แพรวา…ราชินีแห่งไหมไทย

จากผ้าห่มสไบของชาวภูไท สู่ราชินีแห่งไหมไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9  ซึ่งมีพระราชดำริให้ส่งเสริมและสนับสนุน จนมีการพัฒนาผ้าไหมแพรวาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

และเมื่อไม่นานมานี้ คนไทยได้ประจักษ์ในความงดงามของผ้าไหมแพรวากันอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จไปทรงร่วมงาน“อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยทรงฉลองพระองค์ชุดไทยผ้าไหมแพรวาสีแดง ซึ่งเป็นสีดั้งเดิมของแพรวาอันเป็นวัฒนธรรมของชาวภูไท บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ในโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผ้าไหมแพรวาว่า “แพรวา หรือ ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยยังรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหม ผู้หญิงจะถูกฝึกทอผ้าแพรวาตั้งแต่เด็ก โดยผู้ทอผ้าแพรวาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีภูมิปัญญาในการทอผ้าไหมด้วยการเก็บลาย หรือเก็บขิดแบบจกที่มีลวดลายโดดเด่น เป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงที่เรียกว่าผ้าเบี่ยง ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลงานบุญหรืองานสำคัญอื่นๆ ปัจจุบันการทอผ้าไหมแพรวาได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ทอซึ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน , ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นสมาชิกของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ มีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

นางสาวจิตนภา โพนะทา ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เล่าว่า เติบโตที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ คลุกคลีและเห็นการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก เห็นตายายและแม่ทอผ้าแพรวามาตลอดชีวิต ซึ่งไม่ได้สักแต่ว่าทำแล้วจบไป แต่ทุกชิ้นทุกผืนครูช่างจะใส่ชีวิตและวิญญาณเข้าไปในผ้าแต่ละผืนด้วย เมื่อมีโอกาสมาสืบสานงานผ้าแพรวา สิ่งสำคัญคือต้องยึดถือในความใส่ใจนี้ไว้เป็นแบบอย่าง แต่เพิ่มเติมเรื่องการใส่ไอเดียและปรับดีไซน์ของงานผ้าแพรวาให้มีลูกเล่น ทันสมัยและเหมาะกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งแพรวายุคใหม่ได้รับการตอบรับอย่างดีกับกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่ชื่นชอบสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่นและยุโรปเป็นอย่างดี

“เราให้ความสำคัญทั้งแพรวาแบบดั้งเดิมที่อนุรักษ์ในความเป็นไหมแพรวาแบบโบราณไว้ ที่ใช้ความละเอียดจากเส้นไหมขนาดเล็กมากจึงต้องอาศัยความชำนาญและระยะเวลาในการทอแต่ละผืนนานมาก และเป็นแพรวารุ่นใหม่ ซึ่งยังคงลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของแพรวา แต่มีการดีไซน์ใหม่ทั้งเรื่องสีสันและการใช้วัตถุดิบ เช่น เรื่องสีจากเดิมที่เคยใช้สีสดมาก จำพวกแม่สีที่มีรูปแบบสีตัดกันอย่างชัดเจน ตอนนี้ก็ปรับมาสู่สีในโทนเย็น สีพาสเทล หรือใช้โทนสีลักษณะทูโทน (สีหลัก 2 สี) โดยผ้าแต่ละผืนจะมีการออกแบบวางแผนว่าการทอมีลักษณะพิเศษแต่ละผืน มีการจัดกลุ่มสีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีการใช้วัตถุดิบให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เช่น การย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ การใช้ไหมเส้นใหญ่ขึ้นหรือเรียกว่าไหมบ้าน แทนการใช้ไหมเส้นเล็กละเอียด เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ให้ความรู้สึกของความเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญราคาของผ้าแพรวาแบบใหม่จะลดลงกว่าเดิม เป็นราคาที่ผู้บริโภคจับต้องได้ เนื่องจากเดิมแพรวาขึ้นชื่อเรื่องราคาที่สูงมากทำให้จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม นอกจากนี้เรายังปรับเปลี่ยนชนิดของผลิตภัณฑ์ให้กว้างขึ้น ไม่ได้ทำเป็นผ้าทออย่างเดียว แต่เราเอามาประยุกต์เป็นของใช้ในบ้าน เครื่องประดับ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถนำแพรวาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น”

ผ้าไหมแพรวาที่ได้ชื่อว่า “ราชินีแห่งไหม” มิใช่เพราะมีราคาแพงมูลค่าสูง หากเพราะความงดงาม ทุกลวดลาย ทุกความระยิบระยับของเส้นไหม ล้วนสืบสานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นมรดกตกต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นคุณค่าที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ครอบครองล้วนภาคภูมิใจ

พบกับสุดยอดตำนานของผ้าไหมแพรวา ผลงานอันวิจิตรงดงามที่รังสรรค์โดยครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จากบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในงาน“อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพลนารี ฮอลล์ สอบถาม โทร. 1289