลางพลาสติกจะก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม ตัวกลางชนิดนี้จะสามารถใช้งานได้นานหลายปี ยาวนานกว่าการใช้ตัวกลางพลาสติก
เหรียญเงิน จากผลงานนวัตกรรม “Collagen 2 Pro”ของนิสิตปริญญาเอก CUTIP คุณจิรวัสส์ ไตรมิ่งมิตร วิชนนท์ วงศ์บัวขื่น และ รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีชา ไพรศิริศาล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เป็นการ สกัดคอลลาเจนจากกระดูกอ่อนไก่ที่ผ่านการล้างทำความสะอาดภายใต้การควบคุมอุณหภูมิ โดยแช่กระดูกอ่อนไก่ในสารละลาย เพื่อทำการ defatted และทำการ declassification แล้วนำส่วนผสมไปหมุนเหวี่ยง หลังจากนั้นนำไป Dialyzed ด้วยสารละลาย ซึ่งจะได้เป็น liquid collagen นำมาย่อยด้วยเอนไซม์ในสภาวะที่เหมาะสม โดยจะได้ Hydrolyzed Collagen Type II ที่มีความบริสุทธิ์สูง เป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยด้วยเอนไซม์ทำให้มีโครงสร้างที่เล็กลงพร้อมสำหรับการดูดซึม สามารถช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของส่วนประกอบที่อยู่ในข้อ โดยกระตุ้นให้มีการสังเคราะห์เซลล์ใหม่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มระดับของกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำหล่อเลี้ยงข้อ และยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ย่อยสลายน้ำหล่อเลี้ยงข้อ จึงช่วยลดอาการปวดข้อและข้อยึด ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น
เหรียญทองแดง จากผลงานนวัตกรรม “Digital Workforce” ของนิสิตปริญญาเอก CUTIP คุณกิตินุ ม่วนเท้ง และ ดร. พรอนงค์ คณะพาณิชย์ศาสตร์การบัญชี เป็นหุ่นยนต์ดิจิทัลสำหรับการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ภายใต้รูปแบบของซอฟแวร์ช่วยในการลงทุนแทนแรงงานมนุษย์แบบอัตโนมัติเพื่อสร้างผลกำไรในการลงทุน โดยมีระบบความจำเสมือนที่เลียนแบบการทำงานของมนุษย์ มีความสามารถในการทำกำไรทั้งสภาวะตลาดขาขึ้นและขาลงและปรับตามสภาพตลาดโดยสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานของหุ่นยนต์ดิจิทัลให้สอดคล้องกับช่วงอายุและไลฟ์สไตล์ของนักลงทุน เป็นการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมดิจิทัลไว้ด้วยกัน
“รางวัลที่ได้รับจากการนำผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ส่งเข้าประกวดในเวทีนานาชาติ คือเครื่องบ่งชี้ว่า ความสามารถในการพัฒนา การคิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัย นักนวัตกร ของไทยไม่ได้แพ้ชาติใดใดในโลกเลย และที่สำคัญผลงานต่างๆต้องไม่จบลงแค่เวทีการประกวดหรือจัดแสดงเท่านั้น ภารกิจของหลักสูตรเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ซียูทิพ คือการพัฒนากระบวนการและแนวทางที่จะทำให้สินค้าต้นแบบหรือผลงานสิ่งประดิษฐ์จากห้องแลป ออกสู่การค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลงานที่เราได้รับรางวัลทั้งหมดไม่ได้จบแค่การโชว์บนเวทีแต่หลักสูตรมุ่งเน้นว่าทุกนวัตกรรมที่นำออกมาแสดงต้องมีแผนธุรกิจที่พร้อมขายในเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วย โดยการมองไปที่ตลาดโลก ซึ่งหลายๆชิ้นงานที่ ซียูทิพนำมาแสดงในครั้งนี้เป็นผลงานที่พร้อมขายจริงในตลาด” ดร.นงนุช กล่างปิดท้าย