วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 8 -12 กรกฎาคม 2562
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 – 5 ก.ค.) ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังนักลงทุนคลายความกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ ตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่ลดช่วงบวกลง หลังสหรัฐฯกำลังพิจารณาคำขอของบริษัทสหรัฐฯ ที่จะส่งออกสินค้าแก่ บริษัท หัวเว่ย ตามนโยบาย “สันนิษฐานให้ปฏิเสธไว้ก่อน” ด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ปิดลบ แม้ว่ากลุ่มโอเปก และนอกโอเปกจะบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน ก็ตาม และราคาทองคำ ปรับลดลง เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก เนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และ จากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดขาดดุลการค้า และดัชนีภาคบริการอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯลดช่วงบวกลง จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่แข็งแกร่งเกินคาด ได้ทำลายความหวังต่อการปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ค.นี้ลง
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก เนื่องจาก นักลงทุนเชื่อมั่นว่า นางคริสติน ลาการ์ด ว่าที่ประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่ จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป และ อิตาลีสามารถหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษทางวินัยของสหภาพยุโรปได้
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวก นักลงทุนกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง หลังสหรัฐฯ และจีนสามารถทำข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาททางการค้า และจากเงินเยนที่อ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลง หลังนักลงทุนเทขายทำกำไร
ตลาดหุ้นจีน (A-Shares) ปิดบวก หลังนักลงทุนคลายความกังวลข้อพิพาทการค้าสหรัฐฯ-จีน อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลง หลังทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคำขอของบริษัทสหรัฐฯที่จะส่งออกสินค้าแก่บริษัท หัวเว่ย ตามนโยบาย“สันนิษฐานให้ปฏิเสธไว้ก่อน” ทำให้มีแนวโน้มถูกปฏิเสธมากกว่าอนุมัติ
ตลาดหุ้นไทย ปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจาก นักลงทุนยังรอดูผลการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะประกาศนโยบายเศรษฐกิจในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ รวมทั้ง นักลงทุนรอดูการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2562 ที่ใกล้จะเริ่มขึ้น
ตลาดน้ำมัน ปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน แม้กลุ่มโอเปก และนอกโอเปกจะสามารถบรรลุข้อตกลง ในการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปอีก 9 เดือนก็ตาม
ตลาดทองคำ ปิดลบ นักลงทุนขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐฯ-จีนจะกลับมาเจรจาการค้าอีกครั้ง และเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
- นักลงทุนจับตาการส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ Fed ผ่านทางรายงานการประชุม Fed เดือน มิ.ย. และการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของ นายเจอโรม พาวเวล ประธาน Fed ต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการธนาคาร การเคหะ และกิจการเมือง ในวันที่ 10-11 ก.ค.นี้ ซึ่งเราคาดว่า ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จะช่วยสนับสนุนการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีความกังวลว่า Fed อาจจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมในเดือน ก.ค.นี้ หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
- การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในสัปดาห์นี้ โดยจะเป็นการเจรจาการค้าทางโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย แต่การเจรจาแบบเผชิญหน้ากันยังไม่มีกำหนด ทั้งนี้ เราคาดว่า ผลการเจรจามีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดยืนที่แตกต่างกันในหลายประเด็น
- ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น หลังอิหร่านจะผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะเกินกว่า 3.67% ซึ่งเป็นเพดานตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ทั้งนี้ ผู้นำอิหร่าน และฝรั่งเศส จะหารือร่วมกันเพื่อลดความตึงเครียดนี้ ภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น โดยนักลงทุนให้น้ำหนักต่อการเปิดเผยรายงานการประชุมของ Fed และการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของประธาน Fed เพื่อบ่งชี้ถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ค.นี้ และจะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้รวม 3 ครั้ง ดังนั้น หากการส่งสัญญาณของ Fed เรื่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ นักลงทุนคาดการณ์ไว้ อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรในตลาดหุ้นที่มีการปรับเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ต้นปี และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการเจรจาการค้าในระดับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และจีน ยังถือว่ามีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจีนจะกำลังพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการจากสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด และเนื้อหมู แต่ก็มีเงื่อนไขที่ต้องขึ้นกับพัฒนาการของการเจรจาการค้าครั้งใหม่นี้ด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันในหลายประเด็น ส่งผลให้การเจรจาทางการค้ามีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ด้านราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จาก สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
|
วิเคราะห์โดย: SCB CIO Office