วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 27 – 31 พฤษภาคม 2562
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 24 พฤษภาคม) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มยืดเยื้อ และถูกเชื่อมโยงกับประเด็นสงครามด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้ตตลาดหุ้นทั้งโลกปรับลดลง ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดีย ขณะที่ นักลงทุนกังวลผลกระตบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลงและราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน ปรับลดลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น หลังมีรายงานว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ กำลังพิจารณาที่จะขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ของจีน 5 ราย ในข้อหากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อสั่งห้ามซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯ ทำธุรกิจด้วย แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่งยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทของสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจกับบริษัท หัวเว่ยชั่วคราว ถึงวันที่ 19 ส.ค.นี้ ก็ตาม
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบ โดยถูกดันจากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความไม่แน่นอนประเด็นการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ไม่ได้รับผลกระทบจากการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของนาง เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เท่าใดนัก
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดลบ นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยืดเยื้อ และเทขายหุ้นบริษัทผู้จัดหาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ตัดสัมพันธ์กับบริษัท หัวเว่ย ตามคำสั่งห้ามของสหรัฐ
ตลาดหุ้นอินเดีย ปิดเพิ่มขึ้นมาก สวนทางตลาดหุ้นอื่น หลังพรรค ภราติยะ ชนตะ ของ นายนเรนทรา โมดี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเป็นสมัยที่ 2
ตลาดหุ้นไทย ปิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้รับปัจจัยบวกจากการปรับพอร์ตของ MSCI ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า ทำให้มีเม็ดเงินของ นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังถูกกดดันจากปัจจัยการเมืองในประเทศ
ตลาดน้ำมัน ปิดลดลง อยู่ต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน นักลงทุนกังวลความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจยืดเยื้อ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
ตลาดทองคำ ปิดบวก โดย นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง จากความกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยหนุนทองคำ
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
-
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มยืดเยื้อ โดย 1 มิ.ย.นี้ จีนจะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ขณะที่ ประธานาธิบดี ทรัมป์ ระบุว่า จะนำเรื่องข้อพิพาทกรณี บริษัท หัวเว่ย ที่เขามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ มาผูกเข้ากับข้อตกลงที่จะแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ-จีน ถึงแม้ว่า เขาจะกล่าวว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะจบลงอย่างรวดเร็ว โดยจะพบกับ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประเทศญี่ปุ่น 28-29 มิ.ย.นี้ ก็ตาม
-
ติดตามประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่อาจสร้างความกังวลให้กับ นักลงทุนมากขึ้น เนื่องจาก มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นที่จะเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง (No deal) หลังนางเทเรซา เมย์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (มีผล 7 มิ.ย.) ทำให้คาดว่า นายบอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จะเป็นตัวเต็งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนต่อไป ซึ่งเขามีจุดยืนสนับสนุน No deal Brexit และสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจาก EU ภายใน 31 ต.ค.นี้ ขณะที่ EU ได้เน้นย้ำว่า จะไม่มีการเจรจาซ้ำอีก
-
การเลือกตั้งสภายุโรปได้สิ้นสุดลงเมื่อ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า พรรคการเมืองที่เน้นประชานิยม และไม่สนับสนุนการรวมตัวของ EU จะได้รับที่นั่งในสภามากขึ้น
-
ประเด็นการเมืองในประเทศมีความชัดเจนขึ้น หลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ได้ลงมติให้ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ด้านนักลงทุน รอดูการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพทางการเมือง
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยกดดันจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยสงครามการค้า (Trade War) ถูกเชื่อมโยงกับสงครามด้านเทคโนโลยี (Tech War) ทำให้ นักลงทุนกังวลว่า ข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดย นักลงทุนรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งของสหรัฐฯ และ จีนในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าต่อไป นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อประเด็น Brexit ที่มีโอกาสมากขึ้นที่จะ “ไม่มีข้อตกลง” ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากความชัดเจนทางการเมืองที่มากขึ้น ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
|
วิเคราะห์โดย: SCB CIO Office