‘นิด้า’ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 62 โต 3.7 – 4.0% เลือกตั้งหนุนการบริโภคในประเทศฟื้นตัว แนะฉวยโอกาสสงครามการค้าดันการส่งออกไทยเพิ่ม

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 62 ขยายตัว 3.7 % – 4.0 % จากแรงผลักดันจากการลงทุนภาครัฐ ความชัดเจนทางการเมืองช่วยหนุนความคึกคัก ประเมินการส่งออก ขยายตัว 6% จากสงครามการค้า จีน – สหรัฐกดดัน แนะใช้โอกาสความขัดแย้งประเทศขนาดใหญ่ดันการส่งออกไทยเพิ่มขึ้น เชื่อการเลือกตั้งชัดเจน ช่วยโครงการภาครัฐออกมาต่อเนื่อง

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) Associate Professor Dr. Montree Socatiyanurak Director, Advanced Master of Management Program (AMM), National Institute of Development Administration
( NIDA) เปิดเผยว่า นิด้าประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโต 3.7-4.0 % โดยการเติบโตจะมาจาก กลไกการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ผ่านมาตรการและนโยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหลายโครงการได้รับอนุมัติและสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 62 งบลงทุนกว่า 4.5 แสนล้านบาท เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีม่วง โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ EEC และรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี บทบาทของรัฐอาจชะลอตัวจากภาวะการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ความชัดเจนทางการเมืองจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะสามารถสร้างความน่าสนใจ รวมถึงดึงดูดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกกว่า 4 แสนล้านบาท

ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนอาจดีขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี จากเงินเลือกตั้งกว่า 3-4 หมื่นล้านแต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจซบเซา เพราะอิทธิพลของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น และความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งจัดการแก้ไขเรื่องนี้ ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนภาคการลงทุนปี 62 นั้น คาดว่าต้องรอถึงช่วงครึ่งปีหลัง เพราะบรรยากาศในการลงทุนและความเชื่อมั่นน่าจะเกิดขึ้นได้จากความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

สำหรับภาคการส่งออกภาวะการค้าโลกกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามกีดกันสินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะจีนด้วยกำแพงภาษีที่สูงถึง 25% ตามนโยบายที่ใช้หาเสียง แต่จากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่เกิดขึ้น ผลการเลือกตั้งทำให้ทรัมป์ไม่สามารถกำกับสภาผู้แทนฯได้เหมือนเคย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าบทสรุปของสงครามการค้าระหว่างจีน จะจบลงอย่างประนีประนอมด้วยการเจรจาที่ลงตัว และภาวะทางการค้าโลกจะกลับมาสดใสในไม่ช้า

อย่างไรก็ตาม ไทยก็อาจจะได้รับประโยชน์จากการเป็นประเทศที่ 3 ที่ช่วยเชื่อมโยงการส่งออก ซึ่งจะมีผลให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากถึง 78.4% คาดว่าการส่งออกไทยปี 62 จะเติบโตได้ประมาณ 6% ลดลงจากปีนี้เล็กน้อย

ปัจจัยเสี่ยงที่มีส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 62 คือ (1) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน (สหรัฐเป็นประเทศผู้นำเข้าและจีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก) ที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว ซึ่งไทยพึ่งพาการส่งออก 78.4% จึงได้รับผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก (2) การเมืองที่รอความชัดเจนและมีผลต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการลงทุนของประเทศ (3) ภาวะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนและกระทบต่อเนื่องไปถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตร และ (4) ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก OPEC มีแผนลดการผลิตลง ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวมด้วย ขณะที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.00% – 2.25% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 31 – 33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

สำหรับภาพรวมของปี 2561 เศรษฐกิจไทยค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของภาคการบริโภคชะลอตัว หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 77.5% ต่อ GDPโดยส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ โดยในส่วนนี้เป็นเพียงหนี้ในระบบเท่านั้น ไม่ได้นับรวมหนี้นอกระบบที่คาดว่าขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ นอกจากอิทธิพลของความซบเซาภายในประเทศแล้ว อีกหนึ่งปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือนคือราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากจำนวนประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรของประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 7.9 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ46.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ ทำให้กำลังซื้อของประชากรโดยส่วนใหญ่ชะลอตัว ในขณะที่ภาคการลงทุนยังคงชะลอตัว โดยมีดัชนีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 68%

นอกจากนี้การลงทุนในภาคการผลิตจริงจากต่างประเทศและการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ยังคงรอความชัดเจนทางการเมือง ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าภาพรวมของปี 61 จะเติบโตได้ 8% จากกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง ASEAN ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 28.5%ของมูลค้าการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวกลับชะลอตัวในช่วง High-Season เนื่องจากมีกรณีอุบัติเหตุ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 61 นั้น เติบโตได้จากภาคการส่งออกและบทบาทการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ผ่านนโยบายประชานิยม และโครงการการลงทุนต่างๆ คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้ 4.3%