ในอดีตการที่โลคัลแบรนด์ หรือแบรนด์ที่ถือกำเนิดในไทย จะก้าวขึ้นมาเอาชนะบรรดาแบรนด์จากนอก หรือ Interbrand ที่เข้ามาบุกตลาดในไทยคงเป็นเรื่องยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้
อินเตอร์แบรนด์เหล่านี้ มีทั้งความพร้อมในเรื่องเงินทุน ประสบการณ์ เคยทำตลาดมาในหลายประเทศ มีข้อมูลลูกค้า มีโนว์ฮาวที่เคยทำมาก่อน โอกาสที่โลคัลแบรนด์จะทาบรัศมีแทบมองไม่เห็นทาง
9 แบรนด์ไทย ที่คัดเลือกมานำเสนอในฉบับนี้ จะเป็นกรณีศึกษาของแบรนด์ไทยแท้ๆ ที่ไล่ล่าความสำเร็จ ช่วงชิงชัยชนะจากคู่แข่งที่เป็นแบรนด์นอกมาได้ จนแบรนด์นอกต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อสู้รบกับโลคัลแบรนด์ทุกรูปแบบ
จนกระทั่งมีนักการตลาดบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดไทยถือเป็นตลาดเซียน หลายแบรนด์ที่เคยสำเร็จในหลายประเทศมาแล้วทั่วโลก กลับต้องมาตกม้าตายกับตลาดไทย มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ
คำกล่าวนี้จะจริงเท็จเพียงใด ติดตามได้สกู๊ปปกฉบับนี้
และถ้าจะให้ดี ต้องถามลูกค้าโออิชิ จิบกาแฟในร้านทรูคอฟฟี่ แปรงฟันด้วยยาสีฟันสมุนไพรดอกบัวคู่ ดื่มน้ำสิงห์
เช่นเคย พบกับ Feature เกาะกระแสธุรกิจการตลาด ในคอลัมน์ Insight ฉบับนี้ มาพบกับ การถอดรหัสว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ กล้องโลโม กล้องเก่าแก่จากรัสเซีย ที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม สามารถกลับมาสร้างความนิยมในหมู่วัยรุ่น และทำให้ตลาดฟิล์มไม่สูญสลายไปอย่างที่คาดไว้ แถมยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ให้กับหลายแบรนด์นำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ผ่านวัยรุ่น
พบกับ การเจาะลึก การสร้างแบรนด์ผ่าน อีเวนต์ “วิ่งคบเพลิงโอลิมปิก” ของไทย ที่จะส่งต่อไปยังประเทศจีน เจ้าภาพโอลิมปิกฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ครั้งใหญ่ ประจำปีนี้ ที่เราเคยโฟกัส Trend นี้ไว้แล้ว ในฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา
คอลัมน์ @work ฉบับนี้ ไปพบกับ 4 หนุ่มไทยโกอินเตอร์ สามารถเข้าทำงานต่างประเทศ อยู่ในองค์กรระดับโลก กูเกิล ยาฮู โอกีวี และเอไอจี แต่กว่าจะมีวันนี้ พวกเขาต้องฝ่าด่านอรหันต์ ต้องศึกษา
เป็นที่น่ายินดีที่สกู๊ปปก “จุดเปลี่ยนทีวีไทย” ฉบับเดือนเมษายน ที่นำเสนอไป กลายเป็นประเด็นร้อนได้รับความสนใจของคนอ่าน หลายคนบ่นว่าหาซื้อไม่ทัน โดยเฉพาะแวดวงสื่อ มีเดียเอเยนซี่ เจ้าของสินค้า ที่ต่างหาซื้อไว้เพื่อศึกษาหาความรู้
เพราะกฎหมายที่เปิดให้เคเบิลทีวีสามารถโฆษณาได้ ไม่เพียงแต่จะมีผู้เล่นใหม่ๆ ในตลาดทีวีดาวเทียม และยังส่งผลให้ฟรีทีวีทั้ง 6 ช่องต้องปรับตัวขนานใหญ่ ส่วนโฉมหน้าใหม่จะเป็นเช่นใด คงต้องติดตามตอนต่อไป