ตามที่คณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บอร์ดทอท. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3 / 2562 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้สิทธิและ เห็นชอบแนวทางในการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.โดยให้แยก 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน และเห็นชอบหลักการในการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท.เสนอ ทั้งนี้ ให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ตรวจสอบข้อกำหนดและตรวจสอบละเอียดฯ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ก่อนที่จะดำเนินการประกาศต่อไป โดยไม่มีรายละเอียดของหลักการ TOR แต่อย่างใด
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า ต้องขอชื่นชมคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บอร์ดทอท.ที่รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอและขอชื่นชมในมติที่ให้ความเห็นชอบแนวทางในการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.โดยให้แยก 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ กิจการทั้งสามส่วน ได้แก่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) แม้ว่าจะเป็นกิจการที่มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ก็มีลักษณะของธุรกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งธุรกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะในกลุ่มสินค้าแต่ละกลุ่ม ในขณะที่ ส่วนของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) เป็นธุรกิจบริการที่มาส่งเสริมให้การเดินทางช่วงผ่านสนามบินเป็นไปอย่างมีความสุขสนุกสนาน เกิดความประทับใจ
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีรายละเอียด TOR ของกิจการทั้งสามส่วนดังกล่าว สมาคมฯใคร่ยืนยันตามข้อเสนอที่ได้นำส่งให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมาว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะกำหนดเกณฑ์เงื่อนไขสัมปทานดิวตี้ฟรีสำหรับสนามบินสุวรรณภูมิเป็นแบบรายเดียว (Master Concession) ตามที่ ฝ่ายบริหาร ทอท. ได้เคยประกาศและให้ข่าวมาก่อนหน้านี้ ทางสมาคมฯ ได้มีการนำเสนอถึงข้อดีของการกำหนดเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า(Concession by Category) มาตลอด และได้มีการยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาข้อเสนออย่างรอบคอบ ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังคงยืนยันที่จะนำเสนอให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านรับทราบถึงข้อดีของการสัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้าซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับสนามบินสุวรรณภูมิที่ด้วยพื้นที่ของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีขนาดใหญ่และจำนวนผู้โดยสารที่มีจำนวนมาก เพื่อให้มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชาชน ทั้งนี้สมาคมยังคงย้ำชัดถึงการใช้ระบบสัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า เช่น หมวดเครื่องสำอาง หมวดสุราและบุหรี่ หมวดสินค้าแฟชั่น จะทำให้มีความหลากหลายของสินค้า สินค้ามีคุณภาพและไม่ถูกจำกัด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตมากขึ้น จากการที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าถูกใจได้มากขึ้น รวมทั้งเชื่อว่าสามารถนำเงินเข้าประเทศได้มากขึ้น 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากการเพิ่มอัตราการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการดึงคนไทยให้กลับมาใช้จ่ายในประเทศนั่นเอง
นอกจากนี้สมาคมฯ ยังมีความเห็นว่า การจะกำหนดหลักเกณฑ์ TOR โดยจะรวม ร้านค้าปลอดอากร (Duty Free)ของสนามบินสุวรรณภูมิรวมเข้ากับสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่งภายใต้การดูแลของ ทอท.ซึ่งได้แก่ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินภูเก็ตเป็นแนวทางที่สมาคมฯไม่เห็นด้วย ทั้งนี้สนามบินแต่ละแห่งมีลักษณะต่างกัน การกำหนดหลักเกณฑ์ก็ควรแยกจากกัน สนามบินภูมิภาค 3 แห่งดังกล่าว มีพื้นที่ขนาดเล็ก เพียง 1,000-1,200 ตร.ม. เท่านั้น ทางสมาคมฯเห็นด้วย หากทางฝ่ายบริหาร ทอท.จะนำสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง คือ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินภูเก็ต รวมกันเป็นสัมปทานเดียวแล้วนำออกมาประมูลซึ่งอาจจะ กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรเป็นสัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เพราะมีขนาดเล็ก
แต่สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 12,000-15,000 ตารางเมตร และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากปีละมากกว่า 60 ล้านคน ควรกำหนดหลักเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category)มากกว่าการกำหนดให้เป็นสัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรม ทางสมาคมฯมีความเห็นว่าสัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า(Concession by Category) ไม่ได้มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการแม้ว่าจะมีผู้ได้รับสัมปทานมากราย หากมีการบริหารจัดการล่วงหน้าที่ดี มีการจัดสรรพื้นที่ตั้งร้านค้าตามหมวดหมู่สินค้าให้เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของอาคารผู้โดยสารและเส้นทางการเดินของผู้โดยสาร (Passenger Flow) การกำหนดหลักเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) จะทำให้เกิดความง่ายในการบริหารมากกว่า เพราะผู้ประกอบการมีความเชี่ยวชาญแต่ละกลุ่มสินค้า จะทำให้เกิดความหลากหลายและถูกใจนักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านี้ ปัจจุบันผลงานดำเนินงานของ ทอท.ในส่วนกิจการร้านค้าปลอดอากรและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ การกำหนดหลักเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้าเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะทำให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อฝ่ายบริหาร ทอท. มาดำเนินการบริหารสัมปทานเองแบบหมวดหมู่สินค้า แทนที่จะมอบหมายให้สัมปทานรายเดียว ค่าธรรมเนียมที่ ทอท. จะได้ก็จะเทียบเท่ามาตรฐานสากลคือ เฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 30%-40% แทนที่จะได้เพียง 15%-18% อย่างเช่นทุกวันนี้
ในประเด็นเรื่อง การเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick Up Counter) สมาคมฯใคร่เรียกร้องให้ ทอท. เป็นผู้ดำเนินการให้บริการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ โดยไม่ต้องเปิดสัมปทาน หรือ หากจะให้สัมปทานควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเข้าประมูลสัมปทานในกรณีนี้ต้องไม่ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือมีส่วนได้เสียในสัมปทานร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) เพราะผู้ที่ได้สัมปทานที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในสนามบินอาจจะสามารถล่วงรู้ข้อมูลของผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่เป็นคู่แข่งคู่แข่ง จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน สมาคมฯมีความเห็นว่า ฝ่ายบริหาร ทอท ควรเป็นผู้ดำเนินการจุดรับมอบสินค้าสาธารณะเอง ทั้งนี้ ทอท. จะได้กำหนดการวางระบบการติดต่อข้อมูลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ กรมศุลกากร ข้อมูลการรับเข้าและนำออกสินค้าปลอดอากรจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ข้อมูลการขายผ่านเครื่องเครื่องบันทึกการขายจากร้านค้าปลอดอากร จนถึงจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและแสดงถึงความโปร่งใสทุกขั้นตอนของการเคลื่อนย้าย
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยต่อจากนี้ จะยังคงเฝ้าจับตาสถานการณ์การประมูล รายละเอียดเงื่อนไขของการประมูล ตลอดจนกระบวนการในการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติและการเปิดซองประมูล และรวมถึงกระบวนการหลังการประมูล ทุกขั้นตอน ที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรมและ ตรวจสอบได้ สมาคมฯขอย้ำจุดยืนที่ชัดเจนมาตลอดว่า ไม่ว่าผลของการประมูลจะเป็นอย่างไร สมาคมฯยังคงยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ