ศูนย์นโยบายนวัตกรรมโลก (Global Innovation Policy Center—GIPC) แห่งสภาหอการค้าสหรัฐได้จัดงาน “ขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในอาเซียนผ่านนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา” เพื่อย้ำว่าทรัพย์สินทางปัญญามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก โดยจัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพ นับเป็นการรวมตัวกันของผู้แทนจากประเทศอาเซียน ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำของภาคธุรกิจในภูมิภาคเพี่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็ง
คุณแอลเลน ซีแมนสกี (Ellen Szymanski) กรรมการบริหารศูนย์นโยบายนวัตกรรมโลกแห่งสภาหอการค้าสหรัฐกล่าวว่า “นวัตกรรมทำให้เกิดประสิทธิผล นวัตกรรมเป็นทางแก้ปัญหาสำหรับความท้าทายของโลก นวัตกรรมยังเอื้อผลประโยชน์ต่อทุกระดับในด้านเศรษฐกิจสังคม และสร้างหลักชัยใหม่ให้วัฒนธรรมและสังคมผ่านการแสดงออกอันสร้างสรรค์”
สำหรับรายงานการจัดอันดับดัชนีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติของสภาหอการค้าสหรัฐที่ชื่อ “สร้างแรงบันดาลใจสู่อนาคต” ฉบับที่ 7 นี้ได้รับการเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รายงานดังกล่าวได้จัดอันดับเศรษฐกิจทั่วโลกผ่าน 45 ตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมผ่านทางสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองความลับทางการค้าที่เข้มแข็ง
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในรายงานดังกล่าวมาแล้วทั้ง 6 ฉบับ รายงานในแต่ละฉบับสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งของกรอบการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับคะแนนโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 32.22 (14.5 จากคะแนนเต็ม 45 คะแนน) ในฉบับที่ 7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31.37 (12.55 จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน) ในรายงานฉบับที่ 6 อันเป็นผลจากคะแนนที่เพิ่มขึ้นของตัวชี้วัดใหม่ และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านมาตรการตามแนวชายแดน
“รัฐบาลไทยได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการกระชับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับใช้ ทั้งนี้การดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยจะเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น หากมีการพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับชีววิทยาศาสตร์ การปฏิรูปเพื่อป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์ และการกำจัดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดของผู้ถือสิทธิบัตรต่างชาติ” คุณแอลเลน กล่าว
ในโอกาสนี้ ศูนย์นโยบายนวัตกรรมโลกได้มอบรางวัลชนะเลิศด้านทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global IP Champions award) แก่ ดร. อรกนก พรรณรักษา ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยีแห่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ทั้งนี้ดร.อรกนกได้ส่งเสริมนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการค้าทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนี้เธอยังทำงานอย่างเต็มที่กับสมาคมการบริหารการอนุญาตให้ใช้สิทธิ(ประเทศไทย) (Licensing Executive Society Thailand) และสถาบันองค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก (Global Young Academy) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไรที่ให้มุ่งสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ทั่วโลก รางวัลชนะเลิศด้านทรัพย์สินทางปัญญาโลกยกย่องผู้ที่ทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมและปกป้องนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศของตัวเองและทั่วโลก