GENGI GRAIN Contest 2019 เฟ้นหาสุดยอดสูตรขนมอบจากแป้งข้าวหอมมะลิ จัดแข่งขันทำขนมอบจากแป้งข้าวหอมมะลิ

กว่า 25 ปีที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากปลายข้าวหอมมะลิที่ได้จากกระบวนการสีข้าว ด้วยการแปรรูปเป็นแป้งข้าวหอมมะลิสำหรับใช้ทดแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยมุ่งหวังที่จะลดปริมาณการใช้แป้งสาลีและลดการนําเข้าแป้งสาลีจากต่างประเทศ ในปี 2561 ที่ผ่านมา สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ KAPI ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Thailand 4.0 ภายใต้โครงการชื่อ การพัฒนาการผลิตแป้งข้าวและแป้งข้าวผสมสำเร็จรูปสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ ในระดับโรงงานต้นแบบ (ระยะที่ 2) ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งข้าวหอมมะลิเพื่อการพาณิชย์ เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวและธัญพืช ภายใต้ชื่อ GENGIGRAIN (เก็ง-กิ-เกรน) ซึ่งแป้งข้าวหอมมะลิเป็นแป้งทำขนมที่เหมาะกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยที่ ผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ และผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน เนื่องจากแป้งข้าวหอมมะลินั้นปราศจากกลูเตน และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างแก่ผู้ที่ชื่นชอบการทำขนมอบและเจ้าของกิจการร้านเบเกอรี่

ทางสถาบันฯ จึงได้จัดการแข่งขันการพัฒนาสูตรขนมอบจากแป้งข้าวหอมมะลิขึ้นในงานเกษตรแฟร์ 62 โดยมีผู้ที่สนใจสมัครเข้าแข่งขันกว่า 20 ทีม และได้คัดเลือกผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายเพียง 3 ทีม เข้าร่วมแข่งขันในรอบตัดสิน โดยทั้ง 3 ทีม ได้แก่ ทีมแมวหมีหมา ที่มาพร้อมกับเมนู เค้กส้มแป้งข้าวหอมสูตรเด็กหอ, ทีม Baked กับเมนู รังทองทับทิมไทย และทีม Blueberry Crumble Muffin ที่ใช้ชื่อเมนูเดียวกับชื่อทีม เมนู Blueberry Crumble Muffin แม้จะเป็นการแข่งขันเล็กๆ แต่ก็อบอวลไปด้วยความสนุกและเป็นกันเอง อีกทั้งยังได้กรรมการกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน ได้แก่ คุณกัลยกร เมฆวิไล นายกสมาคมเบเกอรี่ (ประเทศไทย), คุณนลัท จิรวีรกูล หรือ เชฟลัท เชฟขนมหวานชื่อดัง และ ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ ผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มาเป็นกรรมการตัดสินในครั้งนี้

ทั้ง 3 ทีม มีเวลาในการทำขนมอบ 1 ชั่งโมง 30 นาที เมื่อเริ่มการแข่งขันแต่ละทีมก็ต่างลงมือทำขนมจากแป้งข้าวหอมมะลิ GENGIGRAIN (เก็ง-กิ-เกรน) โดยทั้ง 3 ทีม ต่างขนอุปกณ์และงัดเทคนิคความอร่อยมาแข่งขันกัน และยิ่งตอนที่แป้งเข้าเตาอบได้ที่แล้ว กลิ่นหอมของความอร่อยก็โชยไปทั่วบริเวณแข่งขัน ทำเอาผู้เข้าชมต่างร่วมลุ้นหน้าตาและความอร่อยของขนมจากผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ทีม และเมื่อครบกำหนดเวลา ทั้ง 3 ทีมต้องนำขนมมาให้กรรมการได้ชิมพร้อมกับพรีเซนต์ถึงแนวคิดคอนเซปต์ เทคนิคในการทำขนมที่เลือกมาใช้ในการแข่งครั้งนี้

ซึ่งผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ได้แก่ทีม ทีม Baked กับเมนู รังทองทับทิมไทย ที่กรรมการลงความเห็นว่า มีความคิดสร้างสรรค์ดี องค์ประกอบของขนมมีการคิดมาอย่างดี มีการจับส่วนประกอบที่เป็นของไทยและของต่างชาติมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ในเรื่องของการจัดจานเหมือนขนมที่เสิร์ฟในภัตตาคาร โดยได้รับโล่ห์รางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท จาก ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ด้าน ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ ผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลเกษตรฯ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้เห็นว่ามีคนให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขันพัฒนาขนมอบจากผลิตภัณฑ์แป้งข้าวหอมมะลิ GENGIGRAIN ตนในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิจัยพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร อยากให้คนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพันธุ์พืชของไทย เพื่อช่วยชาวนาไทยให้มีรายได้ มุ่งหวังที่จะลดปริมาณการใช้แป้งสาลีและลดการนําเข้าแป้งสาลีจากต่างประเทศ และช่วยส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ไปสู่ในเชิงพาณิชย์ได้ตามนโยบาย Thailand 4.0”

คุณกัลยกร เมฆวิไล นายกสมาคมเบเกอรี่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ถือเป็นมิติใหม่ของวงการขนมอบ ที่เราได้มีขนมอบที่ทำจากข้าวหอมมะลิของไทยเราเอง ซึ่งนอกจากจะอร่อย ความหอมจากตัวแป้งข้าวหอมมะลิ และมีประโยชน์แล้ว เรายังได้ช่วยเกษตรกรของไทยอีกด้วย ตนจึงอยากส่งเสริมให้ผู้ที่ชื่นชอบการทำเบเกอรี่หรือเจ้าของร้านเบเกอรี่ ได้ลองหันมาใช้แป้งข้าวหอมมะลิในการทำขนม เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพราะแป้งข้าวหอมมะลิ GENGIGRAIN ไม่มีกลูเตน เหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจบันที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพแต่ยังต้องการความอร่อยเหมือนเดิม”

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวหอมมะลิ GENGIGRAIN สามารถติดต่อได้ที่ งานส่งเสริมการตลาดและสื่อสารองค์กร สถาบันผลิตผลเกษตรฯ : แบรนด์ GENGI GRAIN โทร. 080-919-8616 อีเมล์ [email protected]