ไพบูลย์เผยตลาดทุนกังวลเรื่องเสถียรภาพ – เอกภาพ ของรัฐบาลชุดใหม่ หลังคะแนนเสียงเกินครึ่งไม่มาก แถมอาจมีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 20 พรรค แนะเร่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ใช้เวทีตลาดทุนสื่อสาร และคัดเลือกรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ชำนาญงาน เร่งออกนโยบายหนุนการบริโภคในประเทศ ชี้หุ้นกลุ่มธนาคารและบริโภคน่าสนใจ มองเป้าดัชนีปี 62 ที่ 1,750 – 1,800 จุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยในระหว่างร่วมรายการ “LIVE with Guru เจาะลึกกับผู้รู้เรื่องการลงทุน” ในเพจเฟซบุ๊ก TISCO Mastery ว่า ปัจจุบันภาคตลาดทุนมีความคาดหวังเชิงบวกต่อรัฐบาลชุดใหม่ไม่มากนัก เนื่องจากมีแนวโน้มจะเป็นรัฐบาลที่รวมเสียงจากพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กถึง 20 พรรคไว้ด้วยกัน และมีเสียงเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย จึงมองว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจประสบปัญหาด้านเสถียรภาพ และเอกภาพในการบริหารงาน รวมทั้งอาจมีวาระในการบริหารประเทศไม่นานนัก ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับภาพการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น ราคาหุ้นจึงไม่ได้ตอบรับในเชิงบวก และยังไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาประมาณ 1 แสนล้านบาทตามที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่คือ ต้องสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถดำรงวาระจนครบ 4 ปี และดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การคัดเลือกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ควรจะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญและเข้าใจถึงการบริหารงานด้านเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะรัฐบาลชุดใหม่นี้จะมีเวลาพิสูจน์ผลงานไม่นานนัก
“การทำงานของรัฐบาลที่มาจากหลากพรรคร่วมเช่นนี้ คาดว่าจะใช้วิธีแบบไซโล (Silo) คล้ายกับเมื่อ 20 ปีก่อน คือ แต่ละพรรคจะได้รับมอบหมายให้ดูแลเป็นรายกระทรวง จึงเป็นห่วงเรื่องการทำงานที่สอดประสานกันของแต่ละกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งการทำงานในลักษณะเช่นนี้จะไม่มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะแต่ละพรรคที่รับผิดชอบกระทรวงเศรษฐกิจจะรายงานตรงไปที่นายกรัฐมนตรีเลย ดังนั้น นายกรัฐมนตรีท่านใหม่จะต้องพร้อมสำหรับการเป็นหัวหน้าทีมดูแลด้านเศรษฐกิจในทุกด้าน ต้องมีทักษะในการบริหารจัดการ และสามารถเคาะมาตรการเศรษฐกิจได้เด็ดขาด หากพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไม่ตรงกัน” นายไพบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ คาดหวังว่าจะได้เห็นการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก เพราะในช่วงนี้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงชะลอตัว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 ลงมาแล้วถึง 3 ครั้งเหลือเพียง 3.3% ต่อปี ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็กลับมาคุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง ด้านการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวหลังจากเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เรียกได้ว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจกว่า 80% ได้แก่ การส่งออก และการท่องเที่ยว ชะลอตัวทั้งหมด หากรัฐบาลไม่กระตุ้นการบริโภคในประเทศปีนี้ อาจได้เห็นจีดีพีที่ต่ำกว่า 3% แต่หากต้องการเห็นจีดีพีที่ 3.5% รัฐบาลจะต้องเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องและออกมาตรการหนุนการบริโภคในประเทศคู่กันไป
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรใช้เวทีตลาดทุนในการสื่อสาร เพราะตลาดทุนเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับการระดมทุนและการลงทุน หากพูดนโยบายออกมาแล้วตลาดหุ้นตอบรับในเชิงบวกและทำนโยบายที่กล่าวมาแล้วให้เป็นจริง จะยิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเกิดการสนับสนุนให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้นานๆ
สำหรับมุมมองด้านการลงทุนนั้น ส่วนตัวประเมินว่าเศรษฐกิจในปี 2563 จะเริ่มฟื้นตัว สงครามการค้าที่กดเศรษฐกิจอยู่ในช่วงนี้จะได้รับการปลดล็อก เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างไม่ได้ประโยชน์จากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ ประกอบกับสภาพคล่องทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ทั้งนี้ ในปี 2563 จะมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ซึ่งในอดีตในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ กว่า 20 ครั้ง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับขึ้น มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้นที่ในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดหุ้นลดลงเนื่องจากมีวิกฤติเศรษฐกิจ
ดังนั้น ในช่วงที่หุ้นปรับฐานเพื่อไปต่อในช่วงนี้จึงเป็นจังหวะ “ซื้อ” มองดัชนีหุ้นไทยปี 2562 อยู่ที่ 1,750 – 1,800 จุด หุ้นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว คือหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในขณะนี้ซื้อขายเหนืออัตราส่วนราคาต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (PBV) ไม่มากนัก และอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่
Related