“ปลดพนักงาน” สัญญาณแรก หายนะอุตสาหกรรมรถยนต์โลก

ว่ากันว่าในปีนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกในแง่ของภาพรวมอาจจะซบเซาอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดมีการบอกกันเลยว่า ‘หายนะกำลังจะเริ่มขึ้น’ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นข่าวการปิดโรงงาน รวมถึงการปลดคนงานของบรรดาแบรนด์รถยนต์ที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องการขาดทุนสะสมของธุรกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี 2562

ยอดขายตก-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

รายงานของ Business Insider ระบุว่า มีการประเมินภาพรวมของตลาดรถยนต์ในปี 2562 มีแนวโน้มจะลดลงถึง 3% เพราะความต้องการของลูกค้าทั่วโลกเริ่มส่อแววว่าจะลดลง และตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการปลดคนงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไปแล้วมากกว่า 38,000 คน โดยระบุสาเหตุถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ซึ่งพวกเขาเริ่มมองว่า รถยนต์ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป พวกเขามีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบใหม่ที่เรียกว่า Uber หรือ DriveNow ที่ช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น และการมีรถยนต์เริ่มเป็นภาระ

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎข้อบังคับจากภาครัฐฯ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ยังส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์อย่างบรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์แบบสันดาปภายใน หรือ I.C.E. เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนที่ลดลงและเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างเยอะ อีกทั้งในตอนนี้ จากการที่มีการควบคุมเรื่องของระดับมลพิษที่เข้มงวดขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลประสบปัญหาในเรื่องยอดขายไปแล้ว และว่ากันว่าอีกไม่นานเครื่องยนต์เบนซินก็จะเจอสถานการณ์เดียวกัน

นอกจากนั้น รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า ตลาดรถยนต์ในยุโรป ยกเว้นรัสเซีย น่าจะมียอดขายลดลงถึง 4% สำหรับปี 2562 หล่นมาอยู่ที่ 15.06 ล้านคัน ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงถึง 3% มาอยู่ที่ 16.8 ล้านคัน

ปลดพนักงาน วิกฤตอุตสาหกรรมรถ

สิ่งที่ตามมา คือ เรื่องของการปลดคนงานที่ว่ากันว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ในระดับที่รุนแรงมาก ด้วยตัวเลข 19,802 คน มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 207% ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 6,451 คน และถือเป็นการปลดคนงานในระดับรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา นับจากปี 2552 ซึ่งในปีนั้นเป็นปีที่จีเอ็มและไครสเลอร์ประสบมรสุมล้มละลาย และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีการปลดคนงานไปทั้งสิ้น 101,306 คน

เหตุผลของการลดคนงานนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากแนวโน้มของยอดขายที่ลดลง และการปรับกระบวนการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการหดตัวด้านเศรษฐกิจ และวิธีที่ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุดในการรัดเข็มขัดตัวเอง คือ การปลดคนงาน

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฟอร์ด มอเตอร์ ได้ประกาศออกมาแล้วว่า ในปีนี้พวกเขาจะลดคนที่เป็นพนักงานกินเงินเดือนทั่วโลกจำนวน 10% จากที่มีอยู่ทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมากถึง 7,000 อัตรา และเรื่องนี้เกิดขึ้นเพียง 7 และ 5 วันตามลำดับนับ จากที่ฮอนด้าประกาศปิดโรงงานในอังกฤษ ในปี 2564 พร้อมเลิกจ้างคนงานจำนวน 3,500 คน เพราะนโยบาย Brexit ของรัฐบาลอังกฤษ และนิสสัน ประกาศลดคนงาน จำนวน 4,500 คน หลังบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการลดลงมากที่สุดนับจากปี 2555 เพราะ 2 ปัจจัยคือ ผลิตภัณฑ์ในตลาดไม่มีของใหม่ๆ ที่เร้าใจ และยอดขายในตลาดใหญ่อย่างสหรัฐลดลง โดยก่อนหน้านี้ นิสสันเลิกจ้างคนงาน จำนวน 700 คน ในโรงงานประกอบปิกอัพและรถตู้ที่โรงงานในมลรัฐมิสซิสซิปปี้ไปเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์ของฟอร์ดในช่วงนี้ อาจจะดูหนักกว่าใครเพื่อน ก่อนหน้านี้ สำนักงานใหญ่ในแต่ละประเทศ ก็มีการประกาศปรับลดพนักงานกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งฟอร์ดในจีน ที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับจีน ที่มีการลดแรงงานมากกว่า 1,000 คน จากที่มีอยู่ 20,000 คน ตามด้วยการลดคนงานในเยอรมนี จำนวน 5,000 คน และในอังกฤษด้วย ซึ่งยังไม่มีการยืนยันตัวเลขออกมาอย่างชัดเจน

หลังจากที่จีเอ็มประกาศปลดคนงานล็อตใหญ่ ในช่วงปลายปี 2561 มากถึง 14,000 คนนั้น ดูเหมือนว่า จะมีบริษัทรถยนต์หลายแบรนด์ทยอยปล่อยข่าวออกมา ไม่ว่าจะเป็น ออดี้ JAL หรือ จากัวร์ และแลนด์โรเวอร์

ตลาดไทย ฟอร์ด- เชฟโรเลต โดนหางเลข

จากปัจจัยดังกล่าวข้าวต้น ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด ฟอร์ด มอเตอร์ ได้แบ่งหน่วยธุรกิจในตลาดเอเชียแปซิฟิกใหม่ โดยแบ่งเป็นตลาดจีน กับตลาดนานาชาติ ซึ่งในไทยถูกควบรวมอยู่ในกลุ่มตลาดนานาชาติ ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยการโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ พร้อมมีการปรับลดพนักงานในส่วนของสำนักงานและโรงงานผลิต เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับโครงสร้างขององค์กรทั่วโลก

ขณะที่เชฟโรเลต แม้ไม่มีการปรับลดพนักงานอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีกระแสข่าววงในว่า มีการปรับโครงสร้างและลดกำลังคน โดยหน่วยงานใดมีพนักงานลาออก เชฟโรเลตจะไม่มีการรับพนักงานใหม่เพิ่ม แต่จะใช้วิธีโอนหรือกระจายงานให้แก่พนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบันทำแทน พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายสมัครใจลาออกโดยได้รับเงินชดเชยอีกด้วย

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีกระแสข่าวว่า นิสสัน อาจจะมีการปรับลดพนักงาน แต่จะเป็นช่วงไหนก็ต้องมาตามลุ้นกันดู เพราะบริษัทแม่ นิสสัน มอเตอร์ แถลงข่าวและประกาศว่า ในปี 2565 มีแผนปลดพนักงานมากกว่า 12,500 ตำแหน่งทั่วโลก และจะปิดโรงงานหรือลดกำลังการผลิตรถยนต์ในโรงงาน 14 แห่ง

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในไทย แม้จะไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเหมือนกับต่างประเทศ แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะทั้งฟอร์ดและเชฟโรเลต ต่างได้รับผลพวงจากกรณีนี้ไปทั้งคู่ ส่วนค่ายอื่นๆ แม้จะยังไม่มีมาตรการปลดพนักงาน แต่ทุกค่ายต่างรัดเข็มขัดกันอย่างเหนียวแน่น

งานนี้ต้องดูต่อไปว่า วิกฤตนี้จะแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่

Source