สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ปี 2561 จำนวน 38 ล้านคน ชาวจีนมาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 10.5 ล้านคน สร้างรายได้ 5.8 แสนล้านบาท ปีนี้ ททท.วางเป้าหมายเพิ่มขึ้นกว่า 11 ล้านคน แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับประเทศไทย ที่กระทบกับตลาดนักท่องเที่ยวจีน แต่พบว่า Perception ของนักท่องเที่ยวจีนยังมีมุมอง “ที่ดีมาก” กับประเทศไทย นั่นถือเป็นโอกาสของทั้งการท่องเที่ยวและสินค้าต่างๆ ในไทย เพราะชาวจีนติดอันดับนักช้อปมือหนึ่งเช่นกัน
ลลิต คณาวิวัฒน์ไชย Head of Strategy มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูล (ดาต้า) ของ มายด์แชร์ ประเทศจีน ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่าชาวจีน “รู้จัก” เมืองไทยเป็นอย่างดี มีคนจีนที่สนใจและมีแผนว่าต้องการมาท่องเที่ยวไทยกว่า 77 ล้านคน จำนวนมากกว่าประชากรในประเทศไทยในปัจจุบัน นั่นเท่ากับโอกาสมหาศาล ของทั้งการท่องเที่ยวและการขายสินค้าในไทยให้กับนักท่องเที่ยวจีน
กลุ่ม Fourth Tier มาไทยมากสุด
เดิมมักเข้าใจกันว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมาจากเมืองใหญ่ หรือกลุ่ม First Tier แต่จากข้อมูลพบพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทย พบว่ามาจากเมืองรองมากขึ้น โดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น First Tier 18%, Second Tier 28%, Third Tier 23% และ Fourth Tier 31% ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดในปัจจุบัน
สัดส่วนดังกล่าวเกิด First Tier ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงสุด เคยเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว และวนเวียนไปท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน การที่นักท่องเที่ยวจีนจากเมืองรองเดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะยังมีชาวจีนจากเมืองรองต้องการมาท่องเที่ยวไทยเป็นตัวเลือกแรกๆ
“สิ่งที่จูงใจนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางมาไทย เพราะกลุ่มที่มาท่องเที่ยวไทยจะบอกต่อและโพสต์โชว์โซเชียล แหล่งท่องเที่ยว อาหาร ช้อปปิ้ง สินค้าที่ซื้อ และพูดถึงแต่เรื่องดีๆ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนสนใจมาท่องเที่ยวตามกัน เพราะรู้สึกว่าใครๆ มาก็ชอบ หากตัวเองไปก็น่าจะชอบ”
เที่ยวทั้งปี ไม่มีโลว์ซีซัน
แน่นอนว่าการเดินทางท่องเที่ยวสูงสุด จะอยู่ในช่วงวันหยุดยาวของชาวจีน คือ วันชาติ (The National Day Holiday) และตรุษจีน แต่การเดินทางต่างประเทศในช่วงนี้ จะมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยว
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากเมืองรองอันดับ 3 และ 4 เดินทางมาไทยมากขึ้น เป็นกลุ่มที่มีงบประมาณท่องเที่ยวไม่มากเท่า First Tier จึงเลือกมาช่วงนอกฤดูกาลแทน และบางกลุ่มที่เดินทางเป็นครอบครัวช่วงปิดเทอม พฤติกรรมการเดินทางดังกล่าว ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย “ตลอดทั้งปี” แบบไม่มีโลว์ซีซัน
นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต การวางแผนท่องเที่ยวจึงใช้แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ จองทริปทั้งตั๋วโดยสารเครื่องบินและที่พัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม First Tier และ Second Tier สัดส่วน 53%
แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่มที่วางแผนท่องเที่ยว โดยใช้ “เอเย่นต์ทัวร์” มีสัดส่วน 47% และเป็นกลุ่ม DIY คือใช้ทั้งออนไลน์และเอเย่นต์ทัวร์ 17%
รู้จัก 4 กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
พฤติกรรมการท่องเที่ยวจะวางแผนล่วงหน้า 1 เดือน หากเป็นทริปสั้น 5 – 7 วัน โดยแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนตามพฤติกรรมและทัศนคติแล้ว จะมีทั้งหมด 4 กลุ่ม
1. Status Seekers สัดส่วน 10% เป็นกลุ่ม FIT อายุ 24 – 34 ปี อาศัยในเมืองใหญ่ เดินทางทั้งบิสสิเนส ทริปและท่องเที่ยวพักผ่อนเอง เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สัดส่วนสูงสุดของการใช้จ่ายหมดไปกับการช้อปปิ้ง และ สเปเชียลเซอร์วิสต่างๆ เช่น สปา เป็นกลุ่มที่เดินทางบ่อย 4 – 5 ครั้งต่อปี ใช้เงิน 57,000 บาทต่อทริป
2. Achievers อายุ 35 – 45 ปี สัดส่วน 30% เป็นกลุ่มที่ทำงานระดับสูงและทำงานหนัก การเดินทางท่องเที่ยวจะมาในช่วงเทศกาล จัดการวางแผนท่องเที่ยวเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อปีจึงท่องเที่ยวไม่บ่อย จึงใช้เป็นทริปยาว 6 – 9 วัน เดินทางเป็นครอบครัวเล็ก พ่อแม่ลูก ชอบท่องเที่ยวในสถานที่ที่ได้รับความนิยมของไทย แต่ช้อปปิ้งไม่มาก ใช้เงิน 52,000 บาทต่อทริป
3. Conformists สัดส่วน 31% อายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองรองและไม่ได้มีโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศมากนัก แต่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่ได้ยินการบอกต่อเรื่องเล่าในมุมที่ดีจากเมืองไทย ดังนั้นเมื่อตัดสินใจท่องเที่ยวจึงเลือกเดินทางมาไทย เป็นตัวเลือกแรกๆ และเป็นกลุ่มที่ระมัดระวังการใช้จ่ายจึงเดินทางช่วงนอกฤดูกาล แต่เพราะรู้สึกว่าประเทศไทย เดินทางมาเมื่อไหร่ก็สวย จึงเลือกช่วงที่ไม่ใช่ไฮซีซัน ใช้เงิน 43,000 บาทต่อทริป
“กลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าหากมาท่องเที่ยวไทยก็น่าจะชอบ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมให้ทำหลากหลาย และรู้สึกว่าอย่างไรก็ไม่ผิดหวังกับการมาท่องเที่ยวไทย และรู้สึกว่าประเทศไทยไม่แพง จึงสามารถจ่ายได้”
4. Family-Oriented Group สัดส่วน 29% อายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่อาศัยในเมืองรอง การเดินทางท่องเที่ยวจะมาแบบ 3 เจนเนอเรชั่น ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และลูก เลือกท่องเที่ยวช่วงปิดเทอม มองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกคน กลุ่มนี้เดินทางท่องเที่ยว “เช็กลิสต์” ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทย ชอบอาหารไทย ไม่เน้นช้อปปิ้ง ใช้เงิน 46,000 บาทต่อทริป
สื่อสารอย่างไรเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีน
ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาไทย ก็ต้องบอกว่า “เพิ่มขึ้น” ทุกปี เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ อีกทั้งมีการจับจ่ายกับสินค้าหลากหลายประเภท ทำให้สินค้าและแบรนด์ต่างๆ สนใจเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน
“แต่หากไม่รู้จักว่านักท่องเที่ยวจีน เป็นคนแบบไหน มีพฤติกรรมท่องเที่ยวที่ไหน ใช้เงินอย่างไร ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าคนกลุ่มนี้”
ลลิต บอกว่าการสื่อสารและทำตลาดเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีน จะดูทั้ง Customer Journey ตั้งแต่เริ่มค้นหาทริปท่องเที่ยว กระทั่งเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ดังนั้นกระบวนการสื่อสารจึงต้องเริ่มตั้งแต่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มหาข้อมูล
ในกลุ่ม Status Seekers และ Achievers ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออาศัยในเมืองหลักเป็นกลุ่ม FIT ที่วางแผนทริปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียของจีน เช่น WeChat ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเริ่มค้นหาข้อมูลท่องเที่ยว จองตั๋วโดยสารเครื่องบิน กระบวนการสื่อสารของแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มนี้ จะต้องส่งข้อมูลสินค้าและโปรโมชั่นของช้อปที่สนามบินไปให้ รวมทั้งอี-คูปอง เพื่อให้มาแลกรับส่วนลดที่ช้อป และยังสามารถวัดผลจากการสื่อสารได้อีกด้วย
เมื่อนักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวในไทยแล้ว ระหว่างที่อยู่เมืองไทย จะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็น “กรุ๊ปแชท” สอบถามแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ดังนั้นหากมีการสอบถามเข้ามา ระบบจะแนะนำร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ในจังหวะนี้ระบบในกรุ๊ปแชท จะให้ข้อมูลโปรโมชั่นของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจีนกำลังเดินทางไปได้เช่นกัน เป็นอีกช่องทางการสื่อสารและทำตลาดกับนักท่องเที่ยวจีน
จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจะพบว่ากลุ่มที่มาจากเมืองรองอันดับ 3 และ 4 ยังมีกลุ่มที่วางแผนท่องเที่ยวผ่าน “เอเย่นต์ทัวร์” เพราะยังไม่ใช้เทคโนโลยีมากเท่ากลุ่มที่มาจากเมืองใหญ่ จึงต้องการให้เอเยนต์ทัวร์แนะนำการท่องเที่ยว แม้ทริปท่องเที่ยวจะให้เอเย่นต์ทัวร์จัดการให้ แต่สำหรับสินค้าที่จะมาช้อปปิ้งในไทยทั้งเพื่อตัวเองและซื้อฝาก กลุ่มนี้จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลมาล่วงหน้าเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับความนิยมและ “ต้องซื้อ”
ปัจจุบันสินค้าในไทยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจีนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมจากต่างประเทศที่เปิดช็อปในไทย เพราะนักท่องเที่ยวจีนเชื่อมั่นว่าเป็น “ของจริง” รวมทั้งสินค้าที่ผลิตในไทยในกลุ่ม FMCG ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร สแน็ก
ดังนั้นการสื่อสารและการทำตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด จะต้องทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยดูจากพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่มที่แบรนด์ต้องการเข้าถึง ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แบรนด์เป็นตัวเลือกของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีอีกจำนวนมากที่ต้องการมาไทย.