SACICT นำภูมิปัญญามาพัฒนาสู่แบรนด์แฟชั่น จากเส้นทางสายผ้าทอ…สู่เสื้อผ้าบนรันเวย์

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดโครงการ “เส้นทางสายผ้าทอWeaving Streets” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการมุ่งเน้นการส่งเสริมให้รู้จักเส้นทางของผ้าทอมือในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ นำมาสู่การจับมือดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงในการนำผ้าทอมือมาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ชั้นนำ โดยในปีนี้ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 SACICT มุ่งให้เกิดการต่อยอดงานหัตถศิลป์ประเภทงานผ้า สร้างตัวตนของคนทอผ้าในการนำภูมิปัญญามาพัฒนาสู่การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์แฟชั่นในชีวิตประจำวัน “Crafts Fashion Brand”

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า “เส้นทางสายผ้าทอ”เป็นการเพิ่มมูลค่าผ้าทอมือ ด้วยการนำผ้าทอมือของชาวบ้านและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผ้าพื้นเมือง ผ้าจากชนเผ่าชาติพันธุ์ และผ้าในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมาจากภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและความงดงามของงานหัตถศิลป์ มาแปรรูปด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตปัจจุบัน โดยผลงานที่ผ่านการพัฒนาจะนำมาเปิดตัวและทดสอบตลาดในงาน “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 12” ซึ่ง SACICT จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

“นับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการทั้ง 12 ท่านที่ผ่านการคัดเลือกซึ่งเดิมเป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT สร้างสรรค์งานผ้าทอมือเพื่อจำหน่ายในรูปแบบผ้าผืน ผ้าซิ่น และผ้าเป็นชิ้นต่าง ๆ ถูกยกระดับและพัฒนาก้าวมาสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่จะต้องสร้างแบรนด์แฟชั่น ปัจจัยความสำเร็จที่มองเห็นคือโอกาสทางการตลาดของงานแฟชั่นที่มาจากงานคราฟต์ เป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและกำลังอยู่ในกระแสความนิยมและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน และจุดแข็งที่ถือเป็นจุดขายสำคัญของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้คือ ทุกคนมีตัวตนในภูมิปัญญาการทอผ้าอยู่แล้ว มีความพร้อมในด้านแหล่งผลิตผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาสู่การแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่นของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง โดย SACICTเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันให้ไปไกลระดับที่สามารถเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องใช้ชั้นนำในอนาคต” นางอัมพวันกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและการออกแบบ ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ในโครงการนี้ไม่เพียงเสริมสร้างความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมองความคิด กระบวนการ เทคนิคการออกแบบตัดเย็บ รวมทั้งการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจ มองกลุ่มเป้าหมายให้ชัด รู้จักจุดขาย (Unique Selling Point) ของตนเอง มองเทรนด์ให้ออกและนำมาออกแบบลดทอนให้เหมาะสม โดนใจตลาดและกลุ่มเป้าหมายของตนเอง รวมทั้งการตัดเย็บที่ประณีตสวยงามและสวมใส่ได้จริง โดยได้ฝากถึงเทรนด์แฟชั่นของปี 2020 จาก WGSN บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านข้อมูลเรื่องเทรนด์และแฟชั่นของโลกสำหรับแฟชั่นเสื้อผ้าสตรีไว้ดังนี้

• เนื้อผ้าเป็นเนื้อที่ไม่เรียบเนียน เป็นแบบผสมผสาน มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน มีนูนต่ำ อาจใช้ผสมการใช้วัสดุที่หลากหลายมารวมไว้ด้วยกัน เช่น ฝ้าย ไหม ลินิน ขนสัตว์ โลหะ เมทาลิค ริบบิ้น มีปุ่มปมจากเส้นด้ายขนาดที่ไม่เท่ากัน ฟูบ้างเรียบบ้าง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หลากหลายสี หรือมีลักษณะเป็นชายครุยปล่อยชาย หรือมีแถบมาเป็นลูกเล่น

• การทอ ใช้ทอแบบไม่เป็นระเบียบ ไม่สม่ำเสมอ ไม่เรียบเนียนแต่ทิ้งร่องรอยของการทอมือที่เป็นงานคราฟต์ที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ได้เช่น การตึงและหย่อนในระหว่างการทอ หรือมีโครงสร้างการทอที่แปลกและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งที่เป็นการทอแบบดั้งเดิมและการทอแบบใหม่ เพื่อให้เกิดความหลากหลายลายในผืนเดียว

• งานปักที่ดูธรรมชาติ ไม่มีแบบแผน เส้นสายเน้นการไหลตามธรรมชาติและความต่อเนื่อง เช่น ลายดอกไม้ที่ไม่เท่ากัน และมีกลิ่นอายของความเป็นวินเทจ และโบฮีเมี้ยน

• งานพิมพ์ลายบนพื้นผ้า หรือการมัดย้อมบนผืนผ้า ให้เกิดความไหลลื่น มีลักษณะเคลื่อนไหว แอคทีฟไม่หยุดนิ่ง เต็มเปี่ยมด้วยพลังงานและความกระตือรือร้น หรือการใช้บล็อคปริ้นท์ที่ขนาดแตกต่างกัน เกิดเป็นลวดลายที่มีมิติในผืนเดียว โดยมีทั้งการออกแบบลวดลายที่เป็นเรขาคณิต Geo Graphic ลวดลายธรรมชาติ ทะเล สิงสาราสัตว์ ดอกไม้ต้นไม้สไตล์ทรอปิคัล

• สีสันมีทั้งลักษณะการไล่โทนสีแบบกลมกลืน การเหลือบของสีแวววาว หรือสีพาสเทลแบบลูกกวาด หรือแบบสีสันฉูดฉาดมีความตัดกัน

• และสุดท้ายจะเห็นได้ว่าเทรนด์ของโลกยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง Organic และ Eco friendly เส้นใยจากธรรมชาติ ย้อมแบบธรรมชาติ หรือทำจากเส้นใยจากวัสดุรีไซเคิล เช่น เส้นใยจากพลาสติก มาผสมผสานให้เกิดเป็นเนื้อผ้าที่ดูมีมิติและสร้างให้ผู้บริโภครู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ

ครูพิระ ประเสริฐก้านตง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 งานผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่ร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการออกแบบและตัดเย็บกล่าวว่า จากที่ได้รับการอบรมเพิ่มพูนทักษะจาก SACICT อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเทคนิคการย้อม วัตถุดิบ และการสร้างเอกลักษณ์ทำให้สามารถยกระดับคุณค่าผ้าย้อมครามได้เป็นอย่างดี และในวันนี้มีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการให้ SACICT ต่อยอดจากผ้าผืนนำมาสู่การแปรรูป ได้เข้ามาฝึกฝนอย่างเข้มข้น ทำให้มองเห็นภาพของแบรนด์ที่ตั้งใจทำได้ชัดขึ้น เข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบ เทคนิคการตัดเย็บ การตลาดและการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน

ปิดท้ายที่ ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 งานผ้าปะลางิง จ.ยะลา เล่าว่า เป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ตลาดและเทรนด์แฟชั่นโลก แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ทิ้งอัตลักษณ์ความดั้งเดิมที่เป็นจุดเด่นของเรา แต่เสริมสิ่งที่ร่วมสมัยมากขึ้น เช่นการใช้บล็อกปรินต์หลายขนาด ทั้งเล็กใหญ่ผสมกัน หรือการใช้ลวดลายหลากหลายแบบในผืนเดียว สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้นอกจากจะได้รับความรู้ในเรื่อง
การออกแบบตัดเย็บ สิ่งสำคัญคือทำให้มองเห็นภาพของตัวเองชัดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาไปสู่การสร้างแบรนด์ได้ชัดเจนและตรงจุดมากขึ้น