“เทศกาลบอลลูน” สูตรปั้น Love Destination ของ “สิงห์ปาร์ค”

การท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่ใหญ่โตมโหฬาร เฉพาะปี 2018 ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท และคนไทยเที่ยวไทยด้วยกันเองอีกราว 1 ล้านล้านบาท

แต่ถึงจะมีน่านน้ำขนาดใหญ่ที่ใครๆ ก็แทรกตัวเข้าไปอยู่ได้ หากยุคนี้การจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปยังสถานที่นั้นๆ และมีชื่อเสียงโด่งดังจนนักท่องเที่ยวอยากไป นอกจากสถานที่แล้วอีเวนต์คือแรงดึงที่ขาดไปไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่ ต้องแตกต่างจากคนอื่น ไม่จัดซ้ำกันจนดึงนักท่องเที่ยวกันเอง

สูตรที่ว่านี้คือสูตรที่สิงห์ปาร์คทำอยู่ ซึ่งแต่ละปีจะมีการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ได้ แต่ Singha Park Chiangrai Farm Festival On The Hill ที่มักจะจัดในช่วงปลายปี และ Singha International Balloon Fiesta ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละงานก็ถูกวางเป้าหมายต่างกัน

อย่าง “Farm Festival” ก็เป็นการกระตุ้นช่วงต้นฤดูการท่องเที่ยวของเชียงราย ซึ่งจริงๆ แล้วจะว่าไปเทศกาลดนตรีในเมืองไทยก็มีอยู่หลายงานใหญ่ และมักจะจัดในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นความน่าสนใจอยู่ที่ “Balloon Fiesta” หรือเทศกาลบอลลูน

พงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด อธิบายว่าเทศกาลบอลลูนเกิดขึ้นเพราะต้องการให้ฤดูกาลท่องเที่ยวไฮซีชั่นของเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองรองขยายออกไปอีก จากเดิมที่นักท่องเที่ยวจะหนาแน่นในฤดูหนาวที่กินเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนมกราคม แต่ต้องการขยายไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ด้วย

เพียงแต่การจะมีแค่บอลลูน ซึ่งปรกติคนไทยก็ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนักอย่างเดียว ก็อาจไม่ดึงดูดและสร้างการจดจำที่เพียงพอ จึงต้องคิดคอนเซ็ปต์ให้โดดเด่น ประกอบกับเดือนกุมภาพันธ์มี 1 วันที่คนรู้จักกันดีคือ วันที่ 14 หรือวันแห่งความรัก จึงได้นำมาร่วมกันและวางเทศกาลบอลลูนเป็น “Love Destination”

เพราะภายในงานจะมีการจัดเลือกคู่รัก มาจดทะเบียนสมรส ณ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ในช่วงเช้า ทั้งยังได้ขึ้นบอลลูนไปตะโกน ”บอกเลิฟกับคนรัก” บนท้องฟ้า แบบ Exclusive ชมความสวยงามของจังหวัดเชียงรายแบบ 360 องศาในตอนสายๆ ซึ่งในปี 2019 มีทั้งหมด 20 คู่ด้วยกัน ด้าน “บอลลูนแฟนซี” หลากหลายสีสันที่สวยงามมีทั้งหมด 35 ลูก จาก 13 ประเทศทั่วโลก โดยมีการแข่งขันบอลลูนนเพื่อชิงถ้วยรางวัลและเงินรางวัลกว่า 500,000 บาทด้วย

การแข่งขันบอลลูนไม่ได้เน้นแข่งอย่างจริงจัง แต่ต้องการเอนเตอร์เทนคนดูและให้มีส่วนร่วมด้วย สังเกตได้เลยบอลลูนไม่ได้ไกลจากคนที่มาดูมากนัก

นอกการบอลลูนแล้วยังได้เพิ่มกิมมิกของงานขึ้นมาอีก 2 กิจกรรม ได้แก่ 1.การแสดงโขนกลางแปลงแบบเต็มคณะ เรื่องรามเกียรติ์ ในตอนชื่อ “อินทรชิตแผลงศรนาคบาศ” มีผู้ร่วมแสดงกว่า 100 ชีวิต จากกลุ่มศิลปินวังหน้าในวันที่ 15 และ 16 กุมภาพันธ์ ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว

2.ร่วมกับศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรม มหัศจรรย์สีสันคนบนดอย นำศิลปะและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขา 9 เผ่า ในจังหวัดเชียงรายมาจัดแสดง แต่ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การแข่งขันกีฬาพื้นบ้านชนเผ่าจำนวน 11 ชนิดกีฬา “พงษ์รัตน์ บอกว่าสำหรับการแข่งขันกีฬาปีนี้ถือเป็นปีทดลอง หากเป็นไปด้วยดีอาจจะยกขึ้นมาเป็นอีกอีเวนต์แยกเลยก็ได้

ทั้งนี้ เทศกาลบอลลูนจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ใช้งบการจัดงาน 30 ล้านบาท คาดว่ามีทราฟฟิกตลอด 5 วันของการจัดงาน 300,000 คน เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกที่มีทราฟฟิกประมาณ 100,000 ราย.