ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอปเปิล (Apple) แสดงจุดยืนยอมรับเทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัล จนสามารถเปิดตัวบริการแอปเปิลเพย์ (Apple Pay) ได้ครั้งแรกในปี 2014 และล่าสุดได้เปิดตัวบัตรเครดิตแอปเปิลการ์ด (Apple Card) เรียบร้อยในสหรัฐอเมริกา เบื้องต้นสื่ออเมริกันมองว่า Apple ไม่เพียงแค่มองหาเทคโนโลยีการชำระเงินที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ก็คอยจับตาดูเทคโนโลยีที่อาจกลายเป็นกระแสหลักในอนาคตด้วยเช่นกัน
ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ระบุว่าเจนนิเฟอร์ เบลีย์ (Jennifer Bailey) รองประธานหน่วยธุรกิจ Apple Pay เปิดเผยในงานอีเวนต์ส่วนตัวที่จัดทำโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า Apple กำลังจับตาดูโอกาสในตลาดเงินสกุลดิจิทัลหรือคริปโตฯ (cryptocurrency) ด้วยความสนใจ
ผู้บริหาร Apple ยอมรับว่าเงินคริปโตฯ มีความน่าสนใจ ทำให้บริษัทมองว่าเป็นสกุลเงินที่มีศักยภาพในระยะยาวที่มีนัยยะสำคัญ แต่เพราะ Apple มุ่งเน้นโฟกัสกับสิ่งที่ผู้บริโภคใช้งานเป็นหลักในปัจจุบัน
ความเห็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับ Apple ที่ไม่เคยประกาศโครงการ cryptocurrency ใดมาก่อน ดังนั้นเมื่อหัวหน้าทีม Apple Pay ออกมากล่าวว่าบริษัทกำลังสนใจสกุลเงินเสมือน จึงเป็นสิ่งกระตุ้นให้ฝ่ายสนับสนุนมองว่าเงินคริปโตฯ อาจจะเป็นกระแสหลักที่นิยมใช้งานในวันใดวันหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร Apple ก็ดับฝันทุกคนด้วยการขอให้อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นบริการ cryptocurrency จาก Apple ในเร็ววันนี้
แม้จะประกาศเช่นนี้ แต่ Bailey กล่าวเพิ่มว่าเงิน cryptocurrency และระบบ QR Code อาจกลายเป็นทางเลือกที่จะมาแทนบัตรเครดิตในอนาคต เนื่องจากหากดูที่โซลูชันการชำระเงินด้วย QR Code และหากมองที่ศักยภาพของ cryptocurrency ในระยะยาว เชื่อว่านักสังเกตการณ์ทุกคนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมใน 2 วงการนี้เมื่อเวลาผ่านไป
ปัจจุบัน สื่อมวลชนประเมินว่า Apple ไม่แสดงท่าทีสนับสนุน cryptocurrency แบบออกนอกหน้า และไม่อนุญาตให้มีแอปพลิเคชันกลุ่มเครื่องมือขุดเหมือง Cryptocurrency ในร้านแอปสโตร์ (App Store) โดยแม้จะอนุญาตให้ใช้กระเป๋าเงินคริปโตฯ แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ซื้อขายเงินคริปโตฯ ด้วย Apple Card
สำหรับ cryptocurrency นั้นเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) เข้ามาดูแลโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ไม่ระบุชื่อทางอินเทอร์เน็ต เงิน cryptocurrency จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลใดหรือธนาคารกลางใดโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงไม่มีใครรับผิดชอบในการสนับสนุนมูลค่าของเงิน cryptocurrency ในมุมของบริษัทรายใหญ่ บริษัทที่สนใจสามารถเปิดเหรียญของตัวเองเพื่อนำไปใช้บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้ เหมือนเฟซบุ๊กที่เปิดตัวเงิน Libra จนเป็นข่าวดัง
อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ดีว่า cryptocurrencies นั้นมีความผันผวนอย่างมาก ค่าของสกุลเงินดิจิทัลสามารถพุ่งทยานสูงกระฉูดใน 1 วันก่อนจะลดฮวบลงไปอย่างไม่คาดฝัน และการใช้งานยังกระจุกตัว มีการประเมินว่าผู้ใช้เงิน cryptocurrencies มีเพียงประมาณ 30 ล้านรายทั่วโลกเท่านั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2019.