- ชูธง Private Bank ท่ามกลางการแข่งขันของแบงก์ใหญ่ พร้อมเปิดตัวบริการและผลิตภัณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ ล่าสุดมี AUA รวมเงินฝากและเงินลงทุนผ่านกองทุนรวมอยู่ที่ 650,000 ล้านบาท
- ปี 62 คาดสินเชื่อเติบโตแข็งแกร่งจากฐานปี 61 ที่ขยายตัวถึง 18.5% โดยมุ่งเน้นการจัดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- NPLs ปรับลดลงต่อเนื่อง 6 ไตรมาส ล่าสุดอยู่ที่ 4.1%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ได้เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมการเงินตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงวางฐานอยู่ที่ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ (Credit Business) ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยกลยุทธ์ Customer Segmentation ที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและควบคุมต้นทุน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาสินเชื่อเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 18.5% และในปี 2562 นี้ ด้วยนโยบายเน้นขยายเฉพาะสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลกำไรเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มยอดสินเชื่อโดยทั่วไป จึงได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 8% ถัดมาคือ ธุรกิจ Private Bank ซึ่งในปี 2561 KKP มียอดสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset under Advice: AUA) ที่รวมทั้งยอดเงินฝากของธนาคาร และสินทรัพย์ของลูกค้าภายใต้การบริหารที่ บลจ.ภัทร แล้ว สูงถึงกว่า 650,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในขณะที่การแข่งขันในธุรกิจนี้เข้มข้นขึ้นทั้งจากผู้เล่นที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ภายในประเทศ และไพรเวทแบงก์ต่างประเทศที่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย หรือให้บริการตรงจากต่างประเทศ KKP ในฐานะผู้นำในธุรกิจนี้ซึ่งได้เปรียบจากการลงทุนพัฒนาความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้พยายามรักษาจุดแข็งโดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น การนำเสนอบริการการลงทุนในต่างประเทศ การให้บริการการลงทุนใน Private Markets ต่างๆ การนำเสนอสินเชื่อเพื่อการลงทุนชนิดพิเศษอย่าง Lombard Loan และ PPF (Portfolio for Property Finance) การนำเสนอบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ KKPSS (KK Phatra Smart Settlement) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนและตอบโจทย์มุมมองการลงทุนได้หลากหลายจำพวก Structured Notes ต่างๆ ส่วนทางด้าน บลจ.ภัทร จะยังคงมุ่งพัฒนาผลงานการบริหารกองทุนให้อยู่ในกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม การเพิ่มสัดส่วนกองทุนที่มีความซับซ้อนแต่ให้ผลตอบแทนสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการขายใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยในปี 2561 แม้ว่า บลจ.ภัทร ไม่ได้เติบโตมากนักในแง่ของ AUM เนื่องจากภาวะตลาดที่มีความผันผวน แต่สามารถสร้างรายได้เติบโตขึ้นถึง 50% สุดท้ายคือด้าน ธุรกิจ Wholesale & Investment Bank ปี 2561 ที่ผ่านมานับเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากบล.ภัทรได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำคัญระดับประเทศทั้งจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและทำรายการระดมทุนในตลาดทุน อาทิ โครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) หรือการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกของ บมจ.โอสถสภา และ บมจ.พระรามเก้า”
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายตลาดการเงิน และรักษาการประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภาพรวมการดำเนินธุรกิจ สินเชื่อของธนาคารในปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวที่ 18.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 โดยการขยายตัวมาจากสินเชื่อในทุกประเภท ในด้านคุณภาพของสินเชื่อมีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 6 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ 4.1% จาก 5% ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 6,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 5,123 ล้านบาท ลดลง 16.2% จากความผันผวนของตลาดทุน ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรหลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 16.29% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 12.49% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 4/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 17.46% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.65%”
ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคลบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ให้มุมมองในหัวข้อ “ความหวังครั้งใหม่กับเศรษฐกิจไทยในปีหมู ต้องเลือกเพื่อสร้างโอกาส” ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2562 น่าจะยังคงเติบโตได้ดีอยู่ แต่มีทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปีก่อน มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีน และผลของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ส่วนภาคการบริโภคอาจได้รับแรงกดดันจากรายได้ภาคเกษตรที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไปได้แก่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ภาคการท่องเที่ยวที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด สภาพคล่องในตลาดการเงินโลก ความผันผวนของค่าเงินบาท และความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมแล้ว แต่ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากกฎการเลือกตั้ง และระยะเวลาระหว่างวันเลือกตั้งกับวันที่มีรัฐบาลใหม่ อาจทำให้นักลงทุนและผู้บริโภคชะลอการตัดสิน และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งแรกชะลอตัวได้ อย่างไรก็ตาม หากการเลือกตั้งผ่านไปได้ด้วยดี การเร่งตัวของการลงทุนภาครัฐ การกระตุ้นทางการคลัง และการลงทุนภาคเอกชน อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ และลดทอนผลกระทบด้านลบจากปัจจัยภายนอกได้บางส่วน”