ก่อนหน้านี้คนไทยคงคุ้นเคยกับแอปพลิเคชั่นเรียกรถเจ้าใหญ่จากฝั่งตะวันตกอย่าง Uber ก่อนที่ต้นปี 2018 ที่ผ่านมาจะขายกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Grab และปรับรูปแบบการบุกตลาดรถเช่าทั่วโลก
Uber กำลังเดินทางมาถึงจุดสำคัญของการทำธุรกิจอีกครั้ง เมื่อได้ยื่นจำหน่ายหุ้นครั้งแรก หรือ iPO ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่า IPO ของ Uber จะยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ Alibaba Group ของจีน เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2014
และอาจทำให้มูลค่าตลาดของ Uber สูงกว่าบริษัทขนส่งพัสดุอย่าง FedEx ถึง 2 เท่า หรือแม้แต่บริษัทแม่ของ United Airlines ที่ Uber อาจจะมีมูลค่าตลาดมากกว่าถึง 4 เท่าตัว
แต่การ IPO ครั้งนี้ก็วัดใจนักลงทุนพอสมควร เพราะสถานะการเงินในหนังสือชี้ชวนอย่างเป็นทางการ ระบุว่า Uber ขาดทุนมากกว่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 (ราว 56,900 ล้านบาท) บนรายได้รวมมากกว่า 11,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 357,000 ล้านบาท) คาดว่าการเติบโตของรายได้ Uber ปี 2019 จะเริ่มช้าลงกว่าเดิม
ตามรอย Lyft เวลาไล่เลี่ย Pinterest
การขาย IPO ของ Uber เชื่อว่าจะเป็นไปตามรอย Lyft คู่แข่งสำคัญของ Uber ในตลาดอเมริกาเหนือที่เริ่มจำหน่าย IPO แล้วเมื่อมีนาคมที่ผ่านมาด้วยมูลค่าตลาด 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จุดนี้ข้อมูลระบุว่า Lyft เองก็ยังไร้วี่แววในการทำกำไร ราคาเสนอขายหุ้นในวันต่อมาของการซื้อขายจึงลดฮวบ เนื่องจากนักลงทุนตั้งคำถามถึงการสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน
การเปิดตลาดของ Uber ยังเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ทองเพราะ Pinterest ก็เปิดขาย IPO ครั้งแรก โดยเครือข่ายสังคมดิจิทัลนักปักหมุดเว็บไซต์โชว์ตัวเลขขาดทุนยับเยินในปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการตั้งราคา IPO ในระดับต่ำจนเรียกเสียงเซอร์ไพรส์จากนักลงทุน ทำให้ IPO ของ Pinterest ได้รับความสนใจบนราคา IPO ที่อยู่ระดับ 15-17 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดสำหรับ Uber ก็คือแนวโน้มว่าบริษัทจะไม่สามารถทำกำไรได้ในอนาคตอันใกล้ ในสหรัฐอเมริกา Uber กำลังละลายเงินสดเนื่องจากต้องต่อสู้กับ Lyft การลดราคาเพื่อเอาใจผู้โดยสารและการใช้จ่ายเพื่อดึงดูดพนักงานขับรถ
ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่คู่แข่งในวงการแอปพลิเคชั่นเรียกรถ เทพลังต่อสู้แบบไม่มีใครยอมใครเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด Uber เองก็ลงทุนอย่างหนัก และกำลังขยายธุรกิจในส่วนอื่นมากขึ้น เช่น บริการส่งอาหาร และสกูตเตอร์
จะไม่หยุดการ “เสียสละทางการเงินในระยะสั้น” แม้ขาดทุน 1,800 ล้านเหรียญ
ประเด็นนี้ Dara Khosrowshahi หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารของ Uber เขียนไว้ในจดหมายที่มาพร้อมกับหนังสือชี้ชวนว่า Uber จะไม่หยุดการ “เสียสละทางการเงินในระยะสั้น” ซึ่งบริษัทเห็นประโยชน์ในระยะยาวที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้ Uber แสดงความจริงใจด้วยการเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสย้อนหลัง 2 ปี ทั้งที่ในฐานะบริษัทเอกชนนั้นไม่ต้องดำเนินการเช่นนั้นก็ได้
ในขณะที่ Uber ไม่เปิดเผยมูลค่าเงินทุนที่ต้องการระดมจากนักลงทุนสาธารณะ แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่า Uber ตั้งความหวังกับการขาย IPO รอบนี้ไว้สูงมาก ที่ผ่านมา Uber มีมูลค่าถึง 76,000 ล้านเหรียญสหรัฐในตลาดเอกชน สำหรับการนำเสนอขาย IPO ครั้งนี้จะนำโดยสถาบันการเงินชื่อดังอย่าง Morgan Stanley และ Goldman Sachs
หุ้นของ Uber ถูกกำหนดให้เริ่มการซื้อขายในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ภายใต้สัญลักษณ์ UBER
หากไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นจากการปรับโครงสร้างองค์กร Uber กล่าวในเอกสารว่า ทำกำไรได้ 997 ล้านเหรียญในปี 2018 ส่วนใหญ่มาจากการขายธุรกิจในหลายพื้นที่ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัสเซีย
โดยหากไม่รวมผลกำไรเหล่านั้น Uber จะขาดทุนหนัก 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตัวเลขนี้ถือว่าเบากว่าปี 2017 ที่ Uber ขาดทุนมากกว่า 4,000 ล้านเหรียญ
ขายทุนน้อยลง แต่รายได้ก็ชะลอตัวเช่นกัน
นอกจากการขาดทุนที่น้อยลง การเติบโตของรายได้ก็ชะลอตัวเช่นกันในปี 2018 รายได้ของ Uber เพิ่มขึ้น 42% เป็น 11,300 ล้านดอลลาร์จากปีก่อน แต่สัดส่วนนี้น้อยกว่ารายได้ในปี 2017 ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2016
โดย Uber เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่าลูกค้าหลักของ Uber กระจุกตัวใน 5 เมืองซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของการจองเที่ยวเดินทางทั้งหมด 5 เมืองนี้ ได้แก่ ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอนดอน และเซาเปาโล
แม้จะขายกิจการไปแล้วฐานผู้ใช้ Uber ซึ่งรวมบริการอื่นเช่นบริการจัดส่งอาหารด้วยนั้นอยู่ที่ 91 ล้านคนในปี 2018 เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อนหน้า แต่สัดส่วนนี้ก็ลดลงชัดเจนจากปี 2017 ที่การเติบโตของผู้ใช้เพิ่มขึ้น 51%
ด้านค่าใช้จ่ายของ Uber ข้อมูลชี้ว่า Uber เทเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีค่าใช้จ่ายสูง 14,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 19% จากปี 2017
ที่สำคัญข้อมูลยังสะท้อนว่ารายได้ในธุรกิจรถเช่าของ Uber นั้นลดลง สวนทางกับ Uber Eats บริการจัดส่งอาหารที่ทำรายรับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวเป็น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2018 จากที่เคยทำได้ 587 ล้านเหรียญในปีก่อน
ใครคือผู้ได้ผลประโยชน์จาก IPO
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากเดิมที่ Uber ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย Garrett Camp และ Travis Kalanick ในระยะแรก Uber เริ่มให้บริการรถหรูแบบออนดีมานด์สำหรับลูกค้าระดับบน ก่อนจะเริ่มให้บริการ UberCab หลังจากที่ผู้ก่อตั้งพบความยากลำบากในการเรียกแท็กซี่ที่ซานฟรานซิสโก
ที่ผ่านมา Uber พยายามลดการขาดทุน ด้วยการขายธุรกิจบางส่วนในจีน รัสเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และล่าสุดคือในตะวันออกกลาง เพื่อช่วยลดการละลายเงินทุนจากการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ Uber ยังหันไปหากลุ่มทุนใหม่จาก SoftBank ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมของญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนการพัฒนายานยนต์แบบอิสระด้วย
อย่างไรก็ตาม Uber ยังมีปัญหาเรื้อรังเรื่องสถานะของผู้ขับขี่ซึ่งเป็นผู้รับจ้างอิสระ และไม่ได้รับสวัสดิการพนักงานใดๆ จนทำให้ Uber ลดต้นทุนไปได้มหาศาล จุดนี้ทำให้ผู้ขับขี่มากกว่า 60,000 คนแจ้งกับ Uber ว่าตั้งใจจะยื่นฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
ฟาก Uber ก็ยืนยันว่าจะมอบโบนัสเงินสดแก่ผู้ขับมากกว่า 1.1 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา มูลค่าโบนัสจะขึ้นอยู่กับจำนวนเที่ยวเดินทางของผู้ขับที่ดำเนินการได้สมบูรณ์ จุดนี้ผู้ขับจะสามารถใช้โบนัสเพื่อซื้อหุ้น Uber ในราคา IPO ได้ด้วย
นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการเสนอขาย IPO ต่อสาธารณะของ Uber คือกลุ่มผู้ก่อตั้งและนักลงทุนรายแรกซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น Uber จำนวนมาก ตามหนังสือชี้ชวนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือ SoftBank ซึ่งเป็นเจ้าของ 16% ของ Uber รองลงมาคือ Benchmark กลุ่มทุนซึ่งเป็นเจ้าของ Uber ราว 11%
นอกนั้นคือกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุดีอาระเบีย Public Investment Fund ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น 5% ยังมี Alphabet ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น 5% และ Kalanick ผู้ก่อตั้งที่เป็นเจ้าของหุ้น 9%