Win-Win WAR Thailand ปลุกกระแส Social Enterprise สานฝันนักธุรกิจแบ่งปัน ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ที่ได้ทั้งกำไร และใส่ใจสังคมอย่างจริงจัง


นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคตอย่าง Social Enterprise ได้ถูกจุดประกายขึ้นในไทย ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของ C asean โดยการบริหารของ บริษัท ซี เอ ซี จำกัด ผ่านรายการ Win-Win WAR Thailand ที่ออกอากาศทางช่องอัมรินทร์ ทีวี แม้จะปิดฉากซีซั่นหนึ่งลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปลุกกระแสให้คนในสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้หันมากลั่นไอเดียเพื่อการแบ่งปันที่สร้างรายได้งาม ควบคู่กับการดูแลใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม

Win-Win WAR Thailand รายการแข่งขันชิงชัยสุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน เพื่อเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นสร้างธุรกิจในฝันที่จะเติบโตไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยเป็นการแข่งขันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และผลักดันให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพ ซึ่งจะเปิดรับสมัครบุคคลที่มีความสนใจการทำธุรกิจ และมีผู้โชคดีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะได้รับรางวัลมูลค่า 2,000,000 บาท เพื่อสานต่อธุรกิจในฝันนั้นให้เป็นจริงและเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต ส่วนอีก 4 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายซึ่งมีไอเดียดีเด่นน่าชมเชยเช่นกัน ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

ต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการบริหาร บริษัท ซี เอ ซี จำกัด กล่าวว่า Win-Win WAR Thailand เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จะช่วยการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development เพราะสังคมไทยยังไม่เข้าใจการทำธุรกิจเพื่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ความจริงแล้ว เราสามารถทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เป้าประสงค์นอกจากจะเผยแพร่ Social Enterprise แล้ว ยังได้เจอตัวจริงของนักธุรกิจแบ่งปันด้วย นอกเหนือจากเงินรางวัลคือ การเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจและเอ็นจีโอ ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ด้านการตลาดต่อไปอย่างใกล้ชิด “ผลตอบรับทั้งในแง่ของผู้เข้าแข่งขันและคนดูถือว่าดี แม้จะไม่ได้ออกอากาศในช่องหลัก สำหรับจำนวนผู้สมัครที่มี 1,000 ทีม ถือว่า เกินความคาดหมาย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการของการใช้งบประมาณที่เฟซบุ๊กให้การสนับสนุนในการบูทส์โพสต์”

“สิ่งที่เห็นได้ชัดจากWin-Win WAR Thailandคือ ปัญหาที่แต่ละทีมหยิบยกขึ้นมา เพื่อแสดงไอเดียธุรกิจ เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือสังคมแบบเดิม ที่มักทำในเชิงการกุศล ในวงเล็ก ๆ เป็นการหาสปอนเซอร์ ถ้าไม่รวยจริง ก็ทำได้ไม่นาน ไม่ใช่การทำธุรกิจเพื่อสังคมที่อยู่ได้ด้วยตัวเองแบบนี้” สำหรับ Win-Win WAR Thailandซีซั่น ต้องใจคาดว่าจะเป็นที่รู้จักและมีคนติดตามชมมากขึ้น โดยทีมงานจะพยายามใช้สื่อโปรโทเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง โดยเฉพาะสื่อออนไลน์เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

5 เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจ 5 เส้นทางต้องฝ่าฟัน 5 ความฝันเพื่อสังคม

ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศรายการWin-Win WAR Thailand ซีซั่นแรกและคว่้าเงินรางวัล 2,000,000 บาท ได้แก่  คำรณ มะนาวหวาน ทีม Able Innovation จากผู้สมัครกว่า 1,000 ทีม ซึ่งคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ จากความเข้าอกเข้าใจถึงความต้องการของผู้พิการเป็นอย่างดี โดยเริ่มจากทำวีลแชร์เพื่อใช้งานเองก่อน เนื่องจากเขาประสบอุบัติเหตุรถชน กระดูกคอหัก และสูญเสียการควบคุมร่างกายส่วนล่าง จากนั้นจึงมองหาโอกาสและลู่ทางธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้วยังถือเป็นการช่วยเหลือผู้พิการคนอื่น ๆ ด้วย เพราะนวัตกรรมจาก Able Innovation นั้นประสิทธิภาพเทียบเท่ากับญี่ปุ่นและยุโรป ใช้มอเตอร์ และแบตเตอรี่ ที่มีคุณภาพ ในราคาถูกลง 1 ใน 4 โดยจำหน่ายในราคา 35,000-50,000บาท สินค้าของบริษัทฯ เป็นกลุ่มกายอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ เพื่อชีวิตไม่พิการ ประกอบด้วยวีลแชร์ ไฟฟ้าและแมนนวล, หัวลากที่ใช้ต่อกับวีลแชร์, สกู๊ตเตอร์สำหรับคนพิการที่ต้องการประกอบอาชีพ เช่น ขายล็อตเตอรี่, เตียงไฟฟ้า และเครื่องยกตัว ไฟฟ้า และแมนนวล สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปประกอบอาชีพ

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของ Able Innovationคือทำธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ล่าสุดได้ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลญี่ปุ่น นำวีลแชร์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะทำลายทิ้งเอามาซ่อมบำรุงใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยจากญี่ปุ่นด้วยการใช้เครื่องจักรต่าง ๆ จากปัจจุบันที่ผลิตได้เพียงเดือนละ 10 ชุด ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 100 ชุด และทำให้มีราคาถูกลง ไม่ต้องพึ่งพาแฮนด์เมดทั้งหมด โดยในอนาคตต้องการกระจายการผลิตไปให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย รวมถึงในแถบอาเซียน โดยใช้การจ้างงานคนพิการ เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนกลุ่มนี้ ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

สิ่งที่คำรณได้รับจากการเข้าร่วมรายการWin-Win WAR Thailand คือ ได้เรียนรู้การทำธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ได้เน้นเพียงแค่ผลกำไร รวมถึงได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากคณะกรรมการ อาทิ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ Customization และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายรุ่นมากขึ้น ในหลายระดับราคา ตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจง ส่่วนคำแนะนำที่เขามีให้กับผู้สมัครรายการ Win-Win WAR Thailand ในซีซั่น 2 คือ ต้องเป็นธุรกิจที่ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในวงกว้างและช่วยเหลือคนได้มากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และมีความพร้อมที่จะลงมือทำได้เลย ขณะเดียวกันเขาก็อยากให้มีการสนับสนุนรายการน้ำดีแบบนี้มากขึ้น เพราะทำให้คนรุ่นใหม่ได้ไอเดียในการทำธุรกิจที่ใส่ใจสังคมมากขึ้น ขณะเดียวกันคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วก็นำไปปรับใช้ได้ด้วย

ส่วนอีก 4 ทีมก็มีเรื่องราวที่น่าประทับใจและแง่มุมของ Social Enterpise ที่มีศักยภาพเพียงพอจะต่อยอดในอนาคตต่อไปเช่นกัน ได้แก่ อิรวดี ถาวรบุตร ทีมSANDEE for Good ซึ่งได้รับรางวัล Creative Innovation เป็นเว็บ แอปพลิเคชั่น ศูนย์รวมรายการข้าวของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ หรือ Wish list เพื่อการบริจาคให้กับมูลนิธิและองค์กรเพื่อสังคมทั่วไทย เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการบริจาคซื้อของออนไลน์เพื่อบริจาคได้ ธุรกิจนี้เกิดจากไอเดียของสาวน้อยวัยเพียงแค่ 16 ปีเท่านั้น แต่เธอเล็งเห็นว่าคนไทยชอบบริจาคข้าวของต่าง ๆ ให้กับมูลนิธิอยู่แล้ว จึงต้องการเป็นสื่อกลางในการ โดย SANDEE for Good จะทำหน้าที่เจรจาติดต่อกับซัพพลายเออร์ต่างๆ เช่น สยามวาลา, ออฟฟิศเมท รวมถึงดูแลในเรื่องการขนส่งให้กับซัพพลายเออร์ที่ไม่มีบริการด้านนี้ด้วย โดยโมเดลรายได้คือคอมมิชชั่นจากยอดขายของซัพพลายเออร์ ปัจจุบันมีมูลนิธิในเครือข่าย 6 แห่ง เช่น มูลนิธิดวงประทีบ, มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม และมูลนิธิเพื่อเด็กกำพร้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อะมีรุลมุอ์มินีน) โดยขณะนี้อยู่ในช่วงของการทดสอบระบบเพื่อความแม่นยำในการส่งของบริจาค

สำหรับเป้าหมายในระยะยาวคือ ต้องการปั้นให้เว็บ แอปพลิเคชั่นนี้เข้าถึงผู้ที่ต้องการแบ่งปันทั่วโลก โดยขณะนี้กำลังแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และรัสเซีย สำหรับสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการร่วมแข่งขันรายการนี้ คือ คำแนะนำจากคณะกรรมการเกี่ยวกับการทำอีคอมเมิร์ซ การหาซัพพลายเออร์ และระบบชำระเงินหรือเพย์เมนท์ เกตเวย์ ที่ถือเป็นความน่าเชื่อถือสำคัญของธุรกิจประเภทนี้ ส่วนการแข่งขันในซีซั่นสอง อิรวดีอยากให้มีเด็ก ๆ รุ่นใหม่ กล้าที่จะนำเสนอไอเดีย เพือสานฝันธุรกิจของตัวเองให้เป็นจริง โดยไม่ต้องกังวลว่าอายุจะเป็นอุปสรรค

ด้าน ไอรีล ไตรสารศรี และศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ทีมArt for Cancer ซึ่งประกอบธุรกิจศิลปะบำบัดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งอย่างยั่งยืน จากที่ทั้งสองคนเป็นนักสู้ชีวิต ที่ฝ่ามรสุมโรคมะเร็งจนหายขาด จึงอยากนำ Pain point ที่มีของผู้ป่วยมะเร็งมาตีแตก และชี้ให้เห็นว่าตราบใดที่มีลมหายใจ อย่าท้อถอยและสิ้นหวัง เพราะมะเร็งเป็นแล้วมีโอกาสรักษาหายได้ มะเร็งไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและผู้ป่วยปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี รวมถึงได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งโมเดลการหายรายได้จะมาจากการจำหน่ายกล่องพลังใจ เป็นของเยี่ยมไข้ผู้ป่วยมะเร็ง เปรียบเหมือนการเยียวยาทางจิตใจ มีสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ซึ่งช่วยเก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อช่วยให้สื่อสารกับแพทย์ได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปหรือฝึกอบรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ป่วย พร้อมการให้ความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ป่วยที่หายจากมะเร็งมาแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการทำ Art Therapy เช่น การวาดภาพ, ระบายสี หรือการทำสวนขวด ขณะเดียวกันก็ยังมีรายได้จากสปอนเซอร์ที่นำเสนอคำคมจากองค์กรต่าง ๆ ที่สนับสนุนภายในสมุดบันทึกพิชิตมะเร็ง ในอนาคต ทั้งคู่ต้องการสร้างArt for Cancer Hub and Co-Sharing Space เป็นที่เป็นทาง แทนการเช่าที่ เพื่อเป็นศูนย์ถาวรให้กับผู้ป่วยมะเร็งได้มาทำกิจกรรมดังกล่าวร่วมกัน กระทั่งการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในการรักษาต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

สำหรับสิ่งที่เธอทั้งสองคนได้เรียนรู้จากรายการนี้คือเป็นรายการที่ให้ความรู้คนในสังคมเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งน้อยคนนักจะเข้าใจ พร้อมให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ชี้ให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของธุรกิจ จากคำชี้แนะของคณะกรรมการซึ่งมีประสบการณ์ ทำให้ไอเดียธุรกิจที่มีเฉียบคมมากขึ้น และที่สำคัญคือเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รู้จักกับ Art for Cancer มากขึ้น เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ และความหวังว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

ต่อมาคือ ธนัข สวัสดิ์บุรี และพศวีร์ เลียงอรุณวงศ์ ทีม Terra Capsule ผู้ผลิตกล่องย่อยขยะธรรมชาติด้วยหนอนแมลงวันลาย ที่ไม่แพร่เชื้อโรค และไม่เป็นพาหะใดๆ ข้อดีของหนอนแมลงวันลายคือกินเศษซากอาหารต่าง ๆ ได้รวดเร็วมาก ย่อยสลายได้เร็วกว่าไส้เดือน 9-10 เท่า เพียงแค่ทิ้งตอนเช้า ถึงตอนกลางวันก็ย่อยสลายหมด เฉลี่ย 2 กิโลกรัมต่อวัน Terra Capsuleจำหน่ายกล่องละ 1,400 บาท โดยใช้ได้นานเกินกว่า 2 ปี หลังจากศึกษาลองผิดลองถูกร่วม 3 ปีเศษ จนกระทั่งกลั่นกรองออกมาเป็นความรู้และความเข้าใจในวงจรชีวิตและพฤติกรรมของหนอนแมลงวันลายอย่างถ่องแท้ และเชื่อมั่นว่ามีประสิทธิภาพในการย่อยสลายที่สมบูรณ์ ทั้งสองคนก็ได้ผุดธุรกิจนี้คือขึ้นมา โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ชุมชน, หมู่บ้าน, โรงเรียน, ตลาดสด, เรือนจำ และฟาร์มปศุสัตว์ต่าง ๆ จากเดิมที่เศษอาหารและพืชผักมักจะถูกนำไปขุดฝังกลบหรือเทลงแม่น้ำให้ปลากิน ผลตอบรับเริ่มขยายไปในวงกว้าง โดยเฉพาะตามครัวเรือนต่าง ๆ และมีโอกาสเติบโตต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม และเน้นการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี วัสดุทำจากพลาสสิกที่เลียนแบบไม้ ตั้งไว้กลางแจ้งได้ กันแดด กันฝน สิ่งที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้จากรายการนี้คือ มุมมองทางธุรกิจที่กว้างขึ้น แม้จะศึกษาจากต่างประเทศมาเยอะก็ตาม แต่พอจะเริ่มต้นทำในประเทศก็ถือเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างรายได้ธุรกิจและการคืนกำไรสู่สังคม

สุดท้ายคือธุรกิจเพื่อชุมชนและถิ่นฐานบ้านเกิดที่ตำบลูหอ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลยของ ลักขณา แสนบุ่งค้อ ทีม Banana Land ที่นำเสนอธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนกับเรื่องราวกล้วย ๆ ซึ่งมีทั้งการจำหน่ายขนมที่ทำจากกล้วยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นเป็นขนมขาไก่ที่มีส่วนผสมของกล้วยน้ำว้า และกล้วยเส้นรสชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลผลิตจากฝีมือของเยาวชนในท้องถิ่นซึ่งรวมกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี 2550 สำหรับในอนาคตเธอวางแผนที่จะขยายขอบเขตธุรกิจไปยังเรื่องการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมทั้งอาชีพและความสนุก นอกเหนือจาก “Banana Land ดินแดนกล้วยๆ” ที่คนทุกเพศทุกวัยในชุมชนมาร่วมมือกันตามความถนัดแล้ว ยังเตรียมปลุกปั้น YaYa Garde เพื่อเป็นคลังความรู้ด้านพืชพรรณและผลหมากรากไม้ท้องถิ่นให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต โดยยังคงยืนหยัดในเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการเพิ่มศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในตำบลอย่างถ้วนทั่ว ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีและความอบอุ่นให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวของคนในชุมชน

สำหรับสิ่งที่ลักขณา ได้เรียนรู้จากรายการนี้คือ การขยายธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างยั่งยืน และทำให้ เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนยังได้เพื่อนใหม่ ๆ ที่มีหัวใจแบ่งปันเหมือนกัน รวมถึงได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาที่ดีต่อการทำธุรกิจเพื่อสังคม นับเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ควรค่าแก่การบอกต่อ และให้การสนับสนุน เพื่อช่วยให้บรรดา Social Enterprise เหล่านี้ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนสืบไป