“แอดมินเพจ” ต้องรู้! ปกป้องเพจให้ปลอดภัยด้วยเคล็ดลับจาก Facebook

ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 2.38 พันล้านคนต่อเดือน ทำให้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มีความสำคัญต่อธุรกิจในระดับท้องถิ่นทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และยังช่วยสร้างชุมชนที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความสนใจและประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย

การใช้งานเพจ Facebook ทำให้ธุรกิจ ครีเอเตอร์ และชุมชนในประเทศไทยได้ไปอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อแสดงสินค้าและเป้าหมายในธุรกิจ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา

หากพิจารณาถึงความสามารถของเพจ Facebook ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้คนได้กว้างมากขึ้น การดูแลปกป้องเพจโดยผู้ดูแล (administrators) จากผู้ประสงค์ร้ายที่อาจพยายามเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาเพื่อหาผลประโยชน์ทางด้านการเงินหรือหลอกลวงลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากในประเทศไทยยังขาดความมั่นใจด้านทักษะและความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลขั้นสูงหรือในระดับเชี่ยวชาญ ถึงแม้พวกเขาจะตระหนักถึงความสำคัญของการมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลก็ตาม

Facebook มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเชื่อมต่อสำหรับทุกคน ซึ่งนั่นรวมถึงเพจต่างๆ และผู้ติดตามเพจนั้นๆ การปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานคือเป้าหมายสูงสุดของ Facebook ฟีเจอร์ นโยบาย รวมถึงเครื่องมือต่างๆ จึงมีหน้าที่ช่วยผู้คนในการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาจากการคุกคามของผู้ประสงค์ร้าย ซึ่ง Facebook แนะนำเคล็ดลับ 4 ข้อในการป้องกันเพจ Facebook จากภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ ประกอบด้วย

  1. ทำความเข้าใจบทบาทของเพจ

เพจถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้เข้าถึงและจัดการได้โดยผู้ใช้งานหลายคน ในบทบาทที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการดำเนินการของร้านค้าทั่วไป ซึ่งการบริหารจัดการบทบาทของทีมทำให้เจ้าของธุรกิจและผู้ดูแลเพจสามารถควบคุมข้อมูลที่ถูกแชร์และลดภัยคุกคามต่อเพจได้ หากบัญชีส่วนตัวที่เชื่อมต่อกับเพจไม่ปลอดภัย

เจ้าของธุรกิจควรจะลงทะเบียนเป็นผู้ดูแลเพจ Facebook ของพวกเขาเสมอ เพื่อควบคุมความสามารถในการเข้าถึงเพจ นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังสามารถกำหนดบทบาทของผู้อื่นได้ โดยพิจารณาจากระดับที่จำเป็นในการเข้าถึงเพจ เพื่อจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทในการจัดการเพจ

ผู้ดูแล (admin)

ผู้แก้ไข (editor)

ผู้ควบคุม (moderator)

ผู้ลงโฆษณา (advertiser)

นักวิเคราะห์ (analyst)

จัดการบทบาทและการตั้งค่าของเพจ

แก้ไขเพจและเพิ่มแอพ

สร้างและลบโพสต์ในนามของเพจ

สามารถใช้งานแบบไลฟ์ในนามของเพจผ่านโทรศัพท์มือถือ

ส่งข้อความในนามของเพจ

ตอบกลับและลบความคิดเห็นและโพสต์ในเพจ

ลบและแบนบุคคลออกจากเพจ

สร้างโฆษณา การโปรโมท หรือโพสต์ที่โปรโมท

ดูข้อมูลเชิงลึก

ดูว่าใครเผยแพร่ในฐานะเพจ

  1. ปกป้องบัญชีผู้ใช้ส่วนตัว

ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจถึงความสำคัญของการปกป้องรายละเอียดต่างๆ บนช่องทางออนไลน์ แต่ก็ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้กับบัญชีผู้ใช้ โดยผลการศึกษา YouGov ที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ร้อยละ 28 ของผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศไทยยอมรับว่าพวกเขาแบ่งปันรหัสผ่านกับผู้อื่น และร้อยละ 19 คิดว่ารหัสผ่านของพวกเขาไม่ปลอดภัย

เนื่องจากเพจ Facebook ถูกเชื่อมต่อกับบัญชีผู้ใช้ส่วนบุคคล ดังนั้น ผู้ที่เชื่อมต่อกับเพจทุกคนควรใช้ประโยชน์จากมาตรฐานความปลอดภัยและตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (two-factor authentication หรือ 2FA) เพื่อปกป้องบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาจากการถูกขโมยข้อมูลโดยผู้ประสงค์ร้าย ซึ่งแม้ว่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องบัญชีผู้ใช้งานในระดับสูง แต่ผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ และมีเพียงผู้ใช้จำนวนร้อยละ 30 ที่สามารถอธิบายวิธีการทำงานของการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นได้อย่างถูกต้อง

  1. รู้จักและหลีกเลี่ยงการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง

หนึ่งในวิธีการที่ผู้ประสงค์ร้ายใช้บ่อยและได้ผลมากที่สุดคือการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบการปลอมแปลงการเข้าสู่ระบบของ Facebook ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพื่อยึดรายละเอียดในการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของคุณ โดยผลการศึกษา YouGov ระบุว่าร้อยละ 17 ของผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยไม่รู้จักการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง

ในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง ผู้ใช้ Facebook ควรหลีกเลี่ยงตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก ระวังซอฟท์แวร์อันตรายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล (เรียนรู้สัญญาณที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์กำลังได้รับอันตราย และวิธีการลบซอฟท์แวร์ที่เป็นอันตรายได้ทาง Facebook Help Center) และผู้ใช้ไม่ควรคลิกลิงค์ที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่ามันดูเหมือนจะถูกส่งมาจากเพื่อนของคุณหรือบริษัทที่รู้จัก นอกจากนี้ Facebook จะไม่มีวันถามรหัสผ่านของคุณผ่านอีเมล์โดยเด็ดขาด และคุณควรรายงานลิงค์บน Facebook ที่ไม่น่าไว้วางใจด้วย

  1. ตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำ

เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพ ผู้ดูแลเพจ Facebook ควรวิเคราะห์ความปลอดภัยของเพจอย่างสม่ำเสมอ

ในการรักษาความปลอดภัยให้กับเพจ Facebook ผู้ดูแลสามารถใช้ฟีเจอร์การตรวจสอบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อตรวจสอบกิจกรรมและความปลอดภัยโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ รวมถึงเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบประวัติการเข้าสู่ระบบเพื่อตามหาการเข้าสู่ระบบที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอพและเกมที่ถูกติดตั้ง ลบสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจออกไป และตรวจสอบบันทึกกิจกรรมทั้งหมด

ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงเพจ Facebook และเชื่อว่าบัญชีผู้ใช้ถูกแฮ็ค กรุณาเยี่ยมชม Facebook Help Center เพื่อส่งคำขอในการขอความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเยี่ยมชม Safety Center เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบาย เครื่องมือ และข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ของ Facebook ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับแพลตฟอร์มเพื่อผู้ใช้ทุกคนได้ที่ https://www.facebook.com/safety/