บริษัทอังกฤษซุ่มพัฒนาเครื่องยนต์จรวดไฮเปอร์โซนิก ลดเวลาบินจาก “ลอนดอนสู่ซิดนีย์” เหลือ 4 ชั่วโมง

Photo : Reaction Engines

ระยะเวลาการบินจาก “ลอนดอนสู่ซิดนีย์” อาจสั้นลงถึง 80% ภายในยุคทศวรรษ 2030 หากเครื่องยนต์จรวดไฮเปอร์โซนิคที่กำลังพัฒนาอยู่ในอังกฤษ ณ เวลานี้ ประสบผลความสำเร็จ ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น

สำนักงานอวกาศแห่งสหราชอาณาจักรแถลงภายในงาน UK Space Conference 2019 เมื่อวันอังคาร 24 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจะทำงานใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับสำนักงานอวกาศของออสเตรเลีย ในข้อตกลงหนึ่งซึ่งได้รับการขนานนามว่า สะพานอวกาศฉบับแรกของโลก และดูเหมือนว่าเครื่องยนต์จรวด SABRE (Synergetic Air-Breathing Rocket Engine) จากเครื่องยนต์ปฏิกิริยา (Reaction Engine) ที่พัฒนาโดยบริษัท Reaction Engines ในอ็อกฟอร์ด จะเป็นอัญมณีล้ำค่าในโครงการใหม่ดังกล่าว

“เมื่อเราประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์จรวด SABRE บางทีเราอาจสามารถเดินทางไปยังออสเตรเลีย โดยใช้เวลาเล็กน้อยเพียงแค่ 4 ชั่วโมง นี่คือเทคโนโลยีที่สามารถก่อให้เกิดสิ่งนั้นได้อย่างแน่นอน เรากำลังพูดถึงการให้บริการได้ในช่วงทศวรรษ 2030 และการทำงานในเรื่องนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก” เกรแฮม เทอร์น็อค ผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งสหราชอาณาจักรกล่าว

เหล่าแฟนๆ ของเที่ยวบินซูเปอร์โซนิก ต่างโหยหากันมานานเกี่ยวกับแนวทางใหม่ในการฟันฝ่าอุปสรรคด้านเสียง นับตั้งแต่เครื่องบินคอนคอร์ดหยุดบินให้บริการในปี 2003

ในเดือนเม.ย. 2019 Reaction Engines แถลงว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบตัวทำความเย็นล่วงหน้า โดยจำลองสถาพแวดล้อมต่างๆ ณ ความเร็ว 3.3 มัค หรือมากกว่าความเร็วเสียง 3 เท่า

ระดับดังกล่าวถือว่าเร็วกว่าความเร็วปกติ (cruising speed) ของเครื่องบินคอนคอร์ดกว่า 50% นั่นทำให้การเดินทางจากนิวยอร์กสู่ปารีสจะใช้เวลาเพียง 3.5 ชั่วโมง และเทียบเท่ากับความเร็วสูงสุดที่เครื่องบินลำหนึ่งเคยจารึกสถิติเอาไว้ นั่นคือก็คือล็อคฮีด SR-71 แบล็คเบิร์ด

Photo : Reaction Engines

การทดสอบตัวทำความเย็นล่วงหน้า มีขึ้นที่โรงทดสอบในสนามบินโคโลราโดแอร์และสเปซพอร์ตในสหรัฐฯ ทั้งนี้ด้วยความเร็วสูงเช่นนี้ อุณหภูมิของอากาศที่ไหลผ่านเครื่องยนต์อาจพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งมันอาจก่อความเสียหายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีตัวทำความเย็นล่วงหน้าเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของแก๊สก่อนที่พวกมันจะไหลเข้าสู่แกนของเครื่องยนต์

ผลการทดสอบเมื่อเร็วๆ นี้พิสูจน์แล้วว่าตัวทำความเย็นล่วงหน้าสามารถลดอุณหูมิของแก๊สจากระดับ 1,000 องศาเซลเซียส ลงสู่อุณหภูมิแวดล้อมภายในเวลาไม่ถึงเศษ 1 ส่วน 20 ของวินาที ถ้อยแถลงของ Reaction Engines ระบุ

นี่คือความสำเร็จครั้งใหญ่ที่ได้เห็นเทคโนโลยีตัวทำความเย็นล่วงหน้าภายใต้กรรมสิทธิ์ของ Reaction Engines ประสบความสำเร็จในผลงานการถ่ายโอนความร้อนที่ไม่มีใครเทียบได้

มาร์ค โธมัส ซีอีโอของ Reaction Engines ระบุ

หัวข้อการทดสอบ HTX (ตัวทำความเย็นล่วงหน้า) ทำได้ตามเป้าหมายการทดสอบทั้งหมด และความสำเร็จของการทดสอบในเบื้องต้นตอกย้ำว่าตัวทำความเย็นล่วงหน้ามีศักยภาพด้านการถ่ายโอนความร้อนระดับแนวหน้าของโลก ทั้งยังมีน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัด

โธมัส ย้ำว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้ในการบินพลังงานไฟฟ้าไฮบริดเช่นเดียวกับเที่ยวบินที่มีความเร็วสูงมากๆ

เครื่องยนต์จรวด SABRE ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำความเร็วแตะระดับเหนือกว่า 5 มัคในชั้นบรรยากาศโลก และพอนำมาใส่ไว้ในจรวด ก็จะทำให้จรวดลูกดังกล่าวสามารถบินผ่านอวกาศด้วยความเร็วสูงสุด 25 มัค “ด้วยที่มันสูดอากาศจากชั้นบรรยากาศ ทำให้มันประหยัดพลังงานกว่าและมีน้ำหนักเบากว่าเครื่องยนต์จรวดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งยังจำเป็นต้องบรรทุกตัวป้อนออกซิเจนของตนเอง”

“ประเด็นหลักของ SABRE ก็คือมันเหมือนเป็นไฮบริดของเครื่องยนต์จรวดและเครื่องยนต์อากาศ จรวดจึงสูดอากาศเข้าไปได้” ฌอน ดริสคอลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายโปรแกรมของ Reaction Engines บอกภายในงาน UK Space Conference 2019

ด้วยความสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้ทาง Reaction Engines ได้รับเงินทุนสนับสนุนมากกว่า 100 ล้านปอนด์ (130 ล้านดอลลาร์) ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับได้รับเงินลงทุนมาจากบริษัทต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมการบิน อย่างเช่น บีเออี ซิสเต็มส์,โรลล์สรอยซ์และโบอิ้ง โฮริซอนเอ็กซ์

ทางบริษัทกำลังอยู่ในขั้นสุดท้ายของการก่อสร้างโรงทดสอบในบัคกิงแฮมเชียร์ในสหราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นจุดที่ใช้สำหรับสาธิตเครื่องยนต์ SABRE บนภาคพื้นเป็นครั้งแรก.

Source