ทุกชาติในโลกไม่ว่ามหาอำนาจหรือชาติเล็กๆ ต่างเพิ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกที่กำเนิดมาจากสหรัฐฯ และล่าสุดต่างก็ต้องปวดหัวกับปัญหาปัญหาปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงทั้ง Global Warming และ Climate Change ก็หนักข้อขึ้นอย่างรวดเร็วจนต้องจัดประชุมใหญ่กันที่ Copenhagen ตลอดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่คืบหน้าเพราะทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ตัวเงินยังไม่จบ
แต่ละประเทศเองต่างก็พบปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้น สวนทางกับเลข GDP ที่เป็นตัววัด “ความเจริญ” ซึ่งใช้กันมาตลอด ไม่เว้นแม้แต่ชาติยักษ์ใหญ่ร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ ที่เคยมีวิกฤตที่มาจากการขาดธรรมาภิบาลอย่างกรณี Enron และโดนซ้ำจากวิกฤตจากเก็งกำไรตราสารหนี้ Subprime ต่ออีกจนปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นเต็มตัว
สิบปีที่แล้ววิกฤตต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยให้บทเรียนว่าการพัฒนาประเทศโดยเน้นตัวเลขเติบโตของ GDP (Gross Domestic Product) สูงๆ ที่เน้นการกู้เงินนั้นอันตรายเพียงใด
ทั้งหมดนี้พาให้ทั่วโลกและในไทยเริ่มสนใจสร้างดัชนีใหม่ที่ต่างออกไป เช่น ดัชนีความสุขแห่งชาติ GNH (Gross National Happiness) หรือดัชนีความสุขมวลรวม
“Gross National Happiness is more important than Gross National Product.” (ความสุขของประชาชนสำคัญกว่าผลผลิตรวมของประชาชาติ) เป็นประโยคแรกเกี่ยวกับ GNH ซึ่งมาจากพระเจ้า Jigme Wangchuck กษัตริย์ภูฏานองค์ก่อนนี้ที่กล่าวในวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2515 และกลายเป็นหลักนโยบายระยะยาวที่พระองค์และคณะรัฐมนตรี ใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโดยใช้หลักศาสนาพุทธเป็นที่ตั้ง
แม้ตัวเลขรายได้ GDP ของภูฏานจะเป็นอันดับต่ำที่ 189 ของโลก จากทั้งหมด 222 ประเทศ คือราว 40,000 บาทต่อปีหรือ 4,300 บาทต่อเดือนเท่านั้นราวครึ่งหนึ่งของไทย แต่ความเป็นอยู่ของชาวภูฏานนั้น “พอเพียง” และสอดคล้องกับธรรมชาติ เช่นคนภูฏานทุกคนได้ที่ทำเกษตรประมาณ 10 ไร่ฟรีจากรัฐบาล และคนส่วนใหญ่อยู่กันเป็นครอบครัว ทุกคนช่วยกันทำมาหากิน ใครเข้าเมืองไปหางานทำ ไม่มีงานก็กลับไปทำนาได้เสมอ
ภฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่วัดความเจริญของประเทศด้วยหลักการ GNH บ่งบอกจุดมุ่งหมายสร้างสมดุลระหว่างความเจริญด้านวัตถุและด้านจิตใจ และในปี 2541 รัฐบาลภูฏานก็ประกาศแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการบนหลักการ “Four Pillars of Happiness” (สี่เสาหลักแห่งความสุข)
1.การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Economic Development)
2.การรักษาสภาพแวดล้อม (Conservation of the Environment)
3.การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ (Promotion of National Culture)
4.ธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)
นโยบายรูปธรรมที่เป็นตัวอย่างก็เช่นนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ด้วยโควต้าคนและภาษีท่องเที่ยวรายวัน 200 $ ต่อหัว เพราะไม่ต้องการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวแห่กันเข้าไปทำลายความบริสุทธิ์ของป่าเขาและความเงียบสงบของวัด นอกจากนี้ยังมีนโยบายการปลูกป่าทดแทน ทำให้ยังมีป่ากว่า 70% ของประเทศแม้จะมีการตัดถนนอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี และยังมีตัวอย่างระดับท้องถิ่นเช่นมีหมู่บ้านหนึ่งเพิ่งเดินสายไฟฟ้าเข้าไปให้ทุกบ้าน ต่อมาพบว่านกกระเรียนบินไปติดสายไฟฟ้าตายจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันถอนเสาไฟฟ้า หันไปใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทน
ไม่เพียงแค่ประเทศเล็กๆ อย่างภูฏาน แต่วงวิชาการทั่วโลกกำลังสนใจเรื่องนี้ เช่นสถาบัน Innovest Strategic Value Advisors ซึ่งเป็นสถาบันการเงินข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่แถลงว่า “GNH เป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ระบบของมนุษย์ดีขึ้นด้วยการเลียนแบบระบบธรรมชาติที่มีความละเอียดซับซ้อน” โดยอธิบายว่าทุกวันนี้บริษัทและประเทศทั้งหลายถูกกระตุ้นให้เติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คล้ายกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งเติบโตด้วยการทำลายร่างกายที่ตัวเองอาศัยอยู่
การสัมมนานานาชาติเรื่อง GNH ที่ภูฏานในปี 2549 นั้นผู้เข้าร่วมประชุมมีแถลงการณ์ร่วมกันว่า ควรต้องวัดและให้ความสำคัญต่อตัวเลข GDP ต่อไป แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ไม่ไปทำให้ความสุขมวลรวม GNH ลดลง และความสุขขั้นพื้นฐานนั้นควรวัดระดับได้ เช่น วัดคุณภาพของโภชนาการ, การมีที่อยู่อาศัย, การศึกษา, สุขภาพ และชีวิตชุมชน และต้องสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาลที่ดีในการการดำเนินธุรกิจ
ส่วนในไทย ภาครัฐก็ได้ปรับให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่กำลังจะประกาศใช้ในอีก 2 ปีนั้นกำหนดชัดถึงการนำเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ โดยวัดทั้งประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างยั่งยืน มิติการศึกษา และสุขภาพ โดยใช้ สสส. เป็นแกนหลักในการผลักดันดัชนีความสุขในการพัฒนาประเทศ ดันเข้าแผนพัฒนา ฉบับ11 ตั้งกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็ได้แถลงไว้ในเรื่องนี้ว่าการวัดด้วย จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ กับการวัดด้วยดัชนีความสุขนั้นต้องทำผสมผสานกันทั้งสองอย่าง และต้องวัด 2 ระดับ คือ 1 ระดับประเทศโดยจะดูว่ามีนโยบายพัฒนาด้านอะไรบ้าง เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน เรื่องการกระจายรายได้ ส่วนระดับที่ 2 คือการวัดในระดับพื้นที่เพราะแต่ละจังหวัดปัญหาไม่เหมือนกัน