บทความโดย นายจิม ไวท์เฮิร์ส ประธานและซีอีโอ เร้ดแฮท อิงค์
ช่างเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มากที่เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างต่อเนื่องรอบๆ ตัวเรา ซึ่งดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าในอดีต เมื่อมองย้อนกลับไปถึงภาพรวมต่างๆ ทำให้ผมได้ตระหนักว่าเราได้ติดตามวิวัฒนาการของการทำงานของผู้คนมาโดยตลอด เช่น เมื่อสามปีก่อน ผมได้ให้ความสำคัญกับพลังแห่งความร่วมมือ (Power of Participation) ที่ผู้คนสามารถทำงานร่วมกันในวิธีเปิดเผย โปร่งใส ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น และสองปีก่อน ผมได้เน้นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบุคคล (Impact of the Individual) ที่การทำงานร่วมกันในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส นั้นเปรียบเสมือนกีฬาที่ผู้เล่นทุกคนต้องมีความกระตือรือร้นและสามารถเป็นผู้เริ่มเกมส์ได้ และล่าสุดในปีที่ผ่านมาเร้ดแฮทได้เผยผลสำรวจถึงความจำเป็นที่พวกเราทุกคนต้อง ปรับมุมมองในการทำงานใหม่ให้เท่าทันต่อยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจสูง
จากจุดที่ผมยืนในวันนี้ ทำให้ผมได้ตระหนักว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่อีกขั้นของการเปลี่ยนแปลง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘แรงขับเคลื่อนทางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่’ ที่จะสามารถขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในสังคม เพื่อการเติบโตและความก้าวหน้าในอนาคต แต่ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างเต็มภาคภูมิ เราอาจต้องมองย้อนกลับไปเพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้คนในยุคที่ผ่านมาต่างมีวิถีในการดำเนินงานและใช้ชีวิตแตกต่างจากเราในยุคนี้เป็นอย่างมาก และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พื้นฐานในการเปลี่ยนกรอบความคิดและการดำเนินงานจะสามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาครั้งใหญ่ในสังคม
ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อข้อจำกัดต่างๆ
เมื่อ 500 ปีก่อน ก่อนที่เราจะเชื่อในเรื่องวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผล กระบวนการ และวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ เราไม่สามารถตั้งคำถามหรือถกเถียงถึงความเป็นไปในโลกนี้ได้
ต่อมา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ทำให้เราได้รับข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้มากขึ้น วิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยบุคคลที่หมั่นใฝ่หาความรู้อย่างไร้ขอบเขต กาลิเลโอ ผู้ริเริ่มที่กล้าหาญ ได้ตั้งข้อกังขาในสิ่งที่เขาได้รับการพร่ำสอนเกี่ยวกับสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ แม้ว่าข้อสงสัยและคำถามเหล่านั้นจะทำให้เขาต้องถูกกักขังหรือจบชีวิตลงก็ตาม
ยิ่งผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งพี่พวกเขาเห็นมากเท่าใด คำถามเหล่านั้นก็จะยิ่งลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผลลัพธ์คือ เราจะสามารถเปลี่ยนจากโลกที่เราเคยเชื่อในคำบอกกล่าวของผู้มีคุณวุฒิสูงกว่า ไปยังโลกของคำตอบที่อยู่บนพื้นฐานของการสำรวจและทดลอง ดังเช่นคำกล่าวของเซอร์ฟรานซิส เบคอน ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่ว่า “ผู้ใดที่ตั้งต้นด้วยความมั่นใจและตั้งมั่น ผู้นั้นมักจบลงด้วยความสงสัย แต่หากผู้ใดแน่วแน่ที่จะเริ่มต้นด้วยคำถามหรือข้อสงสัย ผู้นั้นจะได้รับคำตอบที่แท้จริงและแน่นอนกลับคืน”
หัวใจหลักของวิธีการทางวิทยาศาสตร์คือความสงสัยในความเป็นไปของโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งก็คือการตั้งคำถามว่าเหตุใดสิ่งต่างๆ ถึงเป็นเช่นนั้น และเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านการทดลองและข้อผิดพลาดต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เหตุผลแบบนิรนัยมาสู่การใช้เหตุผลแบบอุปนัย จากการเรียนรู้แบบบนสู่ล่างมาเป็นการเรียนรู้จากล่างขึ้นบน ซึ่งจะขยายขอบเขตอิสรภาพทางความคิดและความเป็นไปได้ และอยู่เหนือขีดจำกัดที่ผู้มีคุณวุฒิสูงกว่าจะสามารถกำหนดกฏเกณฑ์ได้
ผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา
การนำวิธีการทางการทดลองดังกล่าวมาใช้จะสามารถเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของเราต่อแทบทุกสิ่งที่เรากระทำและมองเห็นอยู่ รวมไปถึงวิธีการคิดที่จะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมและความก้าวหน้าล้ำสมัยของโลก
หากย้อนไปเมื่อครั้งที่เราตระหนักรู้ว่าโลกไม่ใช่จุดศูนย์กลางของจักรวาล เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ซึ่งก่อให้เกิดพลังทางความคิดรูปแบบใหม่ เช่น เสรีภาพส่วนบุคคล การปกครองรูปแบบรัฐธรรมนูญ และการยอมรับความแตกต่างทางศาสนา นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ของนักประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีสำคัญ เช่น เครื่องจักรไอน้ำ โทรเลข และกระบวนการ Bessemer ในการผลิตเหล็ก นำเราเข้าสู่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) รวมถึงการเรียนรู้ทฤษฎีกายวิภาค ตั้งแต่ทฤษฎีเล็กๆ ด้านเชื้อโรคไปจนถึงการผ่าตัดขั้นสูง ที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติทางการแพทย์ (Medical Revolution)และสามารถพลิกโฉมความเข้าใจพื้นฐานแบบเดิมของโรคภัยและร่างกายมนุษย์ได้
การพัฒนาและความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นผลมาจากการเรียนรู้และต่อยอดจากผู้บุกเบิก โดยไม่หยุดที่จะคอยหมั่นตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบใหม่ๆ
ศาสตร์แห่งการค้นพบยังคงดำเนินต่อมาจนถึงวันนี้ รวมไปถึงโลกแห่งเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ โอเพ่นซอร์ส ทั้งความใฝ่รู้ ความร่วมมือ คุณธรรม และอิสรภาพต่างก็เป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้จากประสบการณ์และวิถีแบบโอเพ่นซอร์ส เร้ด แฮท ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดีเพราะเรายึดหลักการเดียวกันนี้ภายใน วัฒนธรรมองค์กรของเรา เช่นเดียวกัน และนี่คือเหตุผลที่ทำไมเราถึงสามารถพัฒนาสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัย และสามารถปลดล็อคศักยภาพของนักพัฒนาและองค์กรต่างๆ ให้อยู่เหนือกฏเกณฑ์ทางการเปลี่ยนแปลงของโลกได้
ดังเช่นที่ฟรานซิส เบคอน และผู้บุกเบิกทั้งหลายได้กล่าวไว้ เราไม่ได้เดินบนเส้นทางนี้เพียงลำพัง ผู้บุกเบิกและชุมชนของโอเพ่นซอร์สนับพันได้ส่งเสริมและผลักดันโอเพ่นซอร์สไปสู่อีกระดับเหนือขีดจำกัด โอเพ่นซอร์สเป็นมากกว่าแค่วิธีการในการสร้างซอฟต์แวร์ แต่ยังสามารถขยายขอบเขตทางปรัชญาและความเชื่อได้ เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สและวิถีแห่งโอเพ่นซอร์สได้ร่วมกันต่อยอดทางความคิดอย่างไร้ขีดจำกัด และเปิดโลกทรรศน์ใหม่สู่ความเป็นไปได้ที่ไร้ขอบเขต
ปรากฏการณ์ทางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ด้วยการดำเนินงานแบบวิถีแห่งโอเพ่นซอร์ส ชุมชนของเราได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมาย เช่น Linux ที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ชุมชนของเรายังได้พลิกโฉมวิธีการที่เรามีปฏิสัมพันธ์ สื่อสาร และแก้ไขปัญหาร่วมกัน โอเพ่นซอร์สได้กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของการคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบัน ผู้คนมากมายต่างรับรู้ถึงศักยภาพของโอเพ่นซอร์สในการช่วยให้การดำเนินงานดีขึ้น รวมไปถึงโอเพ่นซอร์สในแง่ของการพลิกโฉมการมีปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารและการแก้ปัญหาร่วมกัน ก็กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั่วโลกต่างก็นำเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สมาปรับใช้
ผมเชื่อว่าโอเพ่นซอร์สได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่และกำลังจะกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังจะเห็นได้จากคำถามมากมายในปัจจุบัน เช่น เราสามารถคิดค้นและสร้างศักยภาพด้วยเทคโนโลยีให้เป็นจริงได้อย่างไร เราจะสร้างสรรค์และดำเนินการสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งในรายบุคคล เป็นทีม ในองค์กร และที่สำคัญ ในสังคมวงกว้าง
แม้ว่าในวันนี้ เราอาจจะยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัดของคำถามเหล่านี้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทดลองและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เราจะยังคงผลักดันการดำเนินงานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่เรามุ่งหวัง และด้วยความหมั่นใฝ่รู้และต่อยอดคำถาม เราจะสามารถขยายขอบเขตความเป็นไปได้ให้กว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อวันนี้และอนาคต
ในนามของเร้ด แฮท ผมขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ไปกับเรา มาร่วมสร้างคำถามไปด้วยกันว่า ‘เราจะสามารถทำอะไรต่อไป เพื่ออนาคตของเราได้บ้าง’