ดัชนีความสุขคนไทย

เดือนธันวาคม 2552 เป็นเดือนที่ทั้งแผ่นดินไทยได้รวมศูนย์จิตใจเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ด้วยข่าวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระพลานามัยที่ดีขึ้นตามลำดับ และได้ทรงเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม

ข่าวมหามงคลนี้ทำให้มีการสำรวจพบโดยสำนักวิจัย “เอแบคโพลล์” ที่ได้สำรวจประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,147 ครัวเรือน เมื่อ 5 ธันวาคม 2552 เรื่องสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกับความสุขมวลรวมของคนไทยวันนี้ พบว่าระดับความสุขของคนไทยในวันนี้มีคะแนนสูงถึง 9.86 จากเต็ม 10 คะแนน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ยิ่งกว่าความสุขคนไทยที่สำรวจในช่วงพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อเดือน มิ.ย. 49 ซึ่งอยู่ที่ 9.21 คะแนน

การเมืองที่วุ่นวายดูจะสงบไป แม้จะมีความพยายามจุดกระแสแต่กลับเงียบหายกลายเป็น “เดือนปลอดการเมือง” แผ่นดินสงบได้ทั้งเดือนเพราะคนไทยรวมใจอยู่ที่ “พ่อแห่งแผ่นดิน” ดังที่เอแบคโพลล์รายงานไว้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ 80.7% อยู่บ้านติดตามการถ่ายทอดสดพระราชพิธี และภายหลังได้รับชมการถ่ายทอดแล้วประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 81.9% ตอบว่ารู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น

ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้นมีประชาชนคนไทยที่เดินทางจากทั่วสารทิศ มีไม่น้อยที่บากบั่นมาไกลเพื่อร่วมลงชื่อถวายพระพรในหลวง รวมแล้วมากถึง 1.57 ล้านรายชื่อ ซึ่งแต่ละรายชื่อก็เป็นตัวแทนนำส่งความเคารพของครอบครัวญาติมิตรอีกมากมาย พสกนิกรจำนวนมากมาที่โรงพยาบาลศิริราชกันตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม เพื่อรอโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าฯ ในวันที่ 5 ธันวาฯ โดยต่างก็สวมเสื้อสีชมพูซึ่งถือเคล็ดกันว่าเป็นสีที่ดีต่อพระพลานามัยของในหลวง บางคนมีวัยกว่า 80 ปีแล้วแต่ยังเดินทางมาจากภาคอีสาน เพื่อร่วมถวายพระพรเช่นนี้ทุกปี นานถึงกว่า 40 ปีแล้ว

สำนักข่าวระดับโลกอย่าง AP รายงานว่า ในโอกาสเช่นนี้เป็นโอกาสให้คนไทยได้ปัดเอาความขัดแย้งทางการเมืองออกไป กลับมาสามัคคีกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่หายไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสำนักข่าว AFP ได้หยิบยกพระราชกระแสรับสั่งว่า “ความสุข ความสวัสดี ของข้าพเจ้าเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มั่นคง เป็นปกติสุข ความเจริญ” รายงานไปทั่วโลก และเสริมว่าพระองค์ทรงเป็นพลังแห่งเสถียรภาพตลอดช่วง 6 ทศวรรษที่อยู่ในราชบัลลังก์

สำนักข่าว DPA รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเสาหลักสำคัญสำหรับเสถียรภาพของประเทศ ด้วยพระราชภารกิจด้านการพัฒนาที่ทรงปฏิบัติมาตลอด ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักและเคารพของประชาชน และได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นผู้บุกเบิกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สหประชาชาติให้การยอมรับ ทั้งยังทรงมีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยในยามที่การเมืองของไทยมีปัญหา สามารถนำความสงบกลับมาสู่ประเทศหลายต่อหลายครั้ง

นอกจากฝ่ายการเมืองจะถูกลดน้ำหนักให้เงียบหายไป ในทางกลับกันประชาชนก็ได้แสดงพลังเจตนารมณ์ผ่านทางเอแบคโพลล์นี้ฝากกลับให้ผู้มีอำนาจของบ้านเมืองนำไปปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่ระบุขอให้มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คอรัปชั่น รองลงมา ระบุมีสติรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้ผิดรู้ชอบ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด และเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

ข้อสรุปที่ว่าความสุขที่เพิ่มขึ้นของคนไทยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพราะภาวะการเมืองสงบและสังคมมีความสามัคคีรักในหลวงนั้น ถูกยืนยันให้ชัดเจนขึ้นไปอีกด้วยผลสำรวจ “สวนดุสิตโพลล์” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ได้สอบถามคนไทยกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,379 คน ระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2552 ในหลายๆ ข้อ แต่มี 2 คำถามที่ให้ผลยืนยันในเรื่องนี้คือ

ประชาชนคิดว่าสภาพของสังคมไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร?
อันดับ 1 มีความขัดแย้งสูง 38.75%
อันดับ 2 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม 25.29%
อันดับ 3 ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 13.21%
อันดับ 4 เป็นสังคมไร้ระเบียบ ไม่มีวินัย 9.51%
อันดับ 5 ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม 7.66%
อันดับ 6 เป็นสังคมที่ยังขาดความพอเพียง 5.58%

ประชาชนคิดว่าเรื่องใด? เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขมากที่สุด
อันดับ 1 ด้านการเมือง 26.10%
อันดับ 2 ด้านเศรษฐกิจ 24.43%
อันดับ 3 ด้านสภาพสังคม 20.45%
อันดับ 4 ด้านสิ่งแวดล้อม 18.95%
อันดับ 5 ด้านสภาพจิตใจ 4.24%
อันดับ 6 ด้านการทำงาน 3.06%
อันดับ 7 ด้านสุขภาพอนามัย 2.77%

คำถามอันดับแรกนั้น คำตอบส่วนใหญ่ล้วนไม่อาจแก้ได้ด้วยการเร่งเพิ่มจีดีพีเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นส่วนใหญ่ยังอาจเป็นผลจากการพัฒนาประเทศที่ผิดทิศทาง

ส่วนคำถามต่อมานั้น คำตอบทั้งอันดับหนึ่งและสามชี้ชัดว่าสังคมไทยปฏิเสธ เบื่อหน่าย ไม่ต้องการความขัดแย้งอีกแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องทางการเมือง และกำลังต้องการสันติสุขบนความสงบสามัคคี ซึ่งสิ่งนี้สังคมไทยได้สัมผัสแล้วในช่วงธันวาคม 2552 เดือนมหามงคลที่ผ่านมา

ความสุขในเดือนธันวาฯ ถูกรวบรวมขึ้นมาจัดเป็นมหกรรม “ถนนแห่งความสุข” บนถนนราชดำเนินกลาง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 ภายใต้แนวคิด “ความสุขของคนไทยใต้แสงพระบารมี” ระหว่างวันที่ 3-13 ธันวาคมที่ผ่านไป โดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพใหญ่ ร่วมกับ 14 กระทรวง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ

กำหนดแวลาแต่แรกนั้นถูกตั้งไว้ 3 ถึง 7 ธันวาคม แต่เมื่อมีผู้คนตอบรับล้นหลามถึงวันละกว่าแสน งานจึงถูกขยายออกไปเป็น 3 – 13 ธันวาคม สร้างสถิติงานเทศกาลที่มีคนร่วมได้ถึงราว 1 ล้านคน

ปรากฏการณ์ #WeLoveKing

สังคมคนออนไลน์ก็ยังแสดงพลังแห่งความรักในหลวงผ่านทวิตเตอร์ โดยในเวลา 20.29 น. วันที่ 5 ธันวาคม 2552 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ สามารถทำให้คำว่า #WeLoveKing จนกระทั่งในเวลา 20.29 น. คำว่า #WeLoveKing ได้ขึ้นอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ ปรากฏขึ้นอันดับหนึ่งใน Trending Topics หรือหัวข้อสนทนายอดนิยม 10 อันดับของโลกได้ ทั้งๆ ที่ประชากรนักทวีตไทยมีจำนวนไม่ถึงแสนคน ราว 0.1% ของประชากรนักทวีตของโลกเท่านั้น แต่สามารถทำให้คำว่า “WeLoveKing” ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งนานถึง 2 ชั่วโมงได้ ทั้งนี้เรื่องของ Social Network นั้นเป็นเรื่องของความสมัครใจส่วนตัว ผสานกับการร่วมใจกันทำ โดยไม่มีผู้นำผู้ตาม มีเพียงการชักชวนแบบเพื่อนเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ #WeLoveKing เริ่มมาประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา มีเริ่มคนไทยบางคนบนทวิตเตอร์ได้ออกมาเชิญชวนให้ชาวทวิตเตอร์ใส่แท็กคำว่า #WeLoveKing ในทวีตส่งข้อความทุกครั้ง

จากนั้นเริ่มมีผู้เติมคำว่า #WeLoveKing เรื่อยมา จนกระทั่ง 4 ธันวาคม 2552 ก็ยังไม่สามารถผลักดันคำนี้เข้า 10 อันดับได้เพราะโดยมากแล้ว Trending Topics จะเป็นหัวข้อที่สนทนาของชาวอเมริกันเช่นชื่อดารานักร้อง หรือหัวข้อสนทนายอดนิยมของโลกอย่างเช่น Xmas หรือ #nowplaying ซึ่งหมายถึงเพลงที่กำลังเล่นอยู่ จึงเริ่มมีการนัดแนะเวลาส่งข้อความ #WeLoveKing พร้อมๆ กัน เพื่อให้หัวข้อนี้ติดอันดับให้ได้ หลังจากนั้นจึงมีผู้สนับสนุนกันอีกมากมาย โดยนัดเวลาเป็นสองช่วง ช่วงแรก 10:30 น. พิธีมหาสมาคม และ 19:29 น.ช่วงจุดเทียนชัยถวายพระพร

ความสำเร็จมาเกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2552 ช่วงจุดเทียนชัยถวายพระพร 19:29 น. ที่คำว่า #WeLoveKing เข้าสู่อันดับ 10 แล้วไต่ขึ้นไปสู่อันดับหนึ่งได้ในเวลาราวครึ่งชั่วโมง พร้อมกันนั้นก็มีชาวอเมริกันและชาวต่างชาติไถ่ถามกันถึงที่มาของคำนี้ และมีคนไทยหลายคนทวีตกลับไปอธิบาย และข่าวโทรทัศน์ในไทยก็รายงานข่าวนี้กันอย่างคึกคักในคืนนั้น ตามด้วยสื่อต่างประเทศทั่วโลกในวันรุ่งขึ้น นับว่าพลังแห่งคนรุ่นใหม่และไซเบอร์สเปซได้แสดงออกชัดเจนถึงความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงและได้ผล

ความสุขของคนไทยในเดือนธันวาคมคือการที่ในหลวงทรงหายจากพระอาการประชวร การเมืองสงบ ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมดูดีขึ้นไปด้วย สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่าสังคมจะน่าอยู่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขเชิงปริมาณเป็นหลัก แต่ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมและจิตใจด้วย ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง และหลักการใช้ดัชนีความสุขมวลรวม ที่เริ่มเป็นที่ยอมรับในระดับโลก