Circular Living Symposium 2019 สร้างพันธมิตรดันศก.หมุนเวียนเปลี่ยนโลก


”ขยะพลาสติก” มุมมองของคนทั่วโลกเป็นเพียงสิ่งไร้ค่า สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศ วันนี้ได้ถูกแปรเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมแปรสภาพขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งขว้างมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า สร้างเทรนด์แฟชั่นใหม่ให้เกิดขึ้นรวมถึงก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดย พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตร่วมกับ National Geographic สื่อระดับโลกที่ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

เวทีแห่งนี้ได้รวบรวมผู้นำทางความคิดและนวัตกรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 40 ชีวิตทั้งจากไทยและต่างประเทศ จัดขึ้นเป็นสนามไอเดียเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พูดคุย แชร์ประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจ ในการต่อยอดจากแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่กำลังเป็นที่พูดถึง ให้เป็นเป็นการปฏิบัติจริงในหลากหลายธุรกิจ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าต่างประเทศนั้นมีการพัฒนาระบบจัดการขยะพลาสติกไปไกลมาก โดยเฉพาะจากการแชร์ประสบการณ์ของผู้มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ อาเธอร์ หวง ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท Miniwiz จากไต้หวันที่เป็นตัวอย่างของการนำความรู้ด้านดีไซน์มาผนวกกับนวัตกรรมแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การสร้างบ้านมาจากแผ่น CD รีไซเคิล รวมถึงอยู่ระหว่างการแปรรูปขยะพลาสติกเพื่อผลิตตัวเครื่องบิน รวมถึง ‘TrashPresso’ หรือเครื่องอัดขยะแบบพกพา สามารถรีไซเคิลขยะให้เปลี่ยนเป็นภาชนะรูปทรงต่างๆ ช่วยให้คุณสามารถรีไซเคิลขยะได้ทุกที่ ฯลฯ

ไอรีน เดซ รูซ ผู้จัดการทั่วไปมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปนผู้สร้างแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด และยังเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ “Upcycling The Oceans” ที่เก็บขยะในทะเลมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อผลิตสิ่งทอและผลิตภัณฑ์ต่างๆ คริสเตียน ลารา จากประเทศชิลีผู้ก่อตั้งและซีอีโอที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น Reciclapp แอพเรียกรถอูเบอร์ สำหรับเรียกให้ไปจัดเก็บขยะรีไซเคิลถึงที่แล้วนำไปขายต่อ ด้านนักพัฒนาระดับโลกอีกคนที่มาร่วมงานนี้คือ ลิลลี่กอล เซดาแกต นักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ผู้ชักนำให้ชุมชนทั่วโลกให้มองปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องง่ายๆ เป็นต้น

“ การจัดงาน Circular Living Symposium เพื่อจุดประกายการให้กับทุกคนได้ตระหนักรู้และได้มีความเข้าใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ Circular Economy เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีคุณค่ามากที่สุด”นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC กล่าว

เขาย้ำให้เห็นว่าปัจจุบันไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก GC จึงตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 2 เรื่องได้แก่ 1.เลิกผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือ Single Use Plastic ประการที่ 2. GC เข้าไปส่งเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับคนไทยให้รู้ถึงการใช้พลาสติกอย่างเต็มคุณค่า พลาสติกที่ใช้แล้วสามารถนำไปใช้ใหม่ได้โดยเฉพาะได้พิสูจน์ให้เห็นจากความร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เข้าไปจัดการปัญหาขยะในท้องทะเลไทยด้วยนวัตกรรม โดยการนำมาขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นคุณภาพ ภายใต้โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand

นอกจากนี้ล่าสุด GC ยังให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี และการจัดการอย่างเหมาะสมสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้ GC ได้แสวงหาพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงอย่างครบวงจร โดยจะร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุนกับบ.แอพลา กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชั้นนำของโลก เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง (รีไซเคิล) ที่เป็นพลาสติกประเภทโพลีเอสเตอร์พีอีที และโพลีเอทิลีน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนที่แสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนในการมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน ดังนั้นเวที Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet จึงหวังที่จะจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้ร่วมกันใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างไลฟ์สไตล์ลดขยะ หรือแม้แต่คิดค้นนวัตกรรมการจัดการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้หากคนไทยทุกคนไม่ลงมือปฏิบัติแนวทางที่ดีก็ไร้ความหมายเช่นกัน ดังนั้นทุกคนสามารถนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง…เพื่อเราและเพื่อโลกที่ยั่งยืน