“ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง” คือกลยุทธ์การตลาดแบบไวรัล โดยการ “จุดกระแส” อะไรสักอย่างที่แบรนด์ต้องการโปรโมตขึ้นมา แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคบอกต่อกันเอง ส่งต่อให้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วง 2 ปีมานี้มักเห็นหลากหลายแบรนด์ที่ใช้ “ไวรัล มาร์เก็ตติ้ง” เป็นเครื่องมือหลัก โดยเฉพาะการทำการตลาดในโลกของโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook Twitter หรือ Youtube
แต่สำหรับไวรัลที่เพิ่งเกิดขึ้นใน 2 วันนี้ ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นไม่ได้มาจาก “แบรนด์” แต่เกิดจากการที่เพื่อน 2 คน ถกเถียงเรื่องราวของการกินเมนู “หมี่หยก” ในร้านของ “เอ็มเค สุกี้” ที่มีกว่า 427 สาขาทั่วประเทศ ว่า ถ้ากิน “หมี่หยก” จะ “ลวก” หรือ “ไม่ลวก” ก่อนที่ Account @fyckxx ใน Twitter จะแคปรูปมาแล้วเขียนว่า “เลิกเป็นเพื่อนกันเพราะอะไร”
ใครจะคิดว่า แคปชั่นฮาๆ กับการถกเถียงของเพื่อน 2 คนจะกลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของชนชาวทวิภพ ที่ช่วยกันรีทวิตจนไปถึง 20,000 ครั้ง และก่อให้เกิดแฮชแท็กที่ชื่อว่า #ทีมไม่ลวกหมี่หยก หรือ #ทีมลวกหมี่หยก
กระแสที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดอยู่ที่การถกเถียงของเพื่อน 2 คนอีกต่อไป เพราะในเวลาต่อมาชาวทวิภพต่างออกมาแสดงความเห็นของตัวเองกันยกใหญ่ ว่าตัวเองจะอยู่ทีมไหน ขึ้นขนาดที่ทำให้แฮชแท็ก #ทีมไม่ลวกหมี่หยก กลายเป็นอันดับ 1 ของเทรนด์ในเมืองไทย ด้วยจำนวนข้อความถึง 127,000 ครั้ง
ยังไม่หยุดแค่นั้น ความแรงของ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก ทำให้เทรนด์ติดท็อป 5 ของโลก ด้วยจำนวนข้อความถึง 55,000 ครั้งเลยทีเดียว จนถึงกับมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า
สำหรับคนไทยเรื่องกินเรื่องใหญ่ แค่เริ่มต้นปีมาไม่ทันไร ก็ติดเทรนด์ด้วยเรื่องของกินซะแล้ว
แน่นอนกระแสของ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก คนที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็ต้องเป็นเอ็มเคอยู่แล้ว เพราะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมาก และการที่คนไทยชื่นชอบกระแส ไม่ต้องเป็นหมอดูก็ทำนายได้เลย วันต่อไปผู้บริโภคต้องไปทดลองเมนูที่ว่า แล้วเลือกทีมกันอย่างคึกคักแน่นอน
เพียงแต่สิ่งที่ต้องกลายเป็นการบ้านข้อใหญ่ให้ เอ็มเค คือการต้องกลับไปวางแผนการตลาดออนไลน์เสียใหม่ เพราะถึงเอ็มเคจะออกมาโพสต์ข้อความถึงกระแสของ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก ทั้งใน Facebook และ Twitter จนมีคนตอบรับจำนวนมาก
หากเป็นการขยับตัวที่ค่อนข้างช้าเกินไปหลังจากเกิดกระแสเป็น 10 กว่าชั่วโมง จนปล่อยให้แบรนด์อื่นๆ เข้ามาเกาะกระแส และชิงความสนใจจากคนอื่นไปในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น “เมเจอร์” ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเร็วในการจับกระแส หรือจะเป็น “ท็อปส์” ที่ไม่พลาดที่จะเข้ามาแจม
และการที่ตัวแบรนด์เองออกมาพูดช้าไปนิด ก็ทำให้เกิดคอมเมนต์ในลักษณะที่อยากให้ไปศึกษาแบรนด์ที่เก่งในการจับกระแสเลยทีเดียว
ขณะเดียวกันยังได้มีการสอดแทรกเรื่องความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ จากคุณหมอผิง – พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท อีกด้วย
โชคดีว่าไวรัลในครั้งนี้เกิดขึ้นในแดนบวก แบรนด์จึงได้รับผลประโยชน์ แต่ลองคิดดูว่าหากเป็นกระแสลบ การที่แบรนด์ออกมาขยับตัวได้ช้า อาจเกิดความเสียหายที่ไม่คาดคิดกับแบรนด์ไปแล้วก็เป็นไปได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นแง่ดีหรือแง่ลบ การที่แบรนด์สามารถขยับตัวได้เร็ว ก็จะทำให้แบรนด์สามารถควบคุมกระแส และทำให้ตัวเอง “เด่น” ที่สุด เพราะโลกของออนไลน์ “ใครเร็วกว่า” คนนั้นคือผู้ได้เปรียบมากที่สุด.