กดไลค์รัวๆ ให้แก่นักศึกษาทีม Law mate จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ติด 1 ใน 30 ทีม Startup จาก 15 ประเทศทั่วโลก และเป็นทีมนักศึกษาเพียงทีมเดียวที่ได้เข้ารอบในงาน Techsauce Global Summit 2019 ซึ่งเป็นเวทีนานาชาติ งาน startup ที่ใหญ่อันดับ 2 ในเอเชีย
โดย 1 หนุ่ม 3 สาว จากในทีม Law mate ประกอบด้วย พัด หรือนายพัชร เมธาจิตติพันธ์ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ CITE , อิงฟ้า น.ส.วาสนา วงษ์ไสว นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ , ลูกจันทร์ น.ส.ศรัจจันทร์ พลอยบุศต์ นักศึกษาวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี CIBA และแพรว น.ส.แพรวรรณ สีมาศ (แพรว) นักศึกษาคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่งน้องๆ ทีม Law mate ได้เสนอไอเดีย “แอพพลิเคชั่น” ที่ช่วยให้บริการทางด้านกฎหมายต่างๆ เพื่อช่วยลดขั้นตอน ประหยัดเวลา ที่สำคัญทำให้การจัดเตรียมเอกสารในการติดต่อกันหน่วยงานถูกต้องเพิ่มโอกาสให้กลุ่ม Startup รุ่นใหม่ได้จัดตั้งบริษัท หรือดำเนินการธุรกิจได้อย่างง่าย สะดวกมากขึ้น
ลูกจันทร์ เล่าว่า ชมรมสตาร์ทอัพคลับของมหาวิทยาลัยมีสมาชิกหลายคนที่มีความรู้และมีไอเดียในการทำกิจกรรม หรือต้องการประกอบธุรกิจ มีกลุ่ม Startup มากมาย ซึ่งในกลุ่มของเราเป็นการรวมตัวจากเพื่อนๆ ในหลายสาขาจนเกิดเป็นทีม Law Mate โดยสมาชิกแต่ละคนทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งพัท จะดูในเรื่องของการประสานงาน การทำโปรแกรมต่างๆ ขณะที่อิงฟ้าดูเรื่องข้อมูลด้านกฎหมาย แพรวดูแลเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินการเรื่องเอกสาร ช่องทางการติดต่อของลูกค้า ซึ่งช่องทางไหน และลูกจันทร์ จะช่วยในการประสานงาน การสร้างเครือข่าย การนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ และการเตรียมพร้อมในภาพรวม ดังนั้น แต่ละคนจะมีหน้าที่ชัดเจนแต่ทำงานประสานร่วมกัน
“การทำกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ได้ประโยชน์เยอะมาก โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมาย การจัดทำเอกสารสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ได้เรียนรู้แบบฟอร์มตามการจดทะเบียน ได้ความรู้ เป็นการช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่ายให้กับสตาร์ทอัพ เราได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ที่สำคัญทำให้รู้จักการคิดวิเคราะห์ การตอบคำถาม และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งได้ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ เพราะการติด 1 ใน 30 ทีม และเป็น 1 ใน 6 ทีมของประเทศไทย ที่เข้ารอบในงานเวทีนานาชาติTechsauce Global Summit 2019 ต้องพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษ และต้องเตรียมความพร้อมในการตอบคำถาม การทำกิจกรรมจึงเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อนักศึกษาทุกคน อยากให้นักศึกษาทุกคนเปิดโอกาสในการเรียนรู้กิจกรรมนอกห้องเรียน และเข้าร่วมเวทีต่างๆ”ลูกจันทร์ กล่าว
พัด เล่าว่าทุกคนในทีมได้มีการทำงานร่วมกันในแคมป์ผู้ประกอบการ หรือ Startup Boot Camp ของมธบ.และมีการหาไอเดียร่วมกันว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาธุรกิจในเรื่องใดบ้าง โดยสมาชิก 2 คน ในทีมมีงานอดิเรกในการรับจดทะเบียนให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ Startup ทำให้เห็นปัญหาของกลุ่มประกอบการ โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมเอกสารเพื่อจดทะเบียน รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ค่อนข้างต้องใช้เวลา และหากใครไม่เข้าใจก็จะทำให้เกิดความยุ่งยาก ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ดังนั้น พวกเราจึงมองหาวิธีการที่จะช่วยผู้ประกอบการจนเกิดเป็นไอเดีย แอพพลิเคชั่นระบบทำงานศูนย์กลางจัดการทุกเรื่องเอกสารที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมาย ไว้รองรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ช่วยลดขั้นตอน เวลาการจัดเตรียมเอกสารในการติดต่อหน่วยงานต่างๆ ใน “จุดเด่นของ ทีม Law Mate คือ จะเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านเอกสารทางกฎหมาย รวมถึงมีนักกฎหมายมืออาชีพเข้ามาเป็นโค้ชให้ ทำให้ผู้มาใช้บริการได้รับความสะดวก ถูกต้องในการทำธุรกิจต่างๆ ตอนนี้ถึงจะยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาแอพพลิเคชั่น แต่สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้นั้นมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้ทักษะSoft Skills ทั้งการทำงานเป็นทีม การสร้างเครือข่าย การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเกิดจากการได้ทำโปรเจคต่างๆ ยิ่งมาทำในเรื่องกฎหมาย ทำให้มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการที่ได้รู้เรื่องกฎมายต่างๆ” พัด กล่าว
ด้าน อิงฟ้า เล่าว่า เธอทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลด้านกฎหมายต่างๆ เพราะเรียนด้านนี้เข้าใจปัญหาของกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ในการทำธุรกรรม อาทิ การจดทะเบียนบริษัท จะดูว่าต้องจดอย่างไร และจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาใช้บริการได้อย่างไร ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง ใช้แบบฟอร์มอะไร ฉะนั้น เมื่อเห็นถึงปัญหาได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในการวางแผนเพื่อจัดทำแอพพลิเคชั่น ลดเวลา ค่าดำเนินการต่างๆ และช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการได้เรียนรู้กฎหมาย ทำธุรกิจอย่างถูกต้อง เป็นธรรมเหมาะสมมากขึ้น
“การได้มาร่วมทีม Law Mate เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเราต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมมากมาย ทำให้ได้เรียนรู้ข้อกฎหมาย รู้วิธีการใช้กฎหมายช่วยผู้ประกอบการStartup ในการทำธุรกิจ ยิ่งได้มีโอกาสเข้ารอบในงาน Techsauce Global Summit 2019 เป็นทีมนักศึกษาทีมเดียว ยิ่งต้องทำให้ต้องฝึกฝนตนเองมากขึ้น ศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ในการตอบคำถาม เปิดประสบการณ์ในการเข้าสู่เวที งานระดับนานาชาติ ทำให้ได้เห็นผลงานจากทีมอื่นๆ และได้เรียนรู้ธุรกิจใหม่ๆอีกด้วย” อิงฟ้ากล่าว
นายนิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิชาการ มธบ. กล่าวว่า Techsauce Global Summit 2019 เป็นเวทีสำหรับ Startup ทั่วโลก ส่งผลงานเข้าประกวดกัน โดยจัดมาอย่างต่อเนื่องสู่ปีที่ 3 ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทีมนักศึกษามธบ.ได้เข้าร่วม และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบ 1ใน 30 ทีม เป็นทีมนักศึกษาทีมเดียวขณะที่ทีมต่างๆ ล้วนเป็นทีมมืออาชีพ นักศึกษาได้ผ่านการประกวด การแข่งต้องพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษนำเสนอธุรกิจของพวกเขาเป็นการต้องการแก้ปัญหาให้แก่กลุ่มนักธุรกิจ Startup เป็นไปตามหลักในการสอนของมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน
“เด็กทั้งหมดที่เรียน Startup พวกเขาจะได้เรียนรู้กระบวนการคิด การหาคำตอบที่ผ่านการตั้งคำถาม เพราะการทำธุรกิจ การทำงาน การใช้ชีวิต พวกเขาล้วนต้องผ่านคำถาม การที่ได้เรียนรู้คำถามและหาคำตอบ จะเป็นการกระตุ้นให้เขาได้คิด แก้ปัญหา และคิดต่อยอดจากคำถาม เด็กมธบ. มีพื้นฐานความรู้ มีความกล้าในการแสดงความคิดเห็น มีเหตุมีผล คิดวิเคราะห์ และเข้าใจหลักในการทำStartup ที่ไม่ใช่เพียงผ่านการลงมือทำ แต่รู้จักการคิดถึงความเป็นไปได้ การประเมินความเสี่ยง การทดลอง และมีแนวคิดใหม่ๆ ทำอย่างไรให้องค์กรรอด มหาวิทยาลัยสอนให้เด็กได้คิด และมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจทั้งของตนเอง หรือพัฒนาองค์กรธุรกิจที่ตนเองอยู่”นายนิติ กล่าว
หัวใจของสตาร์ทอัพ คือ เข้าใจลูกค้าของคุณให้มากที่สุด เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนทุกวัน ต้องเข้าใจลูกค้าให้มากที่สุด และพัฒนาสินค้าตามที่ลูกค้ามากที่สุด อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถร่วมเป็นกำลังใจ และร่วมโหวตให้ทีม Law Mate ทีมนักศึกษาหนึ่งเดียวของไทยจาก DPU บนเวทีนานาชาติ เพื่อชิง Popular Vote รอบ Semi-Final ของการแข่ง Startup Pitch Championships ในงาน Techsauce Global Summit 2019 การช่วยให้ Law Mate ได้ไปต่อ กด Like กด Share ที่ลิงค์ http://bit.ly/VoteLawmate
Related