กรมประมง ร่วมกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดพิธี “ส่งมอบปะการังเทียม ภายใต้ความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และฟื้นฟูการประมงชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน” โดยมี นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง พลเรือตรีภูมิพันธ์ นิลกำแหง ผู้แทนจากทัพเรือภาคที่ ๒ กองทัพเรือ นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายเรวัตร คงประดิษฐ์ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมกันส่งมอบและจัดวางปะการังเทียมจำนวน 1,000 แท่งให้กับชุมชน อ.ระโนด จ.สงขลา และอ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อฟื้นฟูและสร้างระบบนิเวศทางทะเลให้สมบูรณ์มากขึ้น การจัดวางปะการังเทียมจะเป็นการสร้างที่อยู่ ที่หลบภัยและที่เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนมากขึ้น และชาวประมงสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ ทั้งนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน” จากการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ได้แก่ นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และ รศ.เริงชัย ตันสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรศาตร์และทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แก่ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายสุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารและส่งเสริมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และนายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพีออลล์ ณ สวนป่าทักษิณ อ.ระโนด จ.สงขลา
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การจัดวางปะการังเทียมครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าในระยะที่ 2 จากการลงนามความร่วมมือในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ระหว่างกรมประมง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท ทรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยครั้งนี้กรมประมงเป็นตัวแทนส่งมอบปะการังเทียมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเพื่อนำปะการังเทียมจำนวน 1,000 แท่งไปส่งมอบให้กับชุมชนชายฝั่ง อ.ระโนด จังหวัดสงขลา และอ.เมือง จ.นราธิวาส เพื่อดำเนินการต่อไป
“จากสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเล ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมากจนบางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง และทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว กรมประมงจึงได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเลโดยการจัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน ทั้งนี้ปะการังเทียมมีประโยชน์ในการใช้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ ทั้งยังเป็นการป้องกันการทำการประมงที่มีลักษณะทำลายทรัพยากร จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล รวมทั้งเป็นการพัฒนาแหล่งทำการประมงทั้งการประมงพื้นบ้านและการประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนถึงปัจจุบันกล่าวได้ว่าท้องทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นจากการจัดวางปะการังเทียม” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากวิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลของประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเลไทย จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยดำเนินการผ่านแนวคิดหลัก “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. นโยบายในการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (SD in Process) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชูการทำงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นโยบายการรับซื้อปลาป่นที่ต้องได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน การร่วมขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารทะเล เช่น Seafood Taskforce ตลอดจนนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ที่มีเจตนารมณ์ในการร่วมจัดการของเสียและขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ 2. ส่งเสริมศักยภาพชีวิตชุมชน เช่น การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดียั่งยืน ด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม และส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน 3. สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เช่น โครงการป่าชายเลน โครงการปะการังเทียม บ้านปลา แนวเขตและกติกาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน 4. การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น โครงการธนาคารสัตว์น้ำ 5. การวิจัยและพัฒนา โดยร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านทรัพยากรทางทะเลระดับประเทศ ผ่านงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรปลาทู และงานวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการทำประมงอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ล่าสุดได้ร่วมมือกับกรมประมงในการจัดวางปะการังเทียมต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 จำนวน 1,000 แท่ง ในพื้นที่ชุมชนทะเลชายฝั่ง อ.ระโนด จังหวัดสงขลา และอ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมุ่งหวังให้ท้องทะเลภาคใต้ของไทยฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ พี่น้องชาวชุมชนมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถือเป็นพัฒนาการอีกหนึ่งก้าวของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาความยั่งยืนสู่ท้องทะเลไทย
ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ศึกษาวิจัยติดตามผลการดำเนินงานในโครงการจัดวางปะการังเทียม ภายใต้ความร่วมมือกับกรมประมงตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งภาคตะวันออกอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบว่าผลการดำเนินงานในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 นั้น การวางปะการังเทียมทั้งหมดไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อท้องทะเลบริเวณดังกล่าวทั้งทางเคมีและทางกายภาพ แต่ยังพบว่าท้องทะเลบริเวณดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น สำรวจพบว่ามีปลามากถึง 35 ชนิด และจำแนกเป็นปลาเศรษฐกิจมากถึง 22 ชนิดและปลาสวยงามอีก 8 ชนิด ทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งในบริเวณดังกล่าวสามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น
“ในปีนี้เครือซีพีได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการขยายพื้นที่วางปะการังเทียมเพิ่มขึ้นเป็นระยะที่ 2 จำนวน 1,000 แท่ง ให้กับพื้นที่ชุมชน อ.ระโนด จังหวัดสงขลา 500 แท่ง และอ.เมือง จ.นราธิวาส 500 แท่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทางระบบนิเวศในการสร้างปะการังเทียม จนถึงปัจจุบันเครือซีพีได้จัดวางปะการังเทียมในทะเลไทยรวมทั้งสิ้น 2,000 แท่ง ทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากทะเลได้อย่างยั่งยืนสามารถสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายศุภชัย กล่าว
นอกเหนือจากนี้ บริษัทในเครือฯ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีออลล์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย ได้ผนึกกำลังร่วมกับเครือซีพีซึ่งเป็นบริษัทแม่ในการเดินหน้าอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ที่ซีพีเอฟได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันสามารถร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนได้จำนวน 2,388 ไร่ ใน 5 พื้นที่ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดชุมพร จังหวัดสงขลา และจังหวัดพังงา ด้านบมจ.ซีพีออลล์ ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกตามเกาะต่าง ๆ ในทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ได้แก่ เกาะลันตา เกาะยาวน้อย เกาะหลีเป๊ะ เกาะเต่า เกาะเสม็ด เป็นต้น
ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี กล่าวในที่สุดว่า เครือซีพีมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” ด้วยการผนึกกำลังบริษัทต่าง ๆ ในเครือฯ นำความรู้และความสามารถ ตลอดจนทักษะ และประสบการณ์ รวมไปถึงการสร้างเครือข่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาใหม่ๆที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือซีพี ที่มุ่งมั่นจะสร้างธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยยึดมั่นความกตัญญูทั้งต่อประเทศชาติ สังคมและบริษัท ตามหลักค่านิยม “3 ประโยชน์”