หากใช้แฮชแท็กฮิต #10yearschallenge กับแวดวงออนไลน์ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ สะท้อนจากปี 2552 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย อยู่ที่ 16.1 ล้านคน มาในปี 2562 ขยับไปอยู่ที่ 45.2 ล้านคน เมื่อมองไปที่สื่อโซเชียลมีเดีย 10 ปีก่อนมีเพียง Hi5 ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มยักษ์ต่างชาติเข้ามายึดตลาดไทย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์
ขณะที่ “ผู้เล่น“ ในตลาดอีคอมเมิร์ซ เมื่อปีก่อนต้องบอกว่า “ไม่มี“ รายใดทำตลาดชัดเจน แต่หากนับจำนวนผู้เล่นที่แอคทีฟในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสปีนี้ ต้องบอกว่าเป็นระดับโลกทั้งสิ้น ที่เข้ามาทำตลาดไทยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล รวมทั้งแบรนด์ไทยอย่าง ตลาดดอทคอม เทพช็อป
จากการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ที่ราว 8-10% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนการเติบโตของตลาดออนไลน์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
B2C ไทยอันดับ 1 อาเซียน
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ได้เริ่มจัดเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2557 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท เติบโต 10.4% ล่าสุดปี 2561 มูลค่าพุ่งไปที่ 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 14.0%
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย การพัฒนาเครื่องมือสื่อสาร และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยราคาที่ถูกลง ส่งผลประชากรออนไลน์ไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 45 ล้านคน ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโต ทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายทางออนไลน์ รวมทั้งแพลตฟอร์ม “อี–มาร์เก็ตเพลส” ในไทยและต่างประเทศที่แห่เข้ามาขยายธุรกิจจำนวนมาก
สำหรับปี 2561 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ที่ 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ตลาด B2B มูลค่าสูงสุดที่ 1.71 ล้านล้านบาท เติบโต 13.55% จากการที่ธุรกิจเพิ่มช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตลาด B2C มูลค่า 8.56 แสนล้านบาท มาจากการขยายตัวของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และ B2G (ธุรกิจกับภาครัฐ) มูลค่า 5.72 แสนล้านบาท เติบโต 15.5% ถือเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุด เนื่องจากภาครัฐประกาศใช้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
ไทยถือเป็นประเทศตลาดอีคอมเมิร์ซ B2C สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 10 ชั่วโมง เรียกได้ว่าสูงติดอันดับโลก
หากโฟกัสที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ปี 2561 ในกลุ่มผู้ประกอบการ B2B อันดับ 1 คือ กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกออฟไลน์ ห้างสรรพสินค้า ที่มุ่งสู่ออนไลน์ รูปแบบ O2O ปีก่อนมีมูลค่า 3.56 แสนล้านบาท เติบโต 11.3% อันดับ 2 คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งผลิตผลทางการเกษตรและประมง มูลค่า 2.03 แสนล้านบาท เติบโต 10.3% ส่วนอันดับ 3 คือ เครื่องสำอางและอาหารเสริม มูลค่า 1.51 แสนล้านบาท เติบโต 3.8%
ปี 62 อีคอมเมิร์ซทุบสถิติโตสูงสุด
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เชื่อว่าปี 2562 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตได้ที่ 20% มีมูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท และถือเป็นอีกปีของการสร้างสถิติเติบโตสูงสุดต่อเนื่องจากปีก่อน
หากมองโอกาส “อีคอมเมิร์ซ” ไทยหลังจากนี้ เชื่อว่ายังไปต่อได้ จาก 5 ปัจจัย
1. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ กว่า 124 ล้านเบอร์ นั่นเท่ากับกว่า 1 คนมีมากว่า 1 เบอร์ การเติบโตของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ที่ 52 ล้านราย ไลน์ 44 ล้านราย อินสตาแกรม 13 ล้านราย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนตลาด “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ในไทยให้ขยายตัวต่อ โดยคนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ เป็นอันดับสองรองจากอีมาร์เก็ตเพลส
เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้ซื้อขายออนไลน์มากที่สุด เนื่องจากซื้อง่าย อำนาจต่อรองเป็นของลูกค้า การขายสินค้าออนไลน์และจ่ายเงินผ่านออฟไลน์ได้ ทำให้มีตัวเลือกมากขึ้น
2. การปรับตัวของผู้ประกอบการค้าปลีก เชื่อมแพลตฟอร์มออฟไลน์สู่ตลาดออนไลน์ (O2O) ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าค้าปลีกรายใหญ่วางกลยุทธ์การทำตลาดรูปแบบ “ออมนิ แชนแนล” เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ทุกช่องทาง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล จับมือร่วมทุนกับ JD.Com เพื่อรุกตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ที่จะเห็นการแข่งขันของอีมาร์เก็ตเพลสรายอื่นๆ ทำตลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน
3. ปีที่ผ่านมาพบว่า “ช่องทางการชำระเงิน” สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย 5 อันดับแรก คือ
- บัตรเครดิต/เดบิต 42.69%
- อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแอป 27.23%
- คิวอาร์โค้ด 10.57%
- จ่ายเงินผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร 10.46% และ
- เก็บเงินปลายทาง (COD) 7%
ช่องทางการจ่ายเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งและโมบายแอป ที่สัดส่วน 27.23% มาเป็นอันดับ 2 ถือเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซให้เติบโต เพราะสะท้อนมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนต์ของนักช้อปออนไลน์ที่พบว่ามีทุกวัย กลุ่มใหญ่สุด คือกลุ่มคนวัยดิจิทัลที่เติบโตมากับเทคโนโลยี แต่กลุ่มคนสูงวัยก็พร้อมจับจ่ายผ่านช่องทางนี้เช่นกัน
4. ระบบการขนส่ง ที่รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความนิยมซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ด้วยรายได้ผลประกอบการปีที่ผ่านมา 2.7 หมื่นล้านบาท มีการปรับตัวเพิ่มเซอร์วิสใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น บริการเก็บเงินปลายทาง
ขณะที่ในตลาดขนส่งพัสดุ มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่ทำตลาดได้โดดเด่นด้วยบริการ “ส่งด่วน” อย่าง “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการออนไลน์ใช้บริการ ปี 2560 เคอรี่ทำรายได้ 6,000 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจขนส่งพัสดุ ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในประเทศ กลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาขยายบริการโลจิสติกส์ในไทยมากขึ้นและช่วยให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต จากการมีตัวเลือกมากขึ้น
5. ช่องทางการตลาดออนไลน์ ในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ มีความหลากหลาย และผู้ประกอบการทุกรายทั้งรายเล็กและรายใหญ่ สามารถใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน
โดย 5 อันดับเครื่องมือการทำตลาดออนไลน์ ของกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ (มีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป) คือ
- เฟซบุ๊ก 30.61%
- กูเกิลและยูทูบ 29.93%
- ไลน์ 14.29%
- สื่อโฆษณาออนไลน์ไทย 13.61% และ
- เสิร์ช 7.48%
ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นิยมใช้งบประมาณทำการตลาดออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กสูงสุด 93.94% ทั้งรูปแบบของการ Boost Post และ Boost Ads เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รองลงมาเป็นไลน์ 3.09% กูเกิล 1.48% ยูทูบ 1.34% อินสตาแกรม 0.15% และเสิร์ช 0.01%