พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อย โดยผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะสามารถใช้ได้จริง
สำหรับสาระสำคัญใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นสำคัญ รวมทั้งมีการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วย โดยในส่วนการแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานด้านดาวเทียมทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำหน้าที่แทนรัฐในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ เป็นการเปิดกว้างให้มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์ดาวเทียมที่หลากหลาย ลดการผูกขาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะเดียวกันกฎหมายยังมีการกำหนดสัดส่วนการให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งต้องจัดให้มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือภาคประชาชน รวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีการแก้ไขการถอดถอน กสทช. จากเดิมผ่านการ ลงมติของวุฒิสภา เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาหรือส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
ส่วนเนื้อหาที่มีการแก้ไขในส่วนอื่นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญฯ นั้น มีเรื่องการจัดเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้กรณีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ และหากมีการโทรศัพท์ก่อกวนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี ทำให้เกิด การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม ซึ่งต่อไปคลื่นความถี่จะสามารถนำมาใช้ ข้ามอุตสาหกรรมได้ ไม่จำเป็นเฉพาะเจาะจงว่าเป็นคลื่นที่ประมูลมาเพื่อใช้ในกิจการใดกิจการหนึ่งแต่เพียง อย่างเดียว หากคลื่นความถี่นั้นถูกกำหนดในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ให้สามารถใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะเริ่มแรกยังไม่มีผลใช้บังคับ จนกว่า กสทช. จะเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีผลใช้บังคับใช้ต่อไป