ท่ามกลางความหวังของหลายๆ ธุรกิจที่มีต่อ “เขตการค้าเสรีอาเซียน” หรือ “อาฟตา” มีผลต่อการเสริมสร้างการแข่งขันให้กับสินค้าอาเซียนในตลาดโลก และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มประเภท “เบียร์” แล้วนั้น เขตการค้าเสรีอาเซียนดูเหมือนว่ากำลังจะกลายเป็นฝันร้ายสำหรับพวกเขา
เพราะจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ 6 ประเทศสมาชิก คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ต้องลดภาษีนำเข้าระหว่างกันลงเป็น 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2553 อาจก่อให้เกิดการทะลักของเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าเบียร์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ โดยเฉพาะในแง่อัตราการเสียภาษี
ภาษี ต้นทุนสูงสุดในการผลิตเบียร์
จากข้อมูลในรายงานทางการเงินของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ภาษี คือสัดส่วนต้นทุนที่สูงที่สุดในการผลิตเบียร์หนึ่งขวด หรือคิดเป็น 54.3%
แน่นอนว่า หากอัตราการเรียกเก็บภาษีต่ำกว่านี้ ย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างมาก และจะช่วยให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ง่ายขึ้นในปีหน้า เมื่อมีการทะลักเข้ามาของเบียร์นำเข้า ที่ได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน
ในทางตรงกันข้าม กลับไม่มีผู้ประกอบการรายไหนในไทยประเมินแล้วว่าจะได้เปรียบจากข้อตกลงในครั้งนี้ เพราะเบียร์ที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนไม่ต้องเสียภาษี ส่งผลให้พวกเขามีอิสระที่จะตั้งราคาได้ตามใจชอบ ขณะที่เบียร์ ซึ่งผลิตในไทยกลับต้องรับภาระภาษีที่หนักหนากว่า ในฐานะเป็นสินค้าที่มอมเมาประชากรของประเทศ
จากการประชุมครั้งล่าสุด ภาษีเบียร์ถูกขยับจาก 55% ไปจนแตะเพดานสูงสุดที่ 60% ซึ่งมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การปรับภาษีขึ้นครั้งนี้ก็ยังไม่ได้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้ประกอบการเบียร์ภายในประเทศมากนัก เพราะปรับขึ้นภาษีตามสภาพ หรือลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นการคิดฐานภาษีที่ผู้ผลิตได้เรียกร้องมาโดยตลอด
โดยทั่วไป โครงสร้างภาษีสรรพสามิตในการคิดฐานภาษีสำหรับสินค้าประเภทสุรา มี 2 ประเภท คือ วิธีคิดฐานภาษีตามสภาพ หรือที่เรียกว่าลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ กับวิธีคิดภาษีตามมูลค่า หรือราคาหน้าหน้าโรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับขึ้นภาษีมักทำในส่วนของภาษีตามมูลค่า หรือที่เรียกว่า “ภาษีหน้าโรงงาน” ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยมาตลอด และได้มีการเรียกร้องให้เก็บภาษีตามสภาพ หรือตามความแรงของแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น
แต่เมื่อมองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขตการค้าเสรีอาเซียน ดูเหมือนว่าแม้ผู้ประกอบการจะได้การตอบรับจากข้อเรียกร้องบ้าง แต่ก็คงช่วยอะไรไม่ได้กับการรับมือเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ
ปลาเล็กล้อมปลาใหญ่
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวไว้หลังจากการปรับโฉมของเบียร์ข้างครั้งใหญ่ และตั้งเป้าหมายที่จะกลับมาทวงบัลลังก์ผู้นำอันดับเบียร์ในตลาดอีกครั้งจากคู่แข่งสำคัญตลอดกาลอย่างสิงห์ว่า
“ผมคิดว่าเราคงกลับมาเป็นผู้นำตลาดอีกครั้งได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า แต่ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าการเป็นผู้นำตลาดในวันนั้นต้องมีส่วนแบ่งตลาดเท่าไร เราอาจจะมีส่วนแบ่งแค่ 20% แต่สามารถเป็นผู้นำตลาดก็ได้”
คำกล่าวของฐาปนสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดเบียร์ไทยในอนาคต สภาพตลาดและการแข่งขันโดยรวมของเบียร์ ที่อาจไม่ได้มีแค่สามผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด อย่าง ช้าง สิงห์ และไฮเนเก้นอีกต่อไป
แต่ “ปลาใหญ่ทั้งสาม” อาจโดนล้อมรอบด้วย “ปลาเล็กนับสิบ” ที่ต่างพุ่งกรูกันเข้ามาขอร่วมอาศัยชายคาในน่านน้ำแห่งนี้ และส่งผลให้สภาพตลาดเบียร์แบบที่เป็นมาตลอดสิบปี กำลังจะถูกเปลี่ยนครั้งใหญ่จากการเข้ามาของเบียร์จากต่างประเทศ
อาการที่สะท้อนออกมาให้เห็นได้ชัดเจน คงหนีไม่พ้นการขยายตัวของมูลค่าตลาด จำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดแตกเป็น Fragmentation เต็มไปด้วยผู้เล่นรายย่อยที่คอยแทรกแซงเจ้าตลาด
และที่สำคัญ คือ ผู้นำตลาดไม่จำเป็นต้องมีส่วนแบ่งมากกว่า 50% อีกต่อไป
ใครได้ ใครเสียจาก AFTA
ถ้าวิเคราะห์จากฐานภาษีที่ผู้ประกอบการภายในประเทศต้องจ่าย และ 6 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ต้องลดภาษีนำเข้าระหว่างกันลงเป็น 0% ซึ่งประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน
ไม่ว่าทางไหน ไทยเบฟฯ บุญรอดฯ และไทยเอเชียฯ ก็ต่างเสียเปรียบ
แม้ว่าผู้ประกอบการในประเทศไทยจะสามารถส่งออกเบียร์ไปขายยังประเทศต่างๆ ด้วยอัตราภาษี 0% เช่นเดียวกัน แต่ประโยชน์ข้อนี้กลับไม่ได้สร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทยมากนัก
กว่าครึ่งของประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงครั้งนี้ เป็นประเทศมุสลิม ที่คนส่วนใหญ่เคร่งครัดในศาสนา ทำให้ตลาดไม่ได้เปิดกว้างมากนัก และส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ก็มีเจ้าตลาดที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่แล้ว อย่างเช่น ไทเกอร์ เป็นต้น ขณะที่ตลาดต่างประเทศหลักของเบียร์ไทยอย่างประเทศเพื่อนบ้าน ลาว และกัมพูชา พม่า และเวียดนาม กลับยังไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงครั้งนี้ จนกว่าจะถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 หรืออีกประมาณ 6 ปีนับจากนี้
“เราเปิดเสรีกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม ตลาดตรงนี้ไม่กว้างอยู่แล้ว เพราะมุสลิมไม่ดื่มเหล้า” ฐาปน กล่าว
นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การเปิดเสรีภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพราะอาจส่งผลอุตสาหกรรมในประเทศอาจต้องย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศเพราะต้นทุนถูกกว่า
คำพูดของฐาปนยังสามารถชี้นำไปให้เห็นถึงทางออกของการแก้ปัญหาของไทยเบฟฯในอนาคต หากบริษัทฯได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้มาก
ขณะที่ฝั่งไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ ก็ได้เรียกร้องเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี โดยปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรของบริษัทฯ ได้เดินสายพบปะสื่อมวลชน เพื่ออธิบายถึงผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีเบียร์ ภายใต้ข้อตกลงทางภาษีเขตการค้าเสรีอาเซียน อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน
ผู้ประกอบการภายในประเทศ ยังต้องจ่ายอัตราภาษีหน้าโรงงาน รวมทั้งอัตราภาษีตามสภาพ ในทางตรงกันข้าม ผู้นำเข้าเบียร์จากต่างประเทศเปิดตัวเลขต้นทุนการนำเข้า หรือราคาส่งมอบ ซึ่งได้คิดต้นทุนสินค้าบวกค่าประกันสินค้าขณะขนส่ง รวมทั้งค่าขนส่งสินค้าจนถึงมือผู้ซื้อไว้ต่ำมาก ซึ่งแม้ว่าจะคิดคำนวณภาษีสรรพสามิตแบบเต็มเพดาน ราคาขายก็ยังคงต่ำกว่าเบียร์ที่ผลิตภายในประเทศมาก
ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จึงคิดย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลิตเบียร์แบรนด์เดิมกลับเข้ามาจำหน่าย ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อถึงตอนนั้นผู้ที่สูญเสียอาจไม่ใช่ผู้ประกอบการ แต่เป็นรัฐบาลที่จะสูญเสียรายได้มากกว่า 20% จากภาษีเบียร์ 5 หมื่นล้านต่อปี
ส่วน บุญรอดบริวเวอรี่ ยืนยันที่จะยังคงผลิตสินค้าในประเทศไทยต่อ และจะไม่ใช่วิธีออกไปตั้งโรงงานผลิตนอกประเทศ เพื่อส่งกลับมาขายที่ไทย
ปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการกลุ่มการตลาด สิงห์ คอร์เปอเรชั่น บอกว่า ปัจจุบันเบียร์สิงห์ขวดใหญ่ขนาด 750 มิลลิลิตรมีราคาขายหน้าโรงงานอยู่ที่ 42.93 บาท โดย 13.70 บาทจากราคาขายเป็นต้นทุนและกำไร ขณะที่อีก 29.23 บาท คือภาษีที่ต้องเสีย
แต่สำหรับเบียร์นำเข้าภายใต้ข้อตกลง FTA สามารถแจ้งราคาซื้อขายเท่าไรก็ได้ เบียร์อาจมีต้นทุนนำเข้า 12 บาท แต่แจ้งราคา 6 บาท ก็สามารถขายปลีกได้ในราคา 15 บาท เป็นต้น
และหากเงื่อนไขยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีกไม่นานคงได้ดื่มเบียร์สัญชาติไทย ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน