กลุ่มประเทศอาเซียนร่วมต้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

  • การปลอมแปลงสินค้าและการละเมิดลิขสิทธิ์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมาก ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านทรัพย์สินทางปัญญาในระบบเศรษฐกิจโลกที่อาศัยองค์ความรู้ เปิดกว้าง และเชื่อมโยงกันทั่วโลก
  • มีการประเมินว่าการจำหน่ายสินค้าปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 460 พันล้านยูโร
  • ส่วนแบ่งของสินค้าปลอมในมูลค่าการค้าโลก เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 3.3% ในปี ค.ศ. 2016

การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยรวบรวมเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย พนักงานสืบสวน และพนักงานอัยการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียน มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ประเด็นต่าง  ๆ ยังครอบคลุมถึงรูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ถูกใช้ในการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา เทคนิคการสืบสวน และการรวบรวมข้อมูลข่าวกรองต่าง ๆ ตลอดจนมาตรการเพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์

การจำหน่ายสินค้าปลอมเป็นการเบี่ยงเบนเงินตราให้ออกไปจากธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ทำให้การคิดค้นนวัตกรรมและการพัฒนาสูญเปล่า และถือเป็นการสนับสนุนเครือข่ายอาชญากรรมให้แข็งแกร่ง นอกจากนี้ สินค้าปลอมโดยทั่วไปมักมีคุณภาพต่ำ ไม่ทนทาน และมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมถึงรองเท้ากีฬา เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และของเล่น

เอกสารรายงานซึ่งเผยแพร่ในปีนี้โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO)และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) ประเมินว่าสินค้าปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์ มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกในปี ค.ศ. 2016 สูงถึง 3.3% หรือ 460 พันล้านยูโร ซึ่งถือว่ามีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจาก 2.5% ในปี ค.ศ. 2013

นายเออร์ลิง เวสเตอร์การ์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์สังเกตการณ์การละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาแห่งยุโรป (European Observatory on Infringements of IP Rights) กล่าวเน้นย้ำถึงความริเริ่มหลากหลายโครงการของสหภาพยุโรปเพื่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ “การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในสหภาพยุโรปช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและศุลกากรมีอำนาจที่จำเป็นในการสกัดกั้นสินค้าปลอมได้เป็นผลสำเร็จ”

การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายคือหนึ่งในชุดกิจกรรมเนื่องในวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกในปีนี้ ดำเนินงานโดย อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ (ARISE+ IPR) ซึ่งเป็นแผนงานระยะ 5 ปีที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยต่อเนื่องหลังจากจบการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ ได้จัดการประชุม ASEAN Network of IPR Enforcement Experts (ANIEE) ครั้งที่ 4 ในวันที่ 25-26 เมษายน 2562 ณ กรุงมะนิลา รวมถึงการสนับสนุนสมาชิกในงาน ANIEE ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศฟิลิปปินส์

การประชุม ASEAN Network of IPR Enforcement Experts (ANIEE) รวบรวมผู้แทนจากชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการจัดงานโดย ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation (AWGIPC) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการจัดกิจกรรรมส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้แผนการดำเนินงานด้านสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคอาเซียน ปี ค.ศ. 2016-2025 (ASEAN IPR Action Plan 2016-2025)

งานวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกเป็นกิจกรรมประจำปีซึ่งจัดขึ้นทุกวันที่ 26 เมษายน เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาในการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ แนวคิดของวันทรัพย์สินทางปัญญาโลกประจำปีนี้คือ “ทรัพย์สินทางปัญญาและวงการกีฬา (IP and Sports)”

เกี่ยวกับ อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ (ARISE+ IPR)

อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ (ARISE Plus Intellectual Property Rights (ARISE+ IPR) คือส่วนหนึ่งของ Enhanced ASEAN Regional Integration Support ของสหภาพยุโรป โดยเป็นแผนงานระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 5.5 ล้านยูโร ทำหน้าที่สนับสนุนการบูรณาการในระดับภูมิภาคผ่านการประสานงานด้านสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา และมีเป้าหมายในการยกระดับระบบสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการสร้างสรรค์ การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการ และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติงานระดับสากลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงมาตรฐานและวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของแผนการดำเนินงานด้านสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคอาเซียนปี ค.ศ. 2016-2025 (ASEAN IPR Action Plan 2016-2025[1])

[1] www.aseanip.org/Resources/ASEAN-IPR-Action-Plan-2016-2025

เป้าหมายของ อะไรส์พลัส ไอพีอาร์

  • ส่งเสริมให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมในสัญญาระหว่างประเทศและระบบสากลเรื่องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
  • ส่งเสริมศักยภาพทางกฎหมายของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคอาเซียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • เพิ่มการตระหนักรู้ในภาคการเมืองและภาคประชาชน ถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายเรื่องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
  • เสริมกำลังให้แก่ธุรกิจในอาเซียนในการสร้างผลกำไรเชิงธุรกิจและการปกป้องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของตน
  • มอบการสนับสนุนที่มีความเหมาะสมกับแต่ละประเทศ แก่กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เพื่อส่งเสริมเรื่องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม

ปัจจุบัน อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ ดำเนินงานร่วมกับ ไอพี คีย์ เซาท์อีสต์ เอเชีย (IP Key SEA) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแผนงานที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและดำเนินงานโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) แม้ทั้งสองแผนงานจะมีขอบเขตการทำงานในเรื่องเดียวกัน แต่มีการมุ่งเน้นความสำคัญและแนวทางการทำงานที่แตกต่างกัน โดย อะไรส์พลัส ไอพีอาร์ เน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจกับอาเซียน ส่วน ไอพี คีย์ เซาท์-อีสต์ เอเชีย เน้นการประสานงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างชาติต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการส่งเสริมข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีในเรื่องที่ครอบคลุมถึงสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งข้อตกลงที่ได้ข้อสรุปแล้วและข้อตกลงที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ตลอดจนการพูดคุยเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในวาระต่าง ๆ โดยทั้งสองแผนงานทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน นั่นคือการยกระดับสภาพแวดล้อมด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค เพื่อมอบประโยชน์แก่ผู้ถือประโยชน์ทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกับภูมิภาคและทำงานอยู่ภายในภูมิภาคนี้

เกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) 

สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office : EUIPO) คือหน่วยงานของสหภาพยุโรป มีฐานการดำเนินงานในเมืองอาลีคันเต ประเทศสเปน ทำหน้าที่บริหารการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสหภาพยุโรป (European Union Trade Mark: EUTM) และหน่วยงาน Registered Community Design (RCD) โดยทั้งสองหน่วยงานให้ความคุ้มครองแก่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศ ตลอดจนดำเนินกิจการความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาคของสหภาพยุโรป ภายใต้แผนกลยุทธ์ปี 2020 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปได้ประสานงานกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับสากลในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกลุ่มพันธมิตรของสหภาพยุโรป ประเทศนอกสหภาพยุโรป และองค์กรพหุภาคี