ตามที่มีสื่อมวลชนบางรายนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน 50 ไร่ และที่ดินที่ทำการ ของ บมจ.อสมท เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ โดยกล่าวถึงกรณีที่ บมจ.อสมท นำที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุ มาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ต้องดำเนินการตามประกาศของกรมธนารักษ์ โดยจะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนารมณ์และภารกิจหลักขององค์กรนั้น เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ บมจ.อสมท ส่วนสื่อสารองค์กร บมจ.อสมท จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
ประเด็นแรก ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของที่ดิน 50 ไร่ และที่ดินที่ทำการของ บมจ.อสมท ปัจจุบัน เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ในย่านรัชดา-พระราม 9 บมจ.อสมท ขอยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ บมจ.อสมท โดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ดังนั้น บมจ.อสมท จึงสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรได้ ซึ่งตามแนวทางการพัฒนาที่ดินที่ฝ่ายบริหารวางไว้ก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทฯ ซึ่งสามารถดำเนินธุรกิจ Broadcast และ Non Broadcast ได้ อีกทั้ง อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างโปร่งใส และดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลมาโดยตลอด
ประเด็นที่สอง บมจ.อสมท ขอยืนยันว่าแนวทางการพัฒนาที่ดินดังกล่าว สอดคล้องกับภารกิจ ซึ่ง บมจ.อสมท มีแนวความคิดที่จะพัฒนาที่ดินทั้งสองแปลงในรูปแบบผสมผสานหรือ Mixed Use โดยแบ่งโซนพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับธุรกิจของ บมจ.อสมท ในด้านสื่อสารเทคโนโลยีสมัยใหม่รองรับสังคมคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยการสื่อสารในการสร้างสรรค์ความเข้าใจในประเทศ และเป็นศูนย์รวมความร่วมมือในระดับนานาชาติ ในรูปแบบคล้ายคลึงกับ Digital Media City (DMC) และศูนย์การเรียนรู้ในด้านนวัตกรรม,เทคโนโลยีของต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคนไทยซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บมจ.อสมท จะนำที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ตามกรอบนโยบายแผนยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะวิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทางกายภาพและกฎหมาย กรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาตลาดในเบื้องต้น
ประเด็นที่สาม กระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งสองแปลง ดำเนินการด้วยความชัดเจนโปร่งใส ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ. 2556 (PPP) โดยเริ่มจากการ “เสนอโครงการ” ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเป็นเอกเทศ ตามรายละเอียดที่กำหนดในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และสาระสำคัญอื่นๆที่ทางที่ปรึกษาเห็นควร ฉะนั้นการที่ฝ่ายบริหารมีแนวทางให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการตลอดอายุสัญญา จึงเป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุน พ.ศ.2556
ทั้งยังดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 (Public Hearing) จำนวน 2 ครั้ง โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหัวหน้าส่วนราชการ และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มธุรกิจไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 2 ภายในเดือนเมษายน 2562 เพื่อนำความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประกอบการพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุด