ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นหลังนักลงทุนเริ่มคลายความวิตกกังวลต่อประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความคาดหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 9 -12 เมษายน 2562

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-8 เม.ย. 2562) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังปธน.ทรัมป์อาจจะประกาศแผนการจัดประชุมสุดยอดร่วมกับ ปธน.สี จิ้นผิง ประกอบกับนักลงทุนเริ่มคลายกังวลต่อประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังข้อมูลภาคการผลิต และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต และภาคบริการของจีน กลับมาฟื้นตัวอย่างมาก นอกจากนี้ มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มกลุ่มการเงิน ตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้น และแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปีนี้ลง อย่างไรก็ตาม ประเด็น Brexit ที่สร้างความผันผวนให้กับตลาด ยังคงส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนชะลอการซื้อขายออกไป

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจากข่าวความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิต และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารปรับเพิ่มขึ้น ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้ตลาดหุ้นยุโรป ปรับเพิ่มขึ้นขานรับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซน เดือน มี.ค.เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2018 แม้ว่านักลงทุนบางส่วนชะลอการซื้อขาย เพื่อจับตาในประเด็น Brexit ก็ตาม

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐฯ และจีนจะบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า ประกอบกับ มีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มส่งออก ตามเงินเยนที่อ่อนค่าเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ

ตลาดหุ้นจีน (A Share) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังดัชนี PMI ภาคการผลิต และภาคบริการของจีน เดือน มี.ค.ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ดัชนีฯยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังปธน.ทรัมป์ อาจจะประกาศแผนการจัดประชุมสุดยอดร่วมกับ ปธน. สี จิ้น ผิง ของจีน

ตลาดหุ้นไทย ปิดบวกเล็กน้อย โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้จัดทำดัชนี MSCI จะปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทย อย่างไรก็ตาม นักลงทุนชะลอการซื้อขาย เนื่องจาก เข้าใกล้ช่วงวันหยุดยาว และจับตาปัจจัยการเมืองภายในประเทศ

ตลาดน้ำมัน ปิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนออกมาแข็งแกร่ง และการคาดการณ์อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจประสบภาวะตึงตัว จากสถานการณ์รุนแรงในลิเบีย และการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก

ตลาดทองคำ ปิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • นักลงทุนรอติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังปธน.ทรัมป์คาดว่า จะมีการประกาศการบรรลุข้อตกลงการค้าภายในเวลา 4 สัปดาห์ และระบุว่าจะจัดการประชุมกับปธน.สี จิ้น ผิงของจีน หากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ขณะที่ ปธน.สี จิ้นผิง ระบุว่า มีความคืบหน้าอย่างมากในข้อตกลงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

  • ความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit โดยล่าสุดทางนายกฯ เทเรซ่า เมย์ของอังกฤษได้ขอให้สหภาพยุโรป (EU) เลื่อนระยะเวลาการใช้มาตรา 50 (Article 50) ออกไปจากกำหนดการณ์เดิมในวันที่ 12 เม.ย. เป็น 30 มิ.ย.นี้ เนื่องจาก ข้อตกลง Brexit ยังไม่สามารถผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ โดยเราคาดว่า สหภาพยุโรป (EU) จะไม่เห็นชอบต่อคำร้องขอในการขยายระยะเวลาดังกล่าวของนายกฯ เทเรซ่า เมย์ แต่ EU น่าจะต้องการให้ขยายเวลา Article 50 ออกไปอีก 1 ปี

  • การประชุม ECB โดยเราคาดว่า ECB มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจาก เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่ท่าทีของ ECB น่าจะเป็นไปในเชิง Dovish หลังประธาน ECB ระบุก่อนหน้านี้ว่า พร้อมขยายระยะเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกออกไปหากจำเป็น

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก 1) ความคาดหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ส่งสัญญาณความคืบหน้ามากขึ้น 2) การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายอาจเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจาก ความไม่แน่นอนประเด็น Brexit โดยยังมีความเสี่ยงที่ สหราชอาณาจักร (UK) อาจจะต้องออกจาก EU วันที่ 12 เม.ย.นี้ ประกอบกับ หากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ กลับมาส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และหากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มที่กลุ่มการเงิน ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ นักลงทุนกลับมากังวลต่อประเด็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกต่อไป

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ PMI ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ, ยอดค้าปลีก/ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก/การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ และทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน
  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน และความคืบหน้าประเด็น Brexit

วิเคราะห์โดย: SCB CIO Office