พริ้นซิเพิล แคปิตอล เผยปี 2561 รายได้กว่า 2,700 ล้านบาท กำไรเพิ่ม 43.3% เปิดแผนธุรกิจปี 2562 หลังย้ายหลักทรัพย์สู่หมวดธุรกิจการแพทย์ ลุยขยายเฮลท์แคร์เต็มสูบ มั่นใจเติบโตระยะยาว

5 มีนาคม 2562 – พริ้นซิเพิล แคปิตอล เผยผลการดำเนินธุรกิจในปี 2561 มีรายได้รวม 2,722.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน มีอัตรากำไร (EBITDA) 368.7 ล้านบาท เติบโต 43.3% จากปีก่อน พร้อมกางแผนธุรกิจปี 2562 หลังย้ายหลักทรัพย์สู่หมวดธุรกิจการแพทย์ (Health Care Services) เดินหน้าขยายธุรกิจเฮลท์แคร์เต็มสูบ เล็งปักธงเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10 แห่งภายในปี 2562 และเป็น 20 แห่งใน ปี 2566 มุ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพิ่มการลงทุนในการเพิ่มพื้นที่ การให้บริการทางการแพทย์ และการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ เพื่อยกระดับโรงพยาบาล ในเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมจับมือพันธมิตรใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุ รับกระแสธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและผู้สูงอายุที่มีอัตราการขยายตัว อย่างต่อเนื่อง

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) และประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เปิดเผยถึงผลการดำเนินธุรกิจในปี 2561 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,722.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 21.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาล 2,084.6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 23.3% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน รายได้จากธุรกิจพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ 574.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 20.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และรายได้จากธุรกิจ อื่น ๆ 63.9 ล้านบาท ลดลง 10.0% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ทางด้านอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็น 368.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 43.3%

สาเหตุที่ธุรกิจโรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้จากโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ที่ได้ซื้อกิจการเข้ามาในช่วงต้นปี 2561 รวมทั้งรายได้จากโรงพยาบาล 4 แห่งที่มีอยู่เดิม ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช โรงพยาบาลปากน้ำโพ 1 โรงพยาบาลปากน้ำโพ 2 และโรงพยาบาลสหเวช ที่มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ นับว่ามีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากอัตราการเข้าพักในโครงการซัมเมอร์เซ็ท เอกมัย แบงค็อกเพิ่มขึ้น รวมทั้งธุรกิจให้เช่าอาคารสำนักงานอาคารบางกอกบิสซิเนสเซ็นเตอร์มีรายได้สูงขึ้นจากลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

ส่วนโครงการแมริออท เอ็คเซ็คคิวทีฟ อพาร์ทเมนท์ สาทร วิสต้า กรุงเทพฯ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงในช่วงกลางปี 2561 แต่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ก็มีรายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดร.สาธิต กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2562 หลังจากที่ ตลท. อนุมัติการย้ายหลักทรัพย์สู่หมวดธุรกิจการแพทย์ (Health Care Services) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ จะมุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยมีแผนจับมือพันธมิตรใหม่ทั้งในและต่างประเทศในการร่วมกันพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดรับกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ Healthcare 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยในปีนี้จะปรับสัดส่วนการดำเนินธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจโรงพยาบาล 85% และธุรกิจพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ 15% จากเดิมสัดส่วนธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ที่ 77% และธุรกิจพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ 23% ในปี 2561

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หลังจากนี้ จะมุ่งยกระดับโรงพยาบาลที่ดำเนินการทั้งหมดโดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ อาทิ เทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว แม่นยำ และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ทั้งในส่วนของการปฏิสัมพันธ์ (Interface) กับผู้รับบริการ การบริการลูกค้า รวมทั้งการบริหารจัดการในส่วนของสำนักงาน (Back Office) โดยจะเน้นการบริหารงานแบบ Shared Services กับโรงพยาบาลต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อให้เกิดมาตรฐานกลาง และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้านบัญชี การเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารสินค้าคงคลัง การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการด้านกลยุทธ์และการวิเคราะห์ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทรัพยากรเพื่อรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลในเครือข่ายในอนาคต

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทฯ จะมุ่งให้ความสำคัญ คือการเพิ่มพื้นที่การให้บริการทางการแพทย์ โดยการเพิ่มการลงทุนในการขยายโรงพยาบาลในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการปรับขยายอาคารที่มีอยู่เดิม หรือการสร้างอาคารใหม่ เพื่อรองรับการให้บริการกับลูกค้าหรือผู้รับบริการกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะมุ่งพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย การบริการที่ประทับใจ เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจสูงสุดในการเข้าใช้บริการต่างๆ แบบมีมาตรฐานสูงจากโรงพยาบาล ในเครือข่ายนั่นเอง

“ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยภายใน 3 ปีจากนี้ จะมีอัตราการเติบโต 5-7% ต่อปี การเติบโตจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการการดูแลรักษาพยาบาลที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มจะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยมากขึ้น โดยผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการยกระดับในการให้บริการและการเพิ่มอัตราการครองเตียงมากขึ้น นอกจากนี้ การที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้คาดว่าบริษัทประกันสุขภาพจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถเติบโตในระยะยาว” ดร.สาธิต กล่าวเสริม

ปัจจุบัน บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน)) มีโรงพยาบาลในเครือข่ายที่เปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่งใน 5 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาลปากน้ำโพ 2 จ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลพิษณุเวช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลสหเวช จ.พิจิตร โรงพยาบาลศิริเวชลำพูน จ.ลำพูน และโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ถนนบางนา-ตราด จ.สมุทรปราการ

นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคมจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ และอีก 1 แห่งที่จะเปิดให้บริการภายในปีนี้ ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จ.อุทัยธานี

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในเครือข่ายเป็น 10 แห่งภายในปี 2562 และเพิ่มเป็น 20 แห่งภายในปี 2566 โดยมุ่งเน้นไปในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะจังหวัดที่การบริการด้านการแพทย์ยังเข้าไปไม่ทั่วถึง หรือมีโรงพยาบาลเป็นจำนวนน้อย เพื่อช่วยเหลือภาครัฐในการรองรับความต้องการด้านบริการทางการแพทย์ของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี รักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ทันท่วงที โดยการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลจะขยายในรูปแบบเครือข่าย เพื่อให้สามารถบริหารจัดการโดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด้านการแพทย์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการบริหารจัดการงานด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ