บมจ.อสมท เผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 62 ดีขึ้นโดยลดการขาดทุนลงกว่า 71 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 “ธุรกิจทีวี” ยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร ขณะที่วิทยุ 3 คลื่นสามารถสร้างรายได้โดดเด่นในไตรมาสแรก ตั้งเป้าหลังคืนใบอนุญาตช่อง 14 เตรียมเสริม Content ใหม่เพิ่มเติมและปรับรูปแบบนำเสนอข่าวใหม่ทางหน้าจอช่อง 30 พร้อมให้น้ำหนักกับ Content podcast ของวิทยุ ข่าว และ 9Ent ออนไลน์
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “อสมท รายงานงบการเงิน ในไตรมาส 1 ปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2562 โดยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2562 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 32 ล้านบาท ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 71 เนื่องจากฝ่ายบริหารได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย อย่างต่อเนื่อง ส่วนรายได้รวมของ บมจ. อสมท ในไตรมาส 1 ปี 2562 มีจำนวน 594 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปี 2561 เป็นผลจากธุรกิจโทรทัศน์และธุรกิจการให้บริการโครงข่ายดิจิทัล (BNO) หากเทียบกับ ไตรมาสสุดท้ายของปี2561 ลดลงร้อยละ 20 ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ของไตรมาส 4 ปี 2561 เป็นช่วงที่บมจ.อสมท มีรายได้สูงสุดในปีที่ผ่านมา”
ในไตรมาส 1 ปี 2562 รายได้รวมของธุรกิจโทรทัศน์ และ ธุรกิจวิทยุ ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้ บมจ.อสมท มากที่สุด ด้วยร้อยละ 29 และร้อยละ 28 ตามลำดับ รายได้จากการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (BNO) ร้อยละ 20 ธุรกิจร่วมดำเนินกิจการ(สัมปทาน) ร้อยละ 20 ธุรกิจสื่อดิจิทัล (โทรทัศน์ดาวเทียม MCOT Satellite Network และสื่อดิจิทัลต่างๆ ของ อสมท) ร้อยละ 2 รายได้อื่นๆ ร้อยละ 1
ธุรกิจโทรทัศน์ ช่วง 3 เดือนแรกของ ปี 2562 บมจ. อสมท มีรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ จำนวน 175 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งรายได้จากการให้บริการช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 เป็นรายได้หลักของธุรกิจโทรทัศน์ และมีแผนที่จะนำเสนอรายการใหม่ๆ ที่เป็นความบันเทิง
แต่มีสาระ อาทิ ซีรีส์ฟอร์มยักษ์สามก๊ก, นางพญางูขาว, สารคดีและซีรีส์ยอดนิยมจาก BBC First ในช่วงปลายไตรมาส 2 อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีรายการสำหรับครอบครัวมากขึ้น พร้อมกับโครงการพิเศษที่สนับสนุนนโยบายของภาครัฐและโครงการพิเศษของลูกค้าเอกชน
ธุรกิจวิทยุ รายได้วิทยุ ในช่วงสามเดือนแรกปี 2562 จำนวน 164 ล้านบาท ลดลงน้อยกว่าร้อยละ 0.2
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยมีโครงสร้างรายได้ ดังนี้ รายได้จากวิทยุในส่วนกลาง ร้อยละ 74 รายได้จากวิทยุในส่วนภูมิภาค ร้อยละ 26 สำหรับคลื่นวิทยุที่มีผลงานโดดเด่น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ MET 107 MHz , FM 97.5 MHz Mellow และคลื่นความคิด FM 96.5 MHz ตามลำดับ พร้อมให้น้ำหนักกับ Content podcast ของวิทยุ ข่าว และ 9Ent ออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน
นายเขมทัตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากกระบวนการคืนใบอนุญาตช่อง 14 เสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม 2562 อสมท จะมุ่งพัฒนารายการของช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ให้มากขึ้น และเปิดรับพันธมิตรผู้ผลิตรายการ ทั้งในด้าน Contentข่าว, สาระบันเทิง และ Platform ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น