สังคมไทยพากันเห็นความสำคัญของความสุขในระดับองค์รวม ที่อาจจะวัดได้เป็น ดัชนีความสุขมวลรวม ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับตัวเลขการเติบโตเป็นหลักเหมือนที่ผ่านๆ มา
เอแบคโพลล์สำรวจพบในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่าสิ่งที่ประชาชนจะน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงไปปฏิบัติอันดับแรก คือ การใช้ชีวิตด้วยความพอเพียง รองลงมาคือช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตั้งจิตตั้งใจทำความดีเพื่อตัวเองและสังคม มีสติรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ผิดรู้ชอบ และมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนเอง
ประชาชนยังย้ำถึงความสำคัญของหลักความพอเพียง ด้วยคำตอบมากถึง 81.65% ที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้อง เปลี่ยนแปลงแนวทางพัฒนาประเทศให้อยู่บนหลักเศรษฐกิจพอเพียงและมุ่งสร้างความสุขความสงบในสังคมมากกว่าตัวเลขการเติบโตเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพลล์” มาตอกย้ำความต้องการของคนไทยให้ชัดขึ้น โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อการจัดทำตัวชี้วัดทางสังคม จำนวน 1,379 คน ระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2552 ซึ่งได้คำตอบที่มีทิศทางชัดเจน
ประชาชนคิดว่าอะไร? คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมไทย
อันดับ 1 การมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง 32.27%
อันดับ 2 การมีครอบครัวที่อบอุ่น 19.77%
อันดับ 3 การมีความรักสามัคคีไม่แตกแยก 18.18%
อันดับ 4 การมีชีวิตที่ปลอดภัย 15.23%
อันดับ 5 การมีสุขภาพ ร่างกายและจิตใจที่ดี 8.86%
อันดับ 6 การมีสิ่งแวดล้อมดีปลอดจากมลพิษ 5.69%
ประเทศไทยถึงเวลาที่จะต้องทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางในการพัฒนาประเทศหรือยัง?
อันดับ 1 ถึงเวลาแล้ว 81.65% เพราะในช่วงที่ผ่านมาประเทศชาติต้องประสบปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามารอบด้านพร้อมๆ กัน ฯลฯ
อันดับ 2 ยังไม่ถึงเวลา 9.63% เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องการให้แก้ไขก่อน เช่น การชุมนุม ความแตกแยก เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจเตรียมตัวไม่ทันหรือยังไม่มีความพร้อม ฯลฯ
อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 8.72% เพราะขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า หากทุกคนร่วมมือกันประเทศชาติก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้น ฯลฯ
ระหว่าง GDP แบบเดิม กับ GNH (Gross National Happiness) ประชาชนจะเลือกแนวทางใด? ในการชี้วัดการพัฒนาประเทศไทย
อันดับ 1 การพัฒนาที่มุ่งเน้นวัดความสุขของประชาชน (GNH) 61.19%
อันดับ 2 การพัฒนาที่วัดกันที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 38.81%
ในข้อแรก ปัจจัยอันดับที่ 2 ถึง 6 ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับตัวเงินหรือความร่ำรวย แต่เป็นคุณภาพชีวิตและความสงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งรวมกันนั้นได้ถึง 68% ในขณะที่เรื่องรายได้นั้นมีน้ำหนักสำคัญเพียง 32% นั่นหมายถึงหากมีครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ในสังคมสงบไม่แตกแยก มีชีวิตที่ปลอดภัย มีสุขภาพดี และมีสิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ ก็นับว่าชีวิตประสบความสำเร็จไป 70 % แล้ว
ส่วนคำตอบในข้อต่อมานั้นสะท้อนว่าสิ่งสำคัญจริงๆ ในการพัฒนาประเทศนั้นอาจจะต้องถูกทบทวน ไม่เน้นแต่เพียงตัวเลขอัตราเติบโต GDP และตัวเลขทางการเงินการคลังการค้าต่างๆ มาใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศชาติ แต่ต้องคำนึงถึงสังคมองค์รวมมีความสุข ซึ่งน่าจะเป็นจุดหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศที่แท้จริง
ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุปในข้อที่สาม ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการวัดผล ให้เน้นชี้วัดความสุขของประชาชน มากกว่าตัวเลขมูลค่าผลผลิตมวลรวมแบบเดิมๆ ทิศทางการพัฒนาใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสุขสงบในสังคมจึงจะเกิดขึ้นได้