ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT สานต่อโครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม คัดสรรเป็น“ครูศิลป์ของแผ่นดิน”“ครูช่างศิลปหัตถกรรม”และ“ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม”ประจำปี 2562 ด้วยการเฟ้นหาบุคคลที่มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมมีทักษะฝีมือเชิงช่างในงานศิลปหัตถกรรมจากทั่วประเทศกว่า 300 ราย คัดสรรผู้ที่มีทักษะฝีมือในงานศิลปหัตถกรรม มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และมีผลงานโดดเด่น เตรียมประกาศเชิดชูเกียรติ พร้อมนำสุดยอดผลงานจัดแสดงภายใน “งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เห็นถึงคุณค่าในตัวบุคคลผู้อนุรักษ์และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยความอุตสาหะ รักษาคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมในศาสตร์และศิลป์เชิงช่าง ด้วยความหวงแหนในสมบัติของบรรพบุรุษ ซึ่งงานหัตถกรรมบางประเภทก็มีแนวโน้มที่จะสูญหายไปจากวิถีชีวิตและสังคมไทยในปัจจุบัน บางประเภทก็นับวันเหลือผู้ที่สนใจสืบสานงานฝีมือเชิงช่างน้อยลงไปทุกที SACICT จึงให้ความสำคัญกับการที่จะอนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยมอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้และด้วยความสำคัญนี้ SACICT จึงมีการดำเนินกิจกรรมคัดสรร และเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย“ครูศิลป์ของแผ่นดิน”“ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
สำหรับการเตรียมการสรรหาบุคคลเพื่อที่จะเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ในปี 2562 นี้ ให้ความสำคัญกับกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่ถือเป็นสุดยอดฝีมือ ได้เริ่มจากการสรรหาบุคคลจากทั่วประเทศ เป็นที่น่ายินดีในปีนี้ มีจำนวนผู้ที่เสนอชื่อเข้าร่วมการคัดสรรทั้ง 3 ประเภทบุคคลจากทั่วประเทศมากกว่า 300 ราย ในหลากหลายประเภทผลงานศิลปหัตถกรรม เช่น เครื่องทอ เครื่องกระดาษ เครื่องไม้ เครื่องดิน เครื่องโลหะ เครื่องจักสาน เป็นต้น แต่ละคนล้วนแล้วมีผลงานที่น่าสนใจทั้งสิ้น ทั้งนี้การพิจารณาคัดสรรบุคคลที่สมควรได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2562นั้น จะพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมหลากหลายแขนง และในแต่ละปีคณะกรรมการ จะทำงานกันอย่างหนักมาก เพื่อร่วมพิจารณาคัดสรรบุคคลผู้มีฝีมือ โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของบุคคลผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ จริงๆ โดยผู้ที่ได้รับการคัดสรรเป็นที่สุดของสุดยอดฝีมือแล้ว SACICT จะประกาศเชิดชูเกียรติ พร้อมทั้งนำผลงานที่สะท้อนตัวตนของผู้ได้รับการเชิดชูทุกท่าน นำมาจัดแสดงให้ได้ชื่นชมภายในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ประจำปี 2562 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31มกราคม ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ”
ผู้สนใจสามารถพบกับสุดยอดผลงาน พร้อมกับสุดยอดฝีมือของบุคคลที่ได้รับการเชิดชูเป็น “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ประจำปี 2562 ภายในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” ระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือสนใจติดตามได้ที่ www.sacict.or.th และhttps://www.facebook.com/sacict/