เมื่อ ETDA ไม่ใช่แค่เสือกระดาษ กับบทบาทใหม่ในการเป็น Regulator

CEO ETDA แถลงนโยบายปี 62 นับถอยหลังยุคเปลี่ยนผ่าน เตรียมสรรหาผู้อำนวยการใหม่ เผยทิศทางการขับเคลื่อนETDA ภายหลังพ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ประกาศ เดินหน้าเป็น Regulator ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล ฉีกบทบาทเดิม ประกาศกร้าว สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ e-Commerce ผุด Local Platform  “Young Talent” ไม่หวั่นกับการก้าวเข้ามาของบริษัทข้ามชาติ พร้อมโชว์ผลงานเจ๋ง เรียนรู้ไปกับ Young blood ภายใต้หลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร FEGO ที่ทำให้ผู้ใหญ่ระดับ  High-Levelไม่กลัวเทคโนโลยี

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDAกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายในงาน ETDA Open House Open Heart เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชน พร้อมทั้งเปิดใจเล่าถึงการเตรียมความพร้อมรับความท้าทาย ยกระดับการทำงานตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ฉบับใหม่ สร้างสมดุลการกำกับและส่งเสริมธุรกิจ กับการเป็น regulator ธุรกิจบริการดิจิทัลในปี 2562 มีการเตรียมความพร้อมองค์กร เพื่อรองรับผู้บริหารใหม่ และภารกิจที่สำคัญ บทบาทที่ท้าทาย มีหน้าที่ในการกำกับดูแล เป็น regulator การทำธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับ electronic transaction พร้อมยกระดับการทำงานตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมฯ ฉบับใหม่ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน รวมถึงกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมฯ ตามกฎหมาย วิเคราะห์และรับรองมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง

ความท้าทายในอำนาจที่ทับซ้อนของหน่วยงานหลายหน่วยงาน

ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy หากพิจารณาบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะพบว่า สิ่งที่รัฐควรต้องเร่งดำเนินการ คือการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานในการผลักดันให้รัฐเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและปรับรูปแบบการทำงานของรัฐเองให้เป็น Digital government ซึ่งบทบาทอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหลายหน่วยงานบางส่วนยังคงมีความทับซ้อน ซึ่งในส่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….  ที่ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ นั้น สพธอ. ทำหน้าที่ด้านการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ เพื่อรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Digital ID โดยการ Regulate ที่จะเป็นการออกมาตรฐานนั้น อาจจะมีความคาบเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของ Open Government และการทำ Data Sharing รวมถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะด้วย จึงต้องมีการวางบทบาทที่ชัดเจนโดยดึงจุดเด่นของแต่ละหน่วยงานเพื่อทำงานร่วมกัน โดยในส่วน สพธอ. เน้นการทำ Recommendation ด้านมาตรฐาน และในการเป็น Regulator ที่แม้ว่าจะต้องทำในบทบาทเชิง Regulate  แต่ต้องการทำให้การregulate ทำในเชิง Promote ซึ่งภารกิจทั้งหมดจะถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้ Secure Environment ที่ครอบคลุมเรื่อง Data Protectionและ Cybersecurity ที่มีร่างกฎหมายเฉพาะเข้ามาดูแล

บทบาทใหม่ในการขับเคลื่อนการเป็น Regulator ธุรกิจบริการ

ด้วยบทบาทที่เพิ่มเติมของ ETDA ซึ่งมีภารกิจในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันมีอย่างน้อย 2 ธุรกิจบริการที่ควรผลักดันให้มีการกำกับดูแลโดยเร็ว เรื่องแรกได้แก่ การกำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากการยกระดับของผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างระบบในทางเทคนิคของผู้ให้บริการแต่ละราย โดยธุรกิจบริการดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ส่งผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ธุรกิจบริการที่ 2ได้แก่ การให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อขั้นตอนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นต้องดูและเพื่อให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวมีระบบที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย

การสร้าง Regulatory sandboxes ภายใต้ภารกิจของ ETDA

บทบาทของ ETDA ในมุมของ Digital Transformation จะเป็นหน่วยงานส่งเสริมการใช้นวัตกรรม (Innovation) สำหรับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในการบริหารและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดย ETDA เป็นผู้ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ทางด้านดิจิทัล รวมถึงพัฒนาข้อเสนอแนะที่สำคัญ แนวทางการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ และพัฒนาระบบต้นแบบพร้อมสนามทดสอบสำหรับทดลองการใช้งาน (Prototype and Sandbox)  เพื่อให้การบริหารและการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีประสิทธิภาพ คุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ อีกทั้งตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานในระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ด้วย

การทำให้ผู้ใหญ่ระดับ High-Level (Policy Maker) ไม่กลัวเทคโนโลยี

เรียนรู้ไปกับ Young blood ภายใต้หลักสูตรที่ไม่เหมือนใคร FEGO

ETDA มีความมุ่งมั่นในการยกระดับความรู้ความสามารถของด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้บริหารในระดับนโยบายของประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี Disruptive technology จากเป้าหมายนี้จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “หลักสูตร Future Economy & Internet Governance Executive Program หรือ FEGO ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกภายใต้การดำเนินงานของ สถาบันเศรษฐกิจอนาคตและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต โดยมุ่งมั่นปลุก Spirit ให้กับผู้เข้าร่วมหลักสูตรซึ่งเป็นผู้บริหารที่มาจากทุกสาขา “Fighting Spirit เป็นการต่อสู้เพื่อให้ Survival (อยู่รอด)” ซึ่งหมายถึง การต้องสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนอกจากสปิริตของการต่อสู้แล้ว จำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังDisruptive ทุกคนอยู่ หลักสูตร FEGO จึงพัฒนาขึ้น โดยสร้างจุดเด่นและความแตกต่างที่ไม่เหมือนหลักสูตรอื่น ๆ โดยผู้เข้าอบรมสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีได้อย่างง่ายร่วมกับกลุ่ม Young Blood ในรูปแบบผลัดกันเรียน ผลัดกันสอน รวมไปถึงสามารถมองภาพกว้างและลงลึกกับเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อให้เกิดแนวคิดในการนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนระดับนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นบุคคลที่สำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ ได้รู้เท่าทันและไม่กลัวการใช้เทคโนโลยีอีกต่อไป

เป้าหมายสำคัญของหลักสูตร นำไปสู่การถอดบทเรียนลงเป็นตัวหนังสือ และคลิปวีดีโอ เพื่อเผยแพร่ส่งต่อสปิริตนั้นให้กับผู้ชมที่มากขึ้น และความตั้งใจในการสะท้อนข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากห้องเรียน FEGO ต่อรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศไทย จาก Transformation ยุค 4.0 ไป 5.0 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีการตรวจสอบที่ดี หรือมีระบบพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าเชื่อถือ และตรงนี้คือภารกิจหลักของการรักษาและเสริมจุดแข็งของ ETDA

บทบาทที่ท้าทายในการพัฒนา e-Commerce กับการก้าวเข้ามาของบริษัทข้ามชาติ

ความท้าทาย นอกเหนือจากการเข้ามาของบริษัทข้ามชาติแล้ว การสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย เป็นบทบาทที่ ETDAต้องการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นจากการใช้มือถือ เพื่อทำ e-Commerce โดยจากผลการสำรวจ Internet User Profile ในปีที่ผ่านมา การใช้มือถือและอินเทอร์เน็ต ในการทำ e-Commerce ขยับเป็น 1 ใน 5 ดังนั้น ความท้าทายคือ  ETDA จะทำอย่างไรให้คนหันมาใช้มือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือทำมาหากิน จึงมุ่งไปที่เศรษฐกิจดิจิทัลเรื่อง e-Commerce ซึ่ง ETDA มีการเก็บตัวเลขมูลค่า e-Commerce ต่อเนื่องมาหลายปีเพื่อให้หน่วยงาน หรือองค์กรอื่นนำไปใช้ต่อยอด โดยปีที่ผ่านมาโตถึง 14.04% ดังนั้น จะเห็นได้ว่า โอกาสของคนไทยอยู่ใกล้แค่ฝ่ามือ โดยการใช้มือถือสร้างรายได้ผ่าน e-Commerce แต่ในภาพใหญ่ จะเห็นได้ว่ามี e-Commerce Platform หรือที่เรียกว่า Global Platform เช่น Alibaba, Lazada, Shopee ซึ่งเป็นการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ประเทศไทยจึงควรมี Local Platform ของตัวเอง จึงเป็นที่มาของ Young Talent Platform ซึ่งเป็นที่ที่รวบรวมข้อมูลสินค้าและบริการ ไปจนถึงการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ e-Commerce และตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางที่ทั้ง Workforce และผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำไปใช้ต่อยอดและพัฒนาธุรกิจได้

ขณะเดียวกัน ก็ต้องมี SMEs Workforce เพื่อมาตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยตัว Workforce นี้จะทำหน้าที่สนับสนุน และเป็นตัวช่วยด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการถ่ายภาพ ด้าน Online Marketing ด้านการทำ Storytelling เป็นต้น ด้วยตัวเลข 1.2 ล้านราย เป็นตัวเลขเป้าหมายที่ ETDA ได้กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งบทบาทของ e-Commerce ที่ท้าทายคือ การริเริ่มให้เกิด Silicon Valley ด้าน e-Commerce ด้วยจุดที่ตั้งของ ETDA รายล้อมไปด้วย สถาบันการศึกษา  สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งอำนวยต่อการสร้าง e-Commerce Park อย่างครบวงจรด้วย

อย่างไรก็ตาม ในยุค Disruptive Technology ที่มีการเติบโตมูลค่า e-Commerce อย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งก็เกิดปัญหาจากการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยมีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212OCC ของ ETDA เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จากในปี 2560 มีจำนวน 9,987 ครั้ง เป็น 17,558 ครั้ง ในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ2 เท่า โดยพบว่า เกิดจากการซื้อสินค้าแต่ได้รับของไม่ตรงสเปก ผิดสี ผิดขนาด หรือไม่ได้รับสินค้า ยังมีผลกระทบในเรื่องการซื้อขายสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือไม่มีมาตรฐาน ทำให้ผู้ซื้อสินค้าได้รับอันตรายไปกระทั่งเสียชีวิต รวมถึงความยุ่งยากในการได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดปัญหา หรือแม้แต่การโฆษณาที่กำกับดูแลได้ลำบาก

Online consumer protection ปกป้องผู้บริโภคออนไลน์

ความท้าทายที่สำคัญ คือ การสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงการฟื้นฟูกลุ่มที่ถูกทำลายความเชื่อมั่นใน e-Commerce ที่ผ่านมา การรับเรื่องและการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงแนวทางจัดการที่ปลายน้ำ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งเพื่อลดการเกิดปัญหา คือ การพัฒนาแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่ต้นน้ำหรือในระดับเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เช่น การเฝ้าระวังและป้องกัน ก่อนเกิดปัญหา โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ หรือ Online Consumer Protection อย่างครบวงจร

เริ่มต้นจากการสร้างผู้ประกอบการที่ดี โดยกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างปลอดภัย ถูกกฎหมาย ลดความเสียหายที่เกิดขึ้น สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจ และสามารถสร้างเครือข่าย เสริมกำลังที่ช่วยกำกับดูแลกันเองได้ นอกจากนี้ ยังพัฒนาด้วยเครื่องมือกลไกทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่ให้บริการประชาชนได้ทุกมิติ และสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของปัญหาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะ Big Data รวมถึงการส่งเสริมความรู้การคุ้มครองผู้บริโภคทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ข้อมูลคนไทยไปอยู่กับต่างชาติมานานแล้ว เรายังจะยอมอยู่หรือ?

นางสุรางคณา กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ข้อมูลคนไทยในลักษณะที่เป็น Big Data อยู่กับแพลตฟอร์ม e-Commerce ต่างชาติมาโดยตลอด ซึ่งเราถูกต่างชาติใช้ประโยชน์และหารายได้จากข้อมูลคนไทย โดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษี และไม่รู้ว่าถูกต้องตามกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ แล้วประเทศไทยเราจะออกมาตรการเพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างไร? และเนื่องจากการมี Big Data จะทำให้เรารู้ว่าพฤติกรรมผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นอย่างไร โดยสามารถนำการวิเคราะห์พฤติกรรมนี้ไปต่อยอดเพื่อการส่งเสริม พัฒนา ป้องปราม และป้องกัน ในเรื่องการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ อีกทั้ง การมีแพลตฟอร์มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคคนไทยเพื่อให้เรามีข้อมูล Big Data เป็นของคนไทย และให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้  อย่างไรก็ตาม การสร้าง Big data ด้าน e-Commerce จะตอบโจทย์ได้หรือไม่ เป็นข้อท้าทายของ ETDA ในบทบาทใหม่ต่อไป