รพ.บำรุงราษฎร์ ฝ่ากระแส Technology Disruption พลิกโฉมวงการแพทย์สู่ Smart Hospital อย่างสมบูรณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

วิสัยทัศน์ที่จะให้การบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก (World-class holistic healthcare) ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รพ.บำรุงราษฎร์ได้มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการยกระดับการบริบาลทางการแพทย์ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านนวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ประสิทธิผลของการดำเนินงาน เพื่อให้ทันกับภาวะการณ์อยู่ตลอดเวลา โรงพยาบาลมีการเปิดรับนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาปรับใช้ทางการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่สร้างความแตกต่างให้กับโรงพยาบาล ในการคงความเป็นผู้นำในธุรกิจด้านสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับกระแส Technology Disruption กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมบนโลก ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มี Technology Disruption อย่างชัดเจนก็คือ ธุรกิจสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อาทิ การวินิจฉัยโรคโดยใช้ AI การใช้แพลตฟอร์มต่างๆ หรือแม้แต่การใช้ Big Data ร่วมด้วย เป็นต้น

รพ.บำรุงราษฎร์ จึงประกาศวิสัยทัศน์การทำงานตอกย้ำการเป็นผู้นำ World-class holistic healthcare ที่สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ภายในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินงานไว้ใน 5 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นให้ความสำคัญใน 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย 1. การปรับเปลี่ยนจากการรักษาผู้ป่วย เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Care) 2. การประมวลข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ของการบริบาลอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม (Big Data), ตลอดจนการนำเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์เข้ามาปรับใช้ (Artificial Intelligence) และประการสุดท้าย 3. การเชื่อมโยงระหว่างกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องคน เทคโนโลยี และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (Connected, Team)

เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร (CEO) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่จะทำให้โรงพยาบาลก้าวไปสู่การเป็น World-class holistic healthcare ได้จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) มาใช้เพื่อสุขภาพเชิงรุก (Proactive) ซึ่งให้ผลดีกว่าการตั้งรับรักษาอาการเจ็บป่วย (Reactive) โดยเทคโนโลยีต่างๆ ที่โรงพยาบาลนำมาใช้จะคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient Centric) รวมถึงนำระบบบริหารจัดการในลักษณะ Operational Excellence มาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนไข้มากที่สุด (Patient Safety)

โดยในส่วนของเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีรายละเอียดดังนี้

Holistic Care การดูแลสุขภาพต่อไปในอนาคต รพ.บำรุงราษฎร์ได้มุ่งเน้นไปที่การดูแลเชิงป้องกัน (Prevention) ไม่ให้เกิดโรค เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Next-Generation Sequencing Technology (NGS) ช่วยให้สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงในการโรค (Prediction) เช่น สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ DNA หาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง หรือความเสี่ยงการแพ้ยาบางชนิด รวมถึงการนำมาใช้ในการตรวจรักษาโรคได้อย่างแม่นยำและจำเพาะต่อตัวบุคคล (Precision and Personalization) เพื่อให้เข้าใจถึงรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละราย (DNA Wellness) ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดแนวทางการรักษาเพื่อดูแล รวมถึงส่งเสริมสุขภาพที่ดีและเหมาะสมที่สุดแก่ตัวผู้ป่วย โดยในส่วนนี้โรงพยาบาลได้ทำงานร่วมกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (VITALLIFE) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบการดูแลรักษาสุขภาพที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น

Big Data, Artificial Intelligence ด้วยเจตคติและจุดมุ่งหมายที่โรงพยาบาลมุ่งมั่นในการเป็นผู้บุกเบิกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง และด้วยพันธมิตรในนานาประเทศ ทำให้บำรุงราษฎร์สามารถจับแนวโน้มใหม่ๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพได้ โดยได้นำนวัตกรรม AI และเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ปลายปีที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ได้ร่วมมือกับ BIOTIA ผู้นำสตาร์ทอัพด้านบริการเทคโนโลยีสุขภาพ สหรัฐอเมริกา ในการเก็บข้อมูลและค้นคว้าวิจัย โดยอาศัย NGS Technology, Big Data เพื่อศึกษาปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและวาระเร่งด่วนระดับโลก โดยทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยได้มีตัวเลขประมาณการณ์ว่ามีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ราย และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 ราย หรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยา ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาได้ช่วยยกระดับความสามารถในการตรวจและวิเคราะห์เชื้อก่อโรคได้รวดเร็วและแม่นยำ มีส่วนสำคัญทั้งในด้านผลการรักษา การป้องกันเชื้อดื้อยา ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยทั่วไปพอมีการติดเชื้อ แพทย์จะสั่งตรวจหาเชื้อก่อโรคจากเลือดหรือสิ่งส่งตรวจอื่น เช่น ปัสสาวะ ซึ่งต้องอาศัยการเพาะเชื้อ เป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน ในระหว่างนั้นแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งครอบคลุมในวงกว้าง เมื่อได้รับผลเพาะเชื้อแล้ว จึงสามารถลดหรือปรับเปลี่ยนยาให้จำเพาะต่อเชื้อได้ แต่เมื่อได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ใน รพ.บำรุงราษฎร์ สามารถทำให้ระบุเชื้อก่อโรคได้รวดเร็วภายใน 6 ชั่วโมง ทำให้ช่วยลดการใช้ยา และป้องกันปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาได้

IBM Watson เป็นเทคโนโลยี Cognitive Computing ที่จะเข้ามาช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งวินิจฉัยโรค และเสนอแนวทางการรักษาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ป่วย

และ ซีบรา เอไอ (Zebra AI) เป็น AI ที่ใช้ร่วมกับ CT Scan เพิ่มความแม่นยำในการอ่านข้อมูลทางด้านรังสีรักษา และสามารถตรวจได้ถึง 4 โรคได้ในครั้งเดียวกัน ประกอบด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เลือดออกในสมอง ไขมันพอกตับ และภาวะกระดูกแตก

Connected, Team การผนึกกำลังและเชื่อมโยงการทำงานในทุกๆ ฝ่ายร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็น Key Success ของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยในส่วนนี้จะมี New Core Value 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ Agility / Innovation / Caring ทั้งนี้ รพ.บำรุงราษฎร์ได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เข้ามาช่วยพัฒนาการสื่อสารในการเชื่อมโยงบุคลากรทางการแพทย์และทีมงานให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วย เพื่อการดูแลที่มีคุณภาพและตรงต่อความต้องการมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีอุปกรณ์เข้ามามีส่วนช่วย อาทิ Telehealth ซึ่งเป็น Communication platform ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่มีความสามารถและความชำนาญตรงต่อโรคและความต้องการของผู้ป่วยสามารถให้ความรู้และคำแนะนำที่ถูกต้องเข้าใจง่าย เข้าถึงได้ง่าย , Tele Medicine & Tele Consultation เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่ร่วมกับ iDoctor เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาผู้ป่วย และลดข้อจำกัดเรื่องการเดินทางและช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งสามารถเชื่อมต่อสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ (Referral Office) ที่มีอยู่ 40 แห่งทั่วโลกได้ด้วย และระบบ Remote Interpreter เป็นระบบที่เข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ล่ามในการแปลภาษาให้กับผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์การสื่อสารโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่กับแพทย์หรือผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ล่ามของทางโรงพยาบาลจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบการแปลความหมายที่ถูกต้องในทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการสื่อสารถึงข้อมูลในการรักษาที่ถูกต้องและครบถ้วน ผ่านการบริการที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

“ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่เราตัดสินใจเปลี่ยนระบบ Hospital Information System (HIS) ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อมต่อ Interface กับระบบต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ เพราะช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในแผนกต่างๆ ของโรงพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลเดียวกันของผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างง่ายดายและปลอดภัยในแบบเรียลไทม์“

นอกจากการดำเนินงานที่มุ่งเน้นใน 3 ส่วนหลักๆ แล้ว Core Value อีกอย่างหนึ่งที่ รพ.บำรุงราษฎร์ ให้ความสำคัญมาโดยตลอดระยะเวลา 39 ปีก็คือ การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพความปลอดภัยของผู้ป่วยสูงสุด

นายแพทย์กรพรหม แสงอร่าม ที่ปรึกษา CEO ด้านมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ป่วย กล่าวว่า รพ.บำรุงราษฎร์ มีนโยบายด้านคุณภาพและความปลอดภัยต่างๆ ภายในโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นศาสตร์แรกในแขนงเพื่อยับยั้งความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล และยังช่วยลดอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลได้อีกด้วย

ทั้งนี้ มีการนำระบบบริหารนิรภัย หรือ Safety Management System (SMS) ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการบินมาใช้ในโรงพยาบาล ประกอบไปด้วย นโยบายในเรื่อง Blameless ส่งเสริมให้บุคลากรได้รายงานเมื่อเปิดปัญหาที่เพื่อที่จะได้แก้ไขในเชิงระบบได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุด , Risk Management สามารถประเมิน และจัดการความเสี่ยงได้ล่วงหน้า, Assurance รับประกันคุณภาพผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก และ Safety Promotion เป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรในระบบเดียวกับ Crew Resource Management ที่ใช้ในธุรกิจสายการบินเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ การตรวจสอบระบบห้องแยกโรคแพร่เชื้อทางอากาศ การตรวจการส่งกำจัดของเสียของสารเคมีอันตราย ความปลอดภัยจากการใช้ยา การควบคุมคุณภาพของยา ตลอดจนการส่งมอบยาที่มีคุณภาพจนถึงมือผู้ป่วย โดยได้มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดยา (Pharmacy robot) สำหรับผู้ป่วยในมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท นับเป็นเทคโนโลยีการจัดการยาที่มีความแม่นยำสูง รวดเร็ว และช่วยป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการจัดจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยจะได้รับยาที่ถูกต้อง ถูกขนาด ถูกเวลา เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง ช่วยลดระยะเวลาการรอรับยา โดยมีแผนกำลังจะขยายการใช้หุ่นยนต์จัดยาสำหรับผู้ป่วยนอกภายในปลายปี 2562 อีกด้วย

เภสัชกรหญิงอาทิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ”การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล เราจะมองจากเทรนด์ และคุณภาพการรักษาผู้ป่วยเป็นหลักมากกว่า ดังนั้นเราจึงไม่มีข้อจำกัดในการใช้งบเพื่อลงทุนกับเทคโนโลยีการรักษาและบริหารจัดการในแต่ละปี ในทางกลับกัน เราจะมีวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อส่งมอบประสบการณ์รักษาพยาบาลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้แก่ผู้ป่วยของเราทุกคน”

อนึ่ง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2523 ปัจจุบันเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้วยขนาด 580 เตียง พร้อมมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทันตแพทย์ รวม Full Time และ Part Time รวม 1,300 คน และพนักงานอีกราว 4,000 คนคอยให้บริการ โดยมีผู้ป่วยนอกเข้ามารับบริการ ประมาณ3,000 คนต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติร้อยละ 50 และมีรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติร้อยละ 65