ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลเปิดมุมมองเส้นทาง Digital Transformation ชี้ 5G จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้าน Smart Living ในงาน Digital Transformation Forum 2019

กูรูดิจิทัลชาวตะวันตกฟังธงโลกเข้าสู่ยุคหลัง Digital Transformation จากการที่หลายองค์กรชั้นนำ และ Tech Company ได้ทำการ Digital Transformation ในรอบแรกเสร็จสิ้น ทำให้บรรดาองค์กรที่เหลืออยู่นิ่งเฉยไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) จึงได้ร่วมจัดงาน Digital Transformation Forum 2019 ขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก ภายใต้หัวข้อ “Surfing the Waves in Digital Transformation Era” โดยมุ่งหวังให้นำองค์ความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาต่อยอดเชิงเทคโนโลยี นวัตกรรม และแพลตฟอร์มดิจิทัล ผ่าน Best Practices จากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้องค์กรได้ตื่นตัวและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

หัวเว่ย จัดเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่เผยให้เห็นถึงเส้นทางการนำพาองค์กรไปสู่ Digital Transformation ในฐานะ Digital Provider รายใหญ่ของโลก หลังมีการวางตำแหน่งที่จะเป็น Digital Provider ให้กับทุกคน ทุกครอบครัว และทุกสังคม ด้วยการมุ่งหน้าไปสู่ธุรกิจ Smart Living เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยอาศัยการปรับองค์กรครั้งใหญ่ผ่าน Digital Transformation

นายกิติพงษ์ ธาราศิริกุล Chief Technology Officer, Huawei Technologies กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหัวเว่ยเกิดขึ้นในปี 2014 หลังมองเห็นบทบาทของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนเดิม จากการมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลมหาศาล ความคาดหวังจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ จนผู้ผลิตหลายรายเริ่มปรับบริการแบบเฉพาะบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประมวลผลเร็วขึ้น และเริ่มเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

“ปี 2014 หัวเว่ยทำ Digital Transformation ใน 3 ด้านด้วยกัน คือ กำหนดยุทธศาสตร์ กระบวนการทำงาน และการกำหนดเทคโนโลยี”

ด้านกำหนดยุทธศาสตร์ มีการปรับปรุงความพอใจของลูกค้า ปรับทัศนคติเพื่อสร้างพลังให้กับพนักงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเชื่อมโยงการทำงานทุกอย่างทุกแผนกไว้บนคลาวด์

กระบวนการทำงาน ใช้ ROADS มาเป็นหัวใจในการทำงานให้องค์กรขนาดใหญ่ของหัวเว่ยที่มีพนักงานมากกว่า 1 แสนคนทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ได้แก่ Real time ทำงานแบบเรียลไทม์ , On Demand ด้วยการดึงข้อมูลมาใช้, All online กำหนดให้ทุกคนต้องออนไลน์ , Do it yourself สร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และ Social เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

กำหนดเทคโนโลยี รู้เป้าหมายว่าใช้เทคโนโลยีเพื่ออะไร เช่น AI เข้ามาทดแทนการทำงานแบบใช้แรงงาน, Blockchain เพิ่มความแม่นยำในการทำงานอย่างถูกต้องโปร่งใส และ Cloud ช่วยบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้หัวเว่ยใช้ประโยชน์จาก Digital Transformation ในการทำ 5 โปรเจกต์ด้วยกัน ได้แก่ 1. R&D แก้ปัญหาการทำงานแบบไซโลด้วยการทำงานแบบ Agile 2. รวมศูนย์ข้อมูลของโรงงานผลิตที่กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อให้เห็นภาพการทำงานและแก้ปัญหาได้แบบเรียลไทม์ 3. แผนกโลจิสติกส์ ใช้อุปกรณ์ IoT ในทุกซัพพลายเชนเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า 4.Connected Huawei พัฒนาแอพพลิเคชั่น We Link ภายในบริษัทให้พนักงานประชุมผ่านแอพ ใช้จ่ายผ่านแอพ และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้วย e-Learning และ 5.Smart Campus ออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลวิเคราะห์อัตราการใช้พลังงายภายในสถานที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งในโปรเจกต์หลังนี้ นับเป็นการแบบจำลองของ Smart Living ที่หัวเว่ยมีการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายมาใช้ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

“Smart Living จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลากหลายมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT และ Cloud ปัจจุบันโลกเรายังอยู่ในยุค 4G ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่เน้นให้คนเป็นฝ่ายเชื่อมโยงเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุค 5G อย่างเต็มตัวเมื่อนั้นจะเป็น Game Changer ให้กับ Smart Living ทันที เพราะเทคโนโลยี 5G จะส่งข้อมูลได้เร็วกว่า มากกว่า และหนาแน่นกว่า 4G หลายร้อยเท่า จึงมีบทบาททำให้เทคโนโลยีต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารกันเองได้อย่างเป็นอิสระ” นายกิติพงษ์ กล่าว

ด้าน Mr. Van Tang Head of Urban Solutions, APAC-Social Innovation Hitachi Consulting กล่าวถึงการทำงานของฮิตาชิในด้าน Smart Living ว่ามีการนำเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้ด้วยกัน โดยทำงานร่วมกับโวดาโฟนในโปรเจกต์ Digital Train ให้กับ UK Rail ประเทศอังกฤษ โดยมีการติดเซ็นเซอร์ตามจุดต่างๆ ของรถไฟ ส่งข้อมูลไปยัง Cloud เชื่อมโยงกับ IoT เพื่อให้รถไฟขับเคลื่อนอย่างปลอดภัยโดยไม่ตกราง และอุปกรณ์ยังสามารถแจ้งเตือนการซ่อมได้เองโดยอัตโนมัติ ช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาการซ่อม ซึ่งความเชื่อมโยงในการทำงานระหว่างเทคโนโลยีต่างๆ ดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโรงงานผลิตได้ด้วย

Mr. Van Tang ยังให้มุมมองเรื่อง Smart Living ว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและเอื้อประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ยกตัวอย่าง หน่วยงานภาครัฐสามารถเก็บภาษีเข้าเมืองได้จากรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือการมีสมาร์ทมิเตอร์วัดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในบ้าน หรือโรงงาน โดยไม่ต้องใช้คนจดมิเตอร์ตามบ้านอีกต่อไป

“ตรงนี้ผมว่าเป็นโอกาสให้เราได้คิด Business Model ใหม่ๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์กับคนที่ใช้ไฟฟ้าน้อย เพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ไฟอย่างรู้คุณค่า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี Smart Living ไม่ได้ให้แค่การลดต้นทุนด้านการเงินอย่างเดียว แต่สังคม และสิ่งแวดล้อมยังได้ประโยชน์ด้วย”

ดร.สุพิทัศน์ ส่งศิริ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ชินาทรัพย์ จำกัด เสริมว่าปัจจุบันเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มมีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลแต่ละแห่งมารวมกัน โดยใช้ Data Analytic เข้ามาประมวลผลอาการเจ็บป่วยเพื่อคาดการณ์อุบัติการณ์ของโรคที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนได้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และยารักษาโรคได้ทันท่วงที เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีกำลังถูกนำมาปรับใช้ในทุกอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี Mr. Robert Jessing, Senior Principal, Accenture Strategy ทิ้งท้ายในประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ว่า เนื่องจาก Smart Living อาศัยเทคโนโลยีหลายอย่างในการขับเคลื่อน ดังนั้นการใช้ข้อมูลแบบเปิด จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลจากภาครัฐ ถือเป็นความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งปัจจุบันมีเพียงกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ General Data Protection Regulation (GDPR) ของสหภาพยุโรปเป็นความพยายามแรกในการเข้ามากำกับดูแลเท่านั้น

และนี่คือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีอยู่หลากหลาย และพัฒนาก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง ขึ้นอยู่กับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กรต่างๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงโลก